"กระบวนการคัดสรรโดยธรรมชาติของวรรณกรรม" (Natural Selection of Literature) นั่นแหละคือสรุปรวบยอดแนวคิดทางวรรณกรรมของคัลวิโน
มันหมายความว่าอย่างไร สำหรับคัลวิโน วรรณกรรมไม่ได้เกิดจากการใคร่ครวญ (ที่จะเขียน) ของนักประพันธ์ เขาชักชวนให้เราย้อนเวลากลับไปสมัยยุคถ้ำ สมัยแรกๆ ที่มนุษย์ยังเล่านิทานรอบกองไฟ ภาษาที่จำกัด และความเข้าใจต่อโลกที่จำกัด มนุษย์ถ้ำ อาจจะมีคำ (หรือภาษามือ) ที่สื่อสารความหมายแค่ไม่กี่ช้าง เช่น ช้าง เสือ หิมะ ฝน ตู สู นก ถ้ำ ทะเล กระบวนการเล่าเรื่องเกิดจากมนุษย์ถ้ำเอาสัญญะเหล่านั้นมาต่อๆ กันอย่างสุ่มมั่ว เช่น ช้างตกจากฟ้า ตูอยู่ทะเล นกกินเสือ ในขั้นแรก ประโยคเหล่านี้ไม่มี "ความหมาย" อะไรเลย เป็นแค่การเล่นสนุกของมนุษย์ถ้ำ ที่จะเอาสัญญะมาต่อๆ กัน
แต่แล้วจู่ๆ มนุษย์ถ้ำก็เริ่มสังเกตว่าชุดคำบางอย่าง มัน "ดูดี" มากกว่าชุดคำประเภทอื่น ไม่รู้ว่าด้วยเหตุใด ช้างเหยียบมด ถึงฟังแล้ว "ใช่" กว่า มดเหยียบช้าง ภาษาค่อยๆ ถูกจำกัดลงเรื่อยๆ เช่นเดียวกับเรื่องราว (หมาป่ากินคุณย่าแล้วปลอมตัวรอหนูน้อยหมวกแดง ไม่ใช่ คุณย่ากินหมาป่าแล้วปลอมตัวรอหนูน้อยหมวกแดง หรือ หนูน้อยหมวกแดงกินคุณย่า แล้วปลอมตัวรอหมาป่า) เรื่องราวเกิดมาจากการคัดสรรแล้ว จากความเป็นไปได้แบบสุ่มมั่วสิบหมื่นร้อยพัน อะไรที่ "ไม่ใช่" หรือ "ดูไม่ดี" ถูกคัดออก เช่นเดียวกับทฤษฎีวิวัฒนาการของดาร์วิน
น่าตื่นเต้น และน่าตื่นตระหนกมาก สิ่งที่คัลวิโนเชื่อกลับหัวกลับหางกับทฤษฎีวรรณกรรม ภาษาศาสตร์ทั่วไปเลย ไม่ใช่ว่าความจำเป็นก่อให้เกิดภาษา และเรื่องราว แต่ภาษาถูกสร้างขึ้นมาอย่างสุ่มมั่ว ก่อนจะถูกคัดออกไปต่างหาก ความเป็นจริง (หรือความสมจริงสมจัง) ไม่ใช่ตัวกำหนดโครงสร้าง การไหลเวียนของภาษา มองในทางตรงข้าม ภาษาต่างหากที่ควบคุมความเป็นจริงอีกชั้น จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าจู่ๆ มนุษย์ถ้ำรู้สึกว่า "ตูบินได้" มันฟังดูเข้าท่าเข้าที อำนาจของภาษามีผลอย่างไรต่อความเป็นจริง (นี่เองคือที่มาของเวทมนต์คาถา คำพูดที่ฟังดูใช่ แม้จะขัดแย้งกับความเป็นจริงก็ตาม)
No comments:
Post a Comment