W. B. Booth's "The Rhetoric of Fiction"


ถ้าใครติดตามบทวิเคราะห์วรรณกรรม จะได้ยินประโยคทำนองนี้บ่อยมาก “XXXXX คือนักหลังสมัยใหม่คนแรกสุด” โดย XXXXX นี่ไม่ใช่เจม จอยซ์ เวอจิเนีย วูลฟ์ แซมมัวเอล แบคเคต หรือนักเขียนโด่งดังที่ไหน แต่มักจะเป็นนักเขียนจากศตวรรษที่ 16 ถึง 18 ที่เราไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อน (ล่าสุดใน The New Yorker ฉบับสักเดือนพฤศจิกายนก็มีพูดว่า “มอนเตจคือนักหลังสมัยใหม่คนแรกสุด”) ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ มันมีสาเหตุอยู่ ซึ่งบูธวิเคราะห์ไว้อย่างละเอียดใน The Rhetoric of Fiction

ตั้งแต่ยุคฟลอเบิร์ด และเฮนรี เจมส์เป็นต้นมา เกิดกระแสใหม่ในแวดวงวรรณกรรม ที่มองวรรณกรรมว่าเป็นวัตถุในธรรมชาติชิ้นหนึ่ง เกิดขึ้นมาเองโดยไม่จำเป็นต้องมีผู้เขียน ดังนั้นหน้าที่สำคัญสุดของผู้เขียนก็คือละลายตัวเองหายออกไปจากหน้ากระดาษ แนวคิดนี้ได้รับอิทธิพลจากวิชาวิทยาศาสตร์ที่พยายามศึกษาธรรมชาติโดยให้ผู้สังเกตแตะต้องสิ่งที่ถูกสังเกตน้อยที่สุด ธรรมชาตินิยมในวรรณกรรมเฟื้องฟูอย่างมากช่วงต้นศตวรรษที่ 20 เพราะเป็นยุคที่ยุโรปเต็มไปด้วยสงครามและความยุ่งเหยิง มนุษย์คนหนึ่งไม่อาจรู้ดีรู้ชั่วได้อีกต่อไป หน้าที่ของนักเขียนจึงเหลือเพียงนำเสนอความจริงในธรรมชาติ โดยให้ผู้อ่านไปตัดสินถูกผิดกันเอาเอง (ลักษณะเช่นนี้จะตรงข้ามอย่างมากกับวรรณกรรมคลาสสิคยุคก่อนศตวรรษที่ 19 ไม่ว่าจะเป็นงานเขียนของฮาร์ดดี ออสติน บรองเต หรือดิกเคน คนอ่านมักได้ยินเสียงผู้เขียนมาประณามหรือชื่นชมการกระทำของตัวละครอยู่เสมอ ถ้าย้อนกลับไปศตวรรษที่ 18 อาการปะปนตรงนี้จะยิ่งแล้วใหญ่ ถึงขนาดว่าบางทีแยกไม่ออกเลยด้วยซ้ำ งานเขียนชิ้นหนึ่งเป็นเรื่องแต่งหรือบทความแสดงทัศนคติ)

เป้าหมายหลักของ The Rhetoric of Fiction คือการตอบโต้คนอย่างซาร์ต หรือสาวกฟลอเบิร์ตและเจมส์ ที่ปฏิเสธการแสดงทัศนคติของผู้เขียน บูธเชื่อว่า แม้แต่ในนิยายของจอยซ์ ฟลอเบิร์ต คาฟคา หรือเจมส์เอง คนอ่านก็สามารถแตะต้องตัวตนผู้เขียนได้ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม

The Rhetoric of Fiction ตีพิมพ์ช่วงทศวรรษที่ 60 ซึ่งก่อนที่หลังสมัยใหม่จะเป็นที่แพร่หลาย ก็ต้องชื่นชมบูธว่าเป็นหนึ่งในผู้วางรากฐานแห่งยุคสมัย เพราะจุดเด่นหนึ่งของวรรณกรรมรุ่นนี้ก็คือผู้เขียนอย่างกุนเดระหรือรัชดีทลายกำแพงที่สี่ลง ผสานตัวเองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องแต่ง มีทั้งการวิเคราะห์ วิจักษ์ วิจารณ์ หรือกระทั่งพากษ์เสียงให้กับนิยายตัวเอง กระนั้นก็ตามบูธไม่ลืมเตือนว่าการทลายกำแพงที่สี่นั้นไม่ใช่ของง่าย กระทั่งในศตวรรษที่ 18 นิยายที่พยายามเลียนแบบ Tom Jones, Tristam Shandy หรือ Don Quixote แล้วออกมา “เสร่อเป็ด” ก็มีอยู่ไม่น้อย

ถ้าเสียงของผู้เขียนเป็นสิ่งที่ตัดไม่ขาดในนิยาย ก็หมายความว่านิยายทุกเรื่องสามารถอ่านเอาบทเรียนหรือข้อคิดได้ จากตรงนี้ เราจะเห็นความลักลั่นอันน่าใคร่ครวญในสังคมไทย เรามักคุ้นเคยกับผู้ใหญ่หัวอนุรักษนิยมที่ออกมาเซนเซอร์วรรณกรรม ภาพยนต์โทษฐานนำเสนอสิ่งที่ไม่เหมาะสม แต่ส่วนใหญ่ ความไม่เหมาะสมตรงนั้นมาจากการที่ผู้โวยวาย “อ่านผิด” เองเสียมากกว่า (เช่น คนที่หาว่าเลิฟซีนระหว่างไอ้ฟักและสมทรงผิดศีลธรรม หรือการกระทำของตัวเอกเรื่อง ร่างพระร่วง ขัดต่อคำสอนของพุทธศาสนา ทั้งที่เป้าหมายของอาจารย์เทพสิริคือการนำเสนอการก้าวพ้นอคติของตัวเอก หรือที่เด็ดมากๆ คือคนที่ไม่ “เก็ต” การเอาสีดำขาวมาทาช้าง จระเข้ เพื่อล้อเลียนกระแสแพนด้าฟีเวอร์)

ล่าสุดได้อ่านกระทู้ มีคนออกมาตอบโต้กับคนที่ปฏิเสธนิยายของแดนอรัญ แสงทองโดยกล่าวหาว่าฝ่ายนั้น “กระแดะ รับไม่ได้กับสภาพความจริงในสังคม” ซึ่งเราว่าหลงทิศกันทั้งคู่แล้วละ เราเชื่อว่านิยายของแดนอรัญไม่ได้ถูกเขียนขึ้นมาเพื่อโฆษณาหรือชักชวนผู้อ่านให้เลียนแบบตัวละคร ฝ่ายที่ปฏิเสธจึงอ่านผิดเพราะไม่เข้าใจความย้อนแย้งของสานส์ ส่วนฝ่ายที่ออกมาตอบโต้ก็อ่านผิดอีกเช่นกัน เพราะต่อให้สังคมมีพฤติกรรมดังกล่าว เป้าหมายของนิยาย (จากที่เราอ่านสัมภาษณ์ผู้เขียน) น่าจะเป็นการพยายามลดทอนความจริงตรงนั้นลงต่างหาก

เมื่อมีความรุนแรง (การเซนเซอร์) ก็ย่อมมีความรุนแรงจากศิลปินตอบโต้กลับมา ระยะหลังก็เลยมีผลงานที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อ “ล่อเป้า” ผลงานเหล่านี้ไม่ได้นำเสนอสานส์ที่ผิลศีลธรรมด้วยความย้อนแย้ง แต่จงใจชื่นชมการกระทำดังกล่าว (หรืออย่างน้อยก็อ้างว่าทำไมจะนำเสนอไม่ได้ ในเมื่อมันคือความเป็นจริงในสังคม) ซึ่งก็เลยยิ่งเข้าทางฝ่ายอนุรักษนิยมเข้าไปใหญ่ ณ วันนี้เรายังไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ต่อให้เป็นผลงานที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อสนับสนุนให้คนกระทำผิดศีลธรรม ก็ไม่ได้แปลว่ามันจะเป็นงานศิลปะอันด้อยคุณค่า เพียงแต่ความลักลั่นตรงนี้น่าใคร่ครวญสำหรับทั้งฝ่ายศิลปินและฝ่ายผู้มีอำนาจเอง

1 comment:

Midnight cat said...

อ่านแล้วนึกถึงงานจิตรกรรม "ภิกษุสันดานกา" ที่ได้รางวัลศิลปกรรมแห่งชาติเมื่อสองปีที่แล้ว เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันมาก เลยเถิดไปถึงคณะกรรมการซึ่งเป็นอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิของวงการศิลปะ ที่โดนอัดเละเกี่ยวกับการมอบรางวัลนี้ให้กับศิลปิน ขอตั้งขอสังเกตว่า พระดีๆก็มี เรื่องราวดีๆในสังคมไทยมันก็มาก แต่ว่าศิลปินไม่ค่อยหยิบเอามาเป็นเนื้อหาเท่าไร อย่าง"ความสุขของกะทิ" นับเป็นแง่มุมที่สวยงามของสังคมเลยทีเดียวนะคะ หรือว่า "เจ้าหงิญ" งี้ อ่านแล้วรู้สึกโลกสวยงามขึ้นนิดหน่อย