G. Deleuze's "Francis Bacon"


เมื่อสุดยอดนักปรัชญาอย่างกิล เดอลูส เขียนหนังสือเกี่ยวกับสุดยอดจิตรกรอย่างฟรานซิส เบคอน ผลลัพท์ที่ได้ย่อมหนีไม่พ้นสุดยอดหนังสืออ่านยาก "Francis Bacon: The Logic of Sensation"

ถึงประเด็นหลักจะเป็นฟรานซิส เบคอน แต่งานเขียนชิ้นนี้น่าจะถือเป็นมุมมองของเดอลูสเกี่ยวกับงานศิลปะโดยรวมได้ ถ้าให้แบ่งหนังสือออกเป็น 3 ช่วง ช่วงแรกเดอลูสวิเคราะห์องค์ประกอบร่วมในภาพเขียนของเบคอน ต่อมาพูดถึงความคิดซึ่งแฝงอยู่ในงานดังกล่าว และปิดท้ายด้วยการพูดถึงศิลปะโดยรวม ทั้งในแง่ประวัติศาสตร์ และปรัชญา ซึ่งพอถึงช่วงนี้ก็แทบไม่เกี่ยวข้องอะไรกับเบคอนแล้ว

เดอลูสแบ่งองค์ประกอบภาพเขียนของเบคอนเป็นสามส่วนคือ ฉากหลัง (field) เส้นกรอบ (contour) และ วัตถุแสดง (subject) แทบทุกภาพ ผู้คน (หรือวัตถุแสดง) ถูกจัดวางอยู่ในกรอบ ซึ่งอาจเป็นเส้นกรอบจริงๆ เก้าอี้ เตียง หรือเวทีก็ได้ และด้านหลังมีฉากโล่งๆ (ดูตัวอย่างได้จากสองรูปข้างล่าง) เบคอนได้แรงบันดาลใจมาจากงานปั้นซึ่งตั้งอยู่บนฐาน

พูดถึงเบคอน สิ่งที่คนส่วนใหญ่นึกถึงคืออาการบิวเบี้ยวของรูปทรง เดอลูสอธิบาย อาการบิดเบี้ยวที่ว่าคือความพยายามของวัตถุในการหลบหนีออกออกจากตัวเอง ออกจากเวทีหรือเส้นกรอบ เพื่อจะได้ละลาย หาย หรือกลายเป็นส่วนหนึ่งของฉากหลัง เช่นเดียวกัน การที่เส้นกรอบบีบรัด ตีวงแคบเข้ามาก็คือการที่ฉากหลังพยายามกลืนกินวัตถุแสดง จลนะซึ่งเชื่อมต่อวัตถุแสดง และฉากหลังนี่เอง ทำให้งานของเบคอนทรงพลัง เดอลูสเรียกสิ่งนี้ว่า "จังหวะ" (rhythm)


ถ้าให้สรุป "ตรรกะแห่งศาสตร์สัมผัส" ด้วยประโยคสั้นๆ ประโยคเดียว ก็คงเป็น "สู้กับความจำเจ!" ตลอดทั้งเล่มเดอลูสพูดถึงหน้าที่ของศิลปินในการปลดปล่อย ให้อิสระแก่ภาพ (figure) ปีศาจในสายตาเดอลูสได้แก่ เนื้อเรื่อง (narration), ความจำเจ (cliche), และอุปมา (figuration) ทันทีที่ศิลปะบอกเล่าเรื่องราว ภาพจะถูกเปลี่ยนให้เป็นสัญลักษณ์ ถูกตีความ และนั่นหมายถึงผู้ชมไม่อาจเห็นภาพตามแบบที่มันเป็น

เดอลูสอธิบายว่าสมองคนเราแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนรับรู้ และส่วนตีความ ผลงานศิลปะใดที่ผ่านเข้าสมองส่วนตีความ ก็จะกลายเป็นเนื้อเรื่อง ความจำเจ หรืออุปมา สูญเสียความบริสุทธิ์ของมันไป ผลงานศิลปะที่ดีคือผู้ชมต้องสามารถส่งมันเข้าสมองส่วนรับรู้ได้ เมื่อนั้นภาพก็จะเป็นแค่ภาพ มีอิสระที่จะสร้างการรับรู้ (sensation) แบบต่างๆ ให้กับผู้ชม

ดังนั้นกรอบจึงเป็นอาวุธสำคัญที่ขาดเสียไม่ได้ เพราะกรอบแยกวัตถุแสดงออกจากฉากหลัง วัตถุซึ่งถูกตั้งไว้เดี่ยวๆ ปลอดภัยจากเรื่องราวทั้งปวง ซึ่งสมเหตุสมผลอยู่เหมือนกัน เพราะพูดไป เนื้อเรื่องก็คือศาสตร์แห่งการเชื่อมต่อ จากเหตุการณ์หนึ่งไปยังอีกเหตุการณ์หนึ่ง ดังนั้นถ้าวัตถุแสดงถูกแยกออกจากโลกภายนอก ก็ไม่อาจมีการเชื่อมต่อใดๆ เกิดขึ้นได้

อีกประเด็นที่โดนใจมากๆ คือเดอลูสบอกว่าศิลปินไม่ได้วาดภาพจากความว่างเปล่า ภาพทั้งปวงปรากฏขึ้นในหัวตั้งแต่แรก ศิลปินคือผู้ยื้อยุดกับความยุ่งเหยิง ตัดความเป็นไปได้ร้อยแปดประการ เหลือเพียงชิ้นงานสำเร็จบนผืนผ้าใบ


อ่าน "ตรรกะแห่งศาสตร์สัมผัส" ไป อดเถียงเดอลูสในใจไปไม่ได้ ในแง่หนึ่งเรารู้สึกว่าอาการรังเกียจรังงอนเนื้อเรื่องของเขามันเกินไปหน่อย ไม่ใช่ว่าศิลปะที่ดีเกิดได้แค่จากการรับรู้เท่านั้น ศิลปะที่มาจากสมองส่วนตีความก็มีให้เห็นเยอะแยะ การเอาเนื้อเรื่อง ความจำเจ และอุปมา มาหักมุมใช้อย่างหวือหวา ชาญฉลาดก็ใช่ว่าจะทำไปไม่ได้ ที่สำคัญเราไม่เชื่อว่าเนื้อเรื่องคือกรงขังซึ่งริดรอนอิสระของภาพ คติสอนใจ (moral) ต่างหากที่ทำหน้าที่ดังกล่าว ต่อให้มีเนื้อเรื่อง แต่ถ้ารักษาความ nihilistic เอาไว้ เราเชื่อว่าการรับรู้ (sensation) ย่อมเกิดขึ้นได้เหมือนกัน

สุดท้าย ต้องให้เครดิตหนังสืออีกเล่มหนึ่งคือ รวมผลงานชิ้นเอกของเบคอนโดยสำนักพิมพ์ Taschen ถ้าไม่มีหนังสือเล่มนี้ เปิดประกอบควบคู่ไปกับ "ตรรกะแห่งศาสตร์สัมผัส" ไม่ต้องหวังว่าจะได้อ่านรู้เรื่อง ต้องนับว่า Taschen ตาถึงจริงๆ เพราะแทบทุกรูปซึ่งถูกเอ่ยอ้างโดยเดอลูส มีให้เห็นในชุดนี้หมด (เสียอยู่อย่างเดียวคือไม่มีดัชนี หรือสารบัญให้ค้นรูปเลย กว่าจะเปิดหาแต่ละรูปเจอ เล่นเอาเวียนหัวเหมือนกัน)

No comments: