H. Hesse's "Knulp"/"Siddhartha"

วันนี้เปลี่ยนบรรยากาศ มาพูดถึงชีวิตนักประพันธ์ แทนที่จะเป็นผลงานเดี่ยวๆ บ้างดีกว่า อยากเขียนรวมบทวิจารณ์ผลงานของเฮสเสมานานแล้ว ติดแต่ว่ายังไม่ได้อ่านปีเตอร์ คาเมซิน (นิยายเล่มแรก) และเกมลูกแก้ว เลยรู้สึกขาดๆ แหว่งๆ ยังไงชอบกล เอาเถอะไหนๆ ก็ถือว่าอ่านนิยายหลักของแกเกือบครบทุกชิ้น


ชีวิต และปรัชญาของเฮสเสน่าจะเป็นตัวอย่างอันดี ของผู้ใช้ชีวิตอยู่ระหว่างปมอพอลโล และไดโอนิซุส เคยพูดถึงความขัดแย้งตรงนี้ไปแล้วในบทวิจารณ์เบล แคนโต้ สรุปง่ายๆ อพลอลโลคือตัวแทนความรู้ การศึกษา และไดโอนิซุสคือนักผจญภัย ผู้แสวงหาความสุขในโลกกว้าง คนุลป์เป็นตัวแทนวัยหนุ่ม สมัยเฮสเสยังใช้ชีวิตอยู่ในช่วงไดโอนิซุส คนุลป์คือนักผจญภัยผู้ล่องลอยไปกับสายลม มีเพื่อนๆ อาศัยอยู่ทั่วทุกแห่งหน ไม่ว่าบ้านหลังไหนก็ให้การต้อนรับขับสู่ชายหนุ่มเป็นอย่างดี โดยผิวเผินชีวิตคนุลป์เหมือนจะเปี่ยมสุข น่าอิจฉา แต่เฮสเสก็แฝงความเหงาหงอยเอาไว้ด้วย บางครั้งชายหนุ่มเปิดเผยกับคนใกล้ชิดว่าเขาอยากมีบ้านให้ปักหลัก อีกหนคนุลป์แย้มพรายอดีตอันแสนเศร้าของตัวเองให้คนแปลกหน้าฟัง

วรรคทองจากคนุลป์ซึ่งหลายคนอาจเผลอใช้โดยไม่รู้ตัวคือ "ในความงามมักมีความเศร้าเสมอ ดอกไม้สวยได้ เพราะเรารู้ว่าอีกไม่นานมันจะแห้งเหี่ยว ความหยาดเยิ้มของสาวแรกรุ่น อยู่ที่เราตระหนักว่าความเยาว์คงอยู่ได้เพียงชั่วอึดใจ ไม่นานก็แห้งเหี่ยวแก่ชรา" ถ้าใครอ่านสิงห์สาโท จะเห็นคุณวัฒน์เอาประโยคนี้มาใช้ อีกวรรคหนึ่งซึ่งเด็ดไม่แพ้กันคือ "ดอกไม้ส่งกลิ่นหอมระรวย และเมล็ดพันธุ์ เพราะมันอยากใกล้ชิดกันและกัน หากแต่ไม่มีแขนขาให้ขยับเขยื้อนไปไหน กระนั้นดอกไม้ไม่อาจบังคับเมล็ดพันธุ์ล่องลอยไปตกตามที่ต้องการ นั่นคือหน้าที่ของลม และลมมาเยือน จากไปตามแต่ที่มันต้องการ"

โดยรวม ชีวิตคนุลป์ไม่ถึงกับเศร้าสร้อยเกินไปนัก อดคิดไม่ได้ว่านี่อาจเป็นวิถีอิสระแบบที่ผู้เขียนต้องการ ยิ่งประกอบกับผลงานชิ้นก่อนๆ อย่างใต้กงล้อ และรอสฮัน ล้วนแล้วแต่เป็นนิยายสนับสนุนให้คนเราออกเดินทางไปในโลกกว้าง

คนุลป์ตีพิมพ์ปีที่สงครามโลกครั้งที่หนึ่งเปิดฉาก ผลงานเล่มถัดไปคือเดเมียนทิ้งช่วงสี่ปี อิทธิพลความโหดร้ายของสงครามส่งผลให้เฮสเสเริ่มเปลี่ยนแนวคิดมาทางอพอลโลมากยิ่งขึ้น


สิทธัตถะคือผลงานที่โด่งดังที่สุดของเฮสเส ผู้เขียนใช้ธีมการค้นหาสัจธรรม ธีมเดียวกับในเดเมียน แต่เปลี่ยนฉากมาเป็นประเทศอินเดีย และผนวกพุทธศาสนาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อเรื่อง สิทธัตถะก็เหมือนเดเมียน คนหนุ่มผู้ไม่พึงพอใจสภาพรอบตัว การสั่งสอนของอาจารย์ แม้หัวหน้าพราหมณ์ตั้งความหวังให้เขารับช่วงดูแลลัทธิต่อจากตัวท่าน ท้ายสุดชายหนุ่มสละลาภยศ ออกเดินทางตามหาพระพุทธเจ้า การพบปะกันระหว่างตถาคตและสิทธัตถะ ลงเอยที่ชายหนุ่มปลงใจยอมรับคำสั่งสอนของศาสดา แต่สัจธรรมของตัวเขา เขาจะต้องออกไปเป็นผู้ค้นหาด้วยตัวเอง (ความคิดตรงนี้คล้ายคลึงกับของเดเมียน)

วรรคทองจากสิทธัตถะที่จำขึ้นใจจนบัดนี้คือ "สิทธัตถะเสมือนก้อนหินหล่นลงสู่แม่น้ำ อาจจะถึงก้นช้า อาจจะถึงก้นเร็ว แต่ก้อนหินย่อมจมลงสู่เบื้องล่างเสมอ และไม่มีสิ่งใดหยุดยั้งการตกของหินได้"

สิทธัตถะน่าจะเป็นนิยายอันเกิดจากการคลี่คลายปมอพอลโล ไดโอนิซุสในตัวเฮสเสไปอีกเปลาะหนึ่ง การที่สิทธัตถะปฏิเสธเข้าร่วมหมู่พระสาวก ก็เหมือนคนุลป์ผู้ชื่นชอบอิสระเสรี ต่างแต่การท่องเที่ยวของคนุลป์คือการเดินทางตามสายลม หากสิทธัตถะมีเป้าหมายเพื่อศึกษาหาความรู้ เสมือนเฮสเสต้องการบอกผู้อ่านว่าไม่มีหนทางใดจะนำไปสู่ปัญญา (อพอลโล) ได้ดีเท่าการออกผจญภัย (ไดโอนิซุส)

ธีมตรงนี้ปรากฏชัดขึ้นอีกครั้งในนาซิซัส และโกลมุนด์ ไว้คุยกันต่อคราวหน้าครับ

5 comments:

Thosaeng said...

It's interesting what you said about Apollo and Dionysus. Thomas Mann was obviously interested in this binary, but I've never thought of it in reference to Hesse before. I am wondering what you think about the fact that, in the novel, Siddthartha doesn't feel like becoming the Buddha's disciple but wants to go out and seek his own truth. I kind of see here a juxtaposition between an individualistic and Western approach and a more collectivistic mentality of Asian people. Do you think Hesse is portraying the former as better than the latter? I kind of feel that he is, but that may just be my own prejudice against a white man writing about the religion of his "Other."

laughable-loves said...

โอ้ ผมเองก็ไม่เคยคิดถึงโทมัน มานในแง่ไดโอนิซุส อพอลโลเหมือนกันครับ กะว่าปีนี้จะต้องอ่าน magic mountain จบให้ได้ครับ ระหว่างอ่านจะลองสังเกตปมตรงนี้ดู

ฉากที่สิทธัตถะปฏิเสธไม่ยอมเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าเป็นฉากที่ติดอยู่ในหัวผมมากๆ ครับ ผมเห็นด้วยกับพี่นะว่าเป็นปมบางอย่างระหว่างแนวคิดตะวันตก และตะวันออก ถ้าให้เจาะจงไปมากกว่านี้ ผมจะบอกว่าเป็นปมระหว่าง existentialsm และ buddhism คือเฮสเสคงสนใจศาสนาพุทธจริงๆ นั่นแหละ แต่ขณะเดียวกันแกก็เชื่อว่าโลกนี้ไม่มีความจริง หรือปรัชญาหนึ่งเดียว แกก็เลยให้ตัวละครออกไปค้นหาความจริงด้วยตัวเอง

พี่หมายความว่าไงครับ writing about the religion of his "other" ใครคือ "other" ในที่นี้ครับ

Thosaeng said...

I meant Hesse, as a Westerner, was writing about the religion of the people who were traditionally considered to be his inferior opposite or the "Other" against which he defined him"self" (e.g. they were inferior and we were superior, they were primitive and we were civilized, etc). I guess that made me espcially sensitive toward what Hesse had to say, maybe more so than necessary :P

Anonymous said...

ฉันเห็นด้วยกับการเขียนให้ siddhatha ปฎิเสธเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า เพราะเขาเป็นคนมั่นใจในตัวเองไม่เชื่อถืออะไรง่าย ๆ การออกเดินทางแสวงหาจนติดไปในบ่วงของกิเลสและตํณหาทำให้เขาค้นพบคำตอบด้วยตัวเอง แต่ฉันกลับไม่เห็นด้วยกับการเขียนให้เขาค้นพบตัวเองด้วยการเป็น ferryman

chusank.

Knock'em All said...

เกมนกบิน