H. Hesse's "Narcissus and Goldmund"/"Steppenwolf"


เช่นเดียวกับนิยายเรื่องอื่นๆ ความขัดแย้งระหว่างไดโอนิซุส และอพอลโลยังคงเป็นประเด็นหลักในนาซิซัสและโกลมุนด์ คงไม่มีตัวละครใดของเฮสเสเผชิญโลกอันโหดร้ายเท่ากับโกลมุนด์ นี่ไม่การเดินทางด้วยจิตวิญญาณอิสระ หรือเพื่อศึกษาหาความรู้ แต่เป็นการธุดงค์เข้าไปยังแก่นแท้ความมืดดำในสันดานมนุษย์ โกลมุนด์เบื่อหน่ายชีวิตของสถานศึกษา เขาหลบหนีจากอาศรม ออกแสวงโชคในโลกกว้าง ชายหนุ่มตั้งตัวเองเป็นนักรัก เดินทางเพื่อแจกจ่ายสวาทให้หญิงสาวทุกคน ทุกหมู่บ้าน กาลต่อมา เขาถึงได้เรียนรู้รสชาติความริษยาของสตรีเพศ ซึ่งเกือบเป็นเหตุให้เจ้าตัวเอาชีวิตไม่รอด

ทุกอย่างซึ่งผ่านเข้าออกชีวิตโกลมุนด์ เหมือนจะย้ำเตือนว่าโลกนี้เต็มไปด้วยความโหดร้าย เช่นโรคระบาดซึ่งเช่นคร่าชีวิตคนทั้งหมู่บ้าน ความบ้าคลั่งของฝูงชนที่รุมกระหน่ำสังหารชาวยิว (เฮสเสเขียนนาซิซิสและโกลมุนด์ ช่วงเดียวกับที่พรรคนาซีเริ่มยึดครองอำนาจในเยอรมัน) กระทั่งตัวละครอย่างช่างแกะสลัก ซึ่งเหมือนจะทำหน้าที่เป็นอาจารย์ (นิยายของเฮสเสชอบมี "ปรัชญาเมธี" โผล่ออกมาชี้แนวทาง สั่งสอนตัวเอก) สุดท้ายชายหนุ่มก็มองศิลปะเป็นแค่ความไร้สาระ หนทางไต่เต้าไปสู่ความมั่งคั่งอันน่าเหยียดหยาม

นาซิซัสและโกลมุนด์ยังเป็นนิยายเรื่องแรกของเฮสเส ซึ่งตัวละครได้สัมผัสความแก่ชรา โกลมุนด์ไม่ได้มีวัยหนุ่มนิรันดรแบบคนุลป์ ในตอนท้ายๆ เรื่อง เขาเริ่มรู้สึกถึงความอ่อนแอ แห้งเหี่ยวในกาย และนี่อาจเป็นสาเหตุทำให้เขาพลาดรักผู้หญิงเพียงคนเดียวซึ่งเขาปรารถนาจะครอบครองอย่างจริงๆ จังๆ

ตรงข้ามกับโกลมุนด์ คือนาซิซัส ครูหนุ่ม และเพื่อนสนิทผู้อาศัยอยู่แต่ในสถานศึกษาชั่วชีวิต ไม่ต้องสงสัยว่านาซิซัสคือตัวแทนของอพอลโล เขาเป็นผู้เปิดโลกทัศน์วัยเยาว์ให้แก่เด็กหนุ่ม ซ้ำยังเป็นคนสนับสนุนให้โกลมุนด์หนีออกจากวัด และในตอนท้าย ก็เป็นคนคอยซับบาดแผล ดูแลร่างกายอันแตกหักยับเยิน หลังอีกฝ่ายใช้ชีวิตสมบุกสมบันในโลกกว้าง ชีวิตของนาซิซัส ถ้าเทียบกับโกลมุนด์แล้วราบเรียบ สงบนิ่งจนคนอ่านสงสัยไม่ได้ว่าเขามีความสุขแน่หรือ

เป็นการยากที่จะสรุปว่าเฮสเสเขียนนาซิซัสและโกลมุนด์ เพื่อสนับสนุนแนวคิดใดกัน ระหว่างอพอลโล และไดโอนิซุส ทางเลือกหนึ่งคือตำรับตาราเรียนอันน่าเบื่อหน่าย แต่อีกทางหนึ่งก็คือความโหดร้ายของโลกกว้าง คงมีแต่ผู้อ่านเท่านั้นที่จะตัดสินใจเองได้



สเตปเปนวูลฟ์เป็นนิยายเรื่องเดียวของเฮสเสที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเดินทาง กระนั้นไม่ได้หมายความว่าปมไดโอนิซุสไม่ได้ปรากฏในเรื่อง ไดโอนิซุสคือเทพเจ้าแห่งสุรา ดังนั้นนอกจากการผจญภัย ไดโอนิซุสยังเป็นตัวแทนแห่งการเฉลิมฉลอง

ถ้าเอมิล ซินแคล (ตัวเอกจากเรื่องเดเมียน) มีชีวิตอยู่รอดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เขาคงเติบโตมาเป็นสเตปเปนวูลฟ์ หมาป่ายะโสผู้โดดเดี่ยว สเตปเปนวูลฟ์คือเรื่องเล่าของแฮรี่ ฮาลเลอร์ (ตัวย่อเอชเอช เหมือนเฮอมัน เฮสเส) ฮาลเลอร์เป็นนักวิชาการชรา ผู้รังเกียจ ชิงชังตัวเองมากกว่าสิ่งใดในโลก ("การรังเกียจตัวเองนั้น คือรูปแบบหนึ่งของความหยิ่งผยอง เพราะมีแต่คนหลงตัวเองเท่านั้น รู้สึกว่าตนมีคุณค่าพอให้เกลียดชัง") เขาอุทิศทั้งชีวิตให้แก่อพอลโล จนเมื่อมาถึงบั้นปลาย ได้พบเออไมน์ สตรีปริศนาซึ่งสอนให้เขารู้จักการเต้นรำ ดนตรีแจ๊ส และการเสพสุขแบบไดโอนิซุส

ในแง่หนึ่งเออไมน์อาจเป็นเทพธิดาผู้นำพาความสุขมาให้ฮาลเลอร์ เขากลายเป็นนักเต้นรำ มีสัมพันธ์สวาทกับสาวสวย (ซึ่งเออไมน์เป็นคนแนะนำให้เขารู้จัก) แต่อีกทางหนึ่ง ฮาลเลอร์ตระหนักดีว่าโลกใหม่นี้ เต็มไปด้วยกิเลศ ตัณหา และความมืดบอด

สเตปเปนวูลฟ์เสมือนจะตอบคำถามซึ่งค้างคาอยู่ในนาซิซัสและโกลมุนด์ เฮสเสหลงใหลการดำเนินชีวิตแบบนักผจญภัย กระนั้นความโหดร้ายของสงครามโลกทั้งสองครั้ง ทำให้เขาอดคิดไม่ได้ว่าโลกใบนี้มีคุณค่าพอให้ออกไปสำรวจขนาดนั้นเชียวหรือ (เหมือนกับที่นาซิซัสถามตัวเอง ทุกครั้งที่โกลมุนด์เลียบาดแผล กลับมาพักรักษาตัวในอาศรม) สเตปเปนวูลฟ์นอกจากจะเป็นนิยายที่ยอมรับความโหดร้ายของโลกแล้ว ยังถามกลับไปอย่างเย้ยหยันว่า "แล้วไงล่ะ" ถ้าโลกนี้ปราศจากกิเลศ ตัณหา ความสุขเล่าจะไปอยู่หนใด เท่าที่ชีวิตยังมีลมหายใจ คนเราควรจะเต้นรำ มัวเมาเสียงดนตรี และดื่มดำไปกับความสวยงามของโลก

ตอนท้ายเรื่อง การผจญภัยของฮาลเลอร์ในคฤหาสน์แห่งความฝัน คือต้นแบบงานเขียนแนวเหนือจริง ซึ่งจะมีอิทธิพลอย่างมากในวรรณกรรมตะวันตกช่วงหลังศตวรรษที่ยี่สิบ ถ้าความฝันต่างจากความจริงเพียงเยื่อบางๆ ซึ่งเรียกกันว่าหนังตา ท้ายที่สุดอพอลโล และไดโอนิซุสก็คงเป็นสองหน้าของเหรียญเดียวกันเท่านั้นเอง

1 comment:

Anonymous said...

ขอบคุณที่เขียนอธิบายเรื่อง narcissus and goldmund ไว้อย่างละเอียดนะคะ ทำให้รู้ว่าเรื่องนี้น่าสนใจ เลยอยากจะเลือกทำรายงานเรื่องนี้คะ ^^