J. Rawls's "A Theory of Justice" (part 1)


เราเป็นคนที่ชอบเล่นไพ่เอามากๆ จำได้ว่ามีอยู่ช่วงหนึ่ง นับเกมไพ่ที่เราเล่นเป็นได้อย่างน้อยสามสิบชนิด ในจำนวนนั้น มีเกมไพ่สองอย่างที่เราคิดค้น ดัดแปลง และลอกเขียนเขามาเอง การตั้งกติกาไพ่ของตัวเองเป็นกิจกรรมน่าสนใจ เป้าหมายสูงสุดของการเล่นไพ่ ที่ไม่ได้พนันเอาตังค์ ก็คือความสนุกสนานของทุกฝ่าย แต่แน่นอนว่าการแข่งขันต้องมีแพ้ มีชนะ และบ่อยครั้งที่คนชนะจะสนุกกว่าคนแพ้ แต่ใครจะเป็นผู้แพ้ ผู้ชนะ บอกไม่ได้จนกว่าจะแจกไพ่ เพราะฝีมือ อย่างไรเสียก็ยังเป็นรองดวง ต่อให้เราอยากเป็นคนชนะสักแค่ไหน แต่เป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะตั้งกติกา (อย่างสมเหตุสมผล) ซึ่งการันตีได้ว่าเราจะเป็นผู้ชนะเสมอ หลังจากที่แจกไพ่ไปแล้ว ย่อมมีทั้งมือดี และมือเสีย กติกาไพ่ที่ดี ไม่ใช่กติกาที่ปรับระดับให้สองมือเท่าเทียมกัน จนไม่รู้แพ้ ไม่รู้ชนะ แต่ขณะเดียวกัน ก็ต้องระวังไม่ให้ความแตกต่างสุดขั้วเกินไป จนไม่เหลือที่ว่างให้ใช้ฝีมือเลย

นอกเรื่องมายาวเหยียดแบบนี้ เพราะอยากบอกว่าอ่าน A Theory of Justice ของจอห์น ราวล์ แล้วก็นึกถึงการตั้งกติกาไพ่ ราวล์เรียกความยุติธรรมตามแบบของเขาว่า "justice as fairness" ซึ่งจนปัญญาจะแปลเป็นภาษาไทยจริงๆ เพราะทั้งคำว่า "justice" และ "fairness" ดันมีความหมายเดียวกันคือความยุติธรรม ถ้าจะพยายามแปลที่สุด ก็ต้องบอกว่า "ความยุติธรรมด้วยความเท่าเทียม" แต่ "fairness" ก็ไม่ใช่ความเท่าเทียมเสียทีเดียว อันนั้นน่าจะเป็น "equality" มากกว่า ซึ่งเอาเข้าจริง ความยุติธรรมของราวล์ไม่ได้หมายถึงความเท่าเทียมเลยแม้แต่น้อย เหมือนที่เปรียบเทียบไปแล้วว่าเกมไพ่ต้องมีทั้งผู้แพ้ และผู้ชนะ

"justice as fairness" หมายถึงความยุติธรรมที่เกิดจากการสมมติว่า ถ้าตัดความจำเพาะเจาะจงทุกอย่างออกไปให้หมด นี่คือหนทางที่เราจะเลือก ก็เหมือนกับการตั้งกติกาไพ่นั่นแหละ กติกาที่ยุติธรรมต้องตั้งมาโดยไม่เกี่ยวกับว่าใครจะได้อะไร และจนกว่าที่ไพ่จะถูกแจก ต้องไม่สามารถบอกได้ว่าฝ่ายไหนเสียเปรียบหรือได้เปรียบ แต่ขณะเดียวกัน ทันทีที่แจกไพ่ไปแล้ว กติกาที่ยุติธรรมไม่ได้หมายถึงว่าทุกมือต้องเท่าเทียมกัน ถ้าตัวอย่างเรื่องไพ่ยิ่งฟังแล้วก็ยิ่งงง ให้คิดเรื่องการแบ่งเค้ก ถ้าให้คนคนหนึ่งตัดแบ่งเค้กให้เพื่อนตามใจชอบ ทำอย่างไรถึงจะบังคับให้เขาตัดมันอย่างเท่าเทียม ง่ายๆ ก็คือบังคับให้ว่าคนแบ่งจะเป็นคนสุดท้ายที่หยิบเค้กไป ดังนั้นเพื่อไม่ให้ตัวเองเสียเปรียบ คนตัดก็จะต้องตัดทุกชิ้นอย่างเท่ากัน เนื่องจากเขาไม่รู้ว่าคนอื่นๆ จะหยิบเค้กชิ้นไหนไปบ้าง พูดอีกอย่างคือเราใช้ "ความไม่รู้" (the veil of ignorance) มาเป็นตัวตัดสินความยุติธรรม

ถ้าเรายึด "justice as fairness" เป็นกลไกหลักทางสังคม ราวล์บอกว่า มันจะนำไปสู่หลักการแห่งความยุติธรรมสองข้อ (1) ทุกคนต้องไม่สูญเสียเสรีภาพส่วนตัว และ (2) คนเราไม่จำเป็นต้องเท่าเทียมกัน (ทางด้านฐานะ ทรัพยากร และคุณค่าทางสังคม) ถ้าความไม่เท่าเทียมนั้น นำไปสู่ผลประโยชน์ของทุกฝ่ายในสังคม ซึ่งก็เหมือนกับการเล่นไพ่อีกนั่นแหละ ถ้าตราบใดที่คนแพ้ไม่รู้สึกว่าไม่เล่นดีกว่า ก็นับว่ากติกาที่ตั้งมายุติธรรมในระดับหนึ่ง ข้อ (1) ชัดเจนจะแจ้ง แต่ข้อ (2) ต่างหากที่เอาไปถกเถียงกันได้ยาวเลย อะไรคือ "ผลประโยชน์ของทุกฝ่ายในสังคม"

หลักการคร่าวๆ สองข้อที่ราวส์กำหนดขึ้นมาคือ ไม่เท่าเทียมกันเพื่อประสิทธิภาพ (ประโยชน์นิยม หรือ utilitarianism) และหลักแห่งความแตกต่าง (difference principle) ประโยชน์นิยมหมายถึง การกระจายทรัพยากรเพื่อให้ผลประโยชน์โดยรวมของทั้งสังคมเป็นไปอย่างสูดสุด เท่าที่อ่านดูเหมือนราวส์จะไม่ค่อยโปรแนวคิดนี้เท่าไหร่ โดยเขาอ้างว่ามันจะไปขัดกับหลักข้อ (1) เช่นว่า สังคมทาสก็อาจจะเป็นสังคมที่มีประโยชน์โดยรวมสูงสุดก็ได้ แต่สังคมทาสขัดกับหลักเสรีภาพ หลักแห่งความแตกต่างบอกว่า ตราบใดก็ตามที่การหาผลประโยชน์ของเราไม่ไปทำให้คนอื่นเดือดร้อน นั่นก็คือความยุติธรรม ในการกระจายทรัพยากรแบบนี้ ผู้ด้อยโอกาสสุดในสังคมได้รับผลประโยชน์เท่าที่ผู้มีโอกาสสูงสุดจะสละให้ได้ ราวส์พยายามชี้ให้เห็นว่าหลักนี้ตรงตามแนวคิด "justice as fairness" ที่สุด

สังเกตคำว่า part 1 ในหัวข้อ เนื่องจากหนังสือเล่มนี้ยาวมาก เลยต้องขออนุญาตแบ่งเป็นสามส่วน ไว้อ่านต่อคราวหน้า

1 comment:

Unknown said...

ชื่นชมค่ะ เขียนดีจังเลย