R. Chandler's "The Simple Art of Murder"


ถ้าพูดถึงอุบัติเหตุเครื่องบินตก ช่วงนี้คงไม่มีข่าวไหนดังเท่ากัปตันเรือบินยูเอสแอร์เวย์ นำเครื่องขัดข้องร่อนลงแม่น้ำ รักษาชีวิตผู้โดยสารได้ทุกคน แต่ "อุบัติเหตุ" ที่เราอยากหยิบยกมาพูดถึงในวันนี้เป็นอีกข่าวหนึ่ง เรื่องของนักต้มตุ๋นการเงิน ซึ่งพอถูกตำรวจไต่สวน ก็แกล้งทำเป็นเครื่องบินตก แต่ดีดตัวเองออกมาก่อนที่เครื่องจะกระแทกพื้น ตั้งใจจะเปลี่ยนชื่อ นามสกุล หายเข้ากลีบเมฆ แต่กลายเป็นว่า ไม่ถึงสองวันดีตำรวจก็สามารถรวบตัวหัวขโมยสมองใส (หรือเปล่า) คนนี้ได้

เรารู้สึกว่าในชีวิตจริง พวกฆาตกรรมอำพราง หรือนักวางแผนคดีเช่นนี้จะไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไหร่ ตำรวจปัจจุบันเก่งมาก มีเทคโนโลยีทันสมัยมายมาย เลยไม่ค่อยจะมีอาชญากรคนไหนรอดพ้นเงื้อมมือกฎหมายไปได้

แต่ในทางตรงกันข้าม ผ่านไปปีหนึ่ง คดีการเสียชีวิตของนักแสดงหนุ่ม ฮีด เลจเจอร์ก็ยังไม่ได้รับการคลี่คลายให้เป็นที่พึงพอใจของสาธารณชน ว่าเป็นอุบัติเหตุจากการใช้ยาเกินขนาด ฆ่าตัวตาย หรือว่ามีมือที่สอง เป็นไปได้ว่าความจริงอาจปรากฎแล้วล่ะ แต่ญาติๆ และทางสตูดิโอต้องการปิดข่าว เพื่อรักษาชื่อเสียงของผู้เกี่ยวข้อง

เกริ่นมายาวเหยียดเพราะต้องการจะบอกว่า การตายเป็นเรื่องธรรมชาติ ไม่มีใครหลีกเลี่ยง หรือปฏิเสธมันได้ แต่การฆาตกรรม หรืออำพรางคดีไม่ใช่เรื่องธรรมชาติแม้แต่น้อย คนทั่วไปรู้อะไรเกี่ยวกับมันน้อยมากๆ เราไม่รู้ด้วยซ้ำกระทั่งว่าเรารู้มาก (กรณีหนุ่มนักต้มตุ๋น) หรือรู้น้อย (กรณีฮีด เลดเจอร์)

เพราะฉะนั้นการที่แชนเลอร์จะมาอ้างเอ่ยว่านิยายนัวร์ "สมจริงสมจัง" กว่านิยายนักสืบยุคทอง เราถือว่าเป็นเรื่องเหลวไหล

จริงๆ การจิกกัดกันระหว่างนักเขียนนิยายนัวร์ และนิยายนักสืบยุคทองก็เป็นเรื่องปกติ และพออ่านแล้ว ก็เพลินเพลินอยู่ไม่น้อย แน่นอนว่าเราเชียร์ฝ่ายหลัง แต่พอถึงตอนนี้ก็ใช่ว่าเราจะไม่เข้าใจนัวร์เลย นัวร์เกิดมาในยุคที่อเมริกาเผชิญกับความแร้นแค้นทางเศรษฐกิจ ความรุนแรงในนัวร์ ส่วนหนึ่งก็คือการตอบสนองความต้องการของคนอ่าน ที่อยากเป็นอย่างนักสืบตัวเอก แข็งแกร่งยิ่งกว่าทุกคน ฉลาดหลักแหลม และยืดอกได้อย่างผ่าผายในสังคมที่ล้มสลายทางศีลธรรม

ตอนที่แชนเลอร์เขียน The Simple Art of Murder ซึ่งเป็นบทความเปิดรวมเรื่องสั้นชุดนี้ นัวร์คงเป็นแนวเรื่องที่ยังไม่ค่อยมีใครเขียนกัน แชนเลอร์พูดถึงความ "แปลกใหม่" ของนัวร์ได้ เพราะเขาไม่ทันยุคที่นิยายนัวร์ถูกพิมพ์ และถูกเขียนออกมาเป็นจำนวนมาก เพราะมันเขียนง่าย หรืออย่างน้อยก็ง่ายกว่านิยายนักสืบยุคทอง (แชนเลอร์เองก็ตระหนักตรงจุดนี้ แกถึงบอกว่านิยายนักสืบที่ดี กับนิยายนักสืบห่วยๆ นั่น เอาเข้าจริงแล้วก็แทบจะไม่ต่างกันเลย)

บางทีการฆาตกรรมอาจเป็นเรื่องน่าเบื่อที่สุดในโลกก็ได้ สามีทะเลาะกับภรรยา ควบคุมอารมณ์ไม่อยู่ เลยพลั้งมือใช้ขวดเหล้าฟาดศีรษะภรรยาเต็มแรง เสร็จแล้วก็นั่งร้องไห้ รอให้ตำรวจมาลากคอไปเข้าคุก นี่ต่างหากคือ "ความสมจริงสมจัง" ที่ไม่อาจเอามาเขียนเป็นนิยาย ไม่ว่าจะตลกขบขันแบบนิยายนักสืบยุคทอง หรือซีเรียสจริงจังแบบนัวร์ ถ้ารักจะเขียนนิยายฆาตกรรมสืบสวนสอบสวน สิ่งแรกที่นักเขียนต้องทำคือเอา "ความสมจริงสมจัง" โยนทิ้งหน้าต่างเสีย

5 comments:

Anonymous said...

"สามีทะเลาะกับภรรยา ควบคุมอารมณ์ไม่อยู่ เลยพลั้งมือใช้ขวดเหล้าฟาดศีรษะภรรยาเต็มแรง เสร็จแล้วก็นั่งร้องไห้ รอให้ตำรวจมาลากคอไปเข้าคุก"

ถ้านี่คือความสมจริงสมจังที่คุณหมายถึง เราก็ไม่เห็นว่ามันจะฟังดูน่าเบื่อตรงไหนนี่หว่า ออกจะดราม่าซะขนาดนี้ ถ้ามีนิยายสืบสวนสอบสวนที่เล่นอารมณ์ได้ดราม่าขนาดนี้ ก็คงจะดีมาก

อาจจะยังไม่มีคนทำ? แต่เรายังนึกไม่ออกว่าทำไมจะทำไม่ได้

laughable-loves said...

อ่ะ ถ้ารู้ตัวคนร้ายตั้งแต่ต้นแบบนั้นก็ไม่ใช่นิยาย "สืบสวนสอบสวน" ซิ ก็จะเป็นนิยายประเภทอื่นไป (ซึ่งแน่นอนว่าก็อาจจะดีได้เหมือนกัน)

ส่วนสาเหตุที่ไม่ทำสารบัญไปพร้อมๆ กับโพส เพราะขี้เกียจ ทำทีเดียวปลายเดือนไปเลย ง่ายกว่า

Anonymous said...

อ้าว "การสืบสวนสอบสวน" มันต้องสืบกันเฉพาะตัวคนร้ายเหรอ? จริงๆมันก็มีเรื่องให้สืบอยู่ตั้งเยอะแยะ ที่น่าจะแตกแขนงไปหาอะไรสนุกๆได้ ไม่แพ้หาตัวคนร้าย คนร้ายอาจจะเคยฆ่าคนมาแล้วหลายคนก็ได้ การสืบประวัติเขาสาวต่อไปก็น่าสนใจอยู่ หรือแม้กระทั่งคนที่ถูกฆ่า อาจจะเคยทำอะไรพิศดารมาเยอะแยะ หรือนั่นไม่ใช่เรื่อง "สืบสวนสอบสวน"

นอกจากนี้ เราก็เชื่อว่า ในชีวิตจริง กรณีที่หาตัวคนร้ายมาลงโทษไม่ได้ ก็มีอยู่เยอะแยะ ถ้ามันง่ายขนาดจับได้ทันทีทุกคน สังคมก็คงไม่วุ่นขนาดนี้หรอก โดยเฉพาะในประเทศที่อิทธิพลเยอะๆแถบๆนี้ ถ้าทำเรื่องสืบสวนแบบสมจริง ข้อมูลลึกๆ แค่นี้ก็มันส์ไม่รู้จะเท่าไหร่

Anonymous said...

ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆคับ

Anonymous said...

ขอบคุณค่ะ สำหรับบทความดี ๆ