พูดถึงเศรษฐกิจพอเพียง


ไหนๆ ขอทำตัวตามกระแสพูดถึงเศรษฐกิจพอเพียงกับเขาหน่อยเถอะ ระยะนี้เปิดเวปบลอค เวปบอร์ดที่ไหนก็มีแต่คนพูดถึงเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งในแง่หนึ่งก็น่ายินดี เพราะช่วยกระตุ้นเตือนกระแสสำนึกในสังคม

แต่อีกแง่หนึ่งก็น่ายินร้ายอยู่เหมือนกันเพราะข่าวที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจพอเพียง มักออกมาในทำนองน่าสงสัย ยกตัวเองเช่นเจ้าสัวออกมาให้สัมภาษณ์ว่าที่ตัวเขาร่ำรวยมาถึงทุกวันนี้เพราะหลักเศรษฐกิจพอเพียง หรือนักการเมืองอำนาจเก่ากลายเป็นตัวแทนประเทศอธิบายให้ชาวต่างชาติฟังว่าอะไรใช่ ไม่ใช่เศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งก็ชวนให้ประชาชนสงสัยว่าถ้าท่านรู้จริง ทำไมไม่ปรับมาใช้ตั้งแต่สมัยอำนาจเก่า ยังไม่กลายเป็นอำนาจเก่าเล่า

ข่าวเหล่านี้ทำให้เรานึกถึงละครช่องสามเมื่อปีมะโว้ จำชื่อเรื่องไม่ได้แล้ว แต่จำได้ว่าคุณพีท ทองเจือเล่นเป็นพระเอก มีเจ้าหงิญเป็นนางเอก ผู้ร้ายละครเรื่องนี้คือนักค้ายาเสพติด ซึ่งชอบยกพุทธสุภาษิตมาอ้างปาวๆ เจตนาของคนทำละครคงไม่ใช่ต้องการสื่อหรอกว่าพุทธสุภาษิตนั้นเป็นของเปล่าประโยชน์ แต่น่าจะเพื่อแสดงให้ความมือถือสากปากถือศีลของผู้ร้ายมากกว่า เพราะพุทธสุภาษิตเป็นของดี ของแท้ที่มีมาคู่สังคมไทย ถ้าหยิบจับมาใช้ คนดูก็จะเข้าใจได้ง่ายว่าเออ! ขณะนี้คนทำละครต้องการยั่วล้อพฤติกรรมนกแก้ว นกขุนทอง ท่องได้แต่ไม่รู้จักนำมาใช้

ที่น่าเป็นห่วงคือตอนนี้เศรษฐกิจพอเพียงกำลังตกอยู่ในวิกฤติเดียวกัน! คือไม่ว่าใครก็อยากโอ้อวดว่าฉันเข้าใจมัน เพื่อการโฆษณา สร้างความนิยมให้กับตัวเอง ซึ่งถ้าปล่อยไว้แบบนี้เรื่อยๆ เศรษฐกิจพอเพียงจะยิ่งกลายเป็นทฤษฎีว่างเปล่าขึ้นทุกวัน

ซึ่งจะโทษสังคมฝ่ายเดียวก็ไม่ได้ เพราะก็ต้องยอมรับนั่นแหละว่า ปัจจุบันหลายแง่มุมของเศรษฐกิจพอเพียงยังเป็นนามธรรมสูง หมายถึงยังขาดหลักการจับต้องได้ มีสักกี่คนที่อ้างว่าเข้าใจเศรษฐกิจพอเพียงสามารถตอบคำถามเหล่านี้ เศรษฐกิจพอเพียงสนับสนุนให้คนกู้ยืมเงินหรือไม่? ถ้าฉันมีอันจะกิน อยากไปเที่ยวเมืองนอก ใช้ของแพงนี่ถือว่าขัดหลักเศรษฐกิจพอเพียงหรือเปล่า? จำเป็นไหมว่าในเศรษฐกิจพอเพียงทุกคนต้องเท่าเทียมกัน ห้ามมีใครรวยกว่า จนกว่า? หรือฉันเป็นศิลปิน ยังไงงานศิลป์มันก็ถือเป็นของฟุ่มเฟือยอยู่แล้ว ถ้าประเทศไทยหันมาใช้เศรษฐกิจพอเพียงเต็มตัวจริง ฉันควรเปลี่ยนงานหรือไม่?

ไม่ใช่ว่าเศรษฐกิจพอเพียงไม่มีคำตอบให้กับคำถามเหล่านี้นะครับ เชื่อว่ามี และเป็นคำตอบที่น่าพอใจเสียด้วย แต่คนไทยพร้อมหรือยังที่จะให้เศรษฐกิจพอเพียงเป็นระบบซึ่งนำมาปรับใช้ได้จริง เราพร้อมไหมที่จะให้นักวิชาการทั้งใน และต่างชาติมาวิเคราะห์ สังเคราะห์ ตีแผ่ ประเมิน สร้างโมเดลเศรษฐกิจพอเพียง ต้องยอมรับแหละว่าปรัชญาทุกข้อที่ตั้งมาใหม่ๆ ก็เหมือนเด็กทารกที่ต้องอาศัยการฟูมฟักเลี้ยงดู เราพร้อมไหมที่จะให้เศรษฐกิจพอเพียงเจริญเติบโตไปกว่านี้ ทุกทฤษฎีย่อมมีกาลเทศะ ความเหมาะสม จุดด้อยจุดอ่อน เรายอมรับได้หรือเปล่า ถ้านักวิชาการจะบอกว่าเศรษฐกิจพอเพียงอาจไม่เหมาะสมกับทุกสถานการณ์ มีบางจุดของมันที่อ่อนประสิทธิภาพกว่าทุนนิยม หรือตั้งคำถามว่าอะไรคือวิธีนำมันมาใช้ให้ได้ผลดีสุด (เพราะโดยหลักการ ทุกทฤษฎีเวลาอยู่บนกระดาษก็โคตรหรูเลย แต่พอเอามาใช้จริง ก็ต้องหารสอง เผื่อความโลภ ความเลวของคนด้วย)

ถ้าพร้อมก็ดีไปครับ แต่นั่นหมายถึง ถ้าวันข้างหน้าฝรั่งมาชี้ ติติงจุดนั้นจุดนี้ของเศรษฐกิจพอเพียง ก็หวังว่าเราจะรับฟังเขาบ้าง ไม่ใช่เอะอะโวยวายไปก่อน ถ้าอย่างนั้นก็ไม่ต้องหวังหรอกครับว่าหลักอันงดงาม และมีประโยชน์เช่นเศรษฐกิจพอเพียงจะมีวันไต่ลงมาจากหิ้ง เพื่อรับใช้ประชาชน

2 comments:

Anonymous said...

อื้อ ตอนนี้ต้องทำงานอะไรที่เกี่ยวกับประเด็นเศรษฐกิจพอเพียงอยู่เหมือนกัน

จริงๆ มันเริ่มมาหลายปีแล้วแหละ แต่ตอนนั้นไม่ทันรู้ตัวว่ามันเกี่ยวโยงกับประเด็นเศรษฐกิจพอเพียงอย่างลึกซึ้ง

สองสามปีก่อนได้ทำงานชิ้นนึง คือ การอ่าน พิจารณา และคัดสรรพระบรมราโชวาทของในหลวงภูมิพล ว่าด้วย ความสุขในการดำเนินชีวิต วัตถุดิบคือ ประมวลพระบรมราโชวาทหนาประมาณแฟ้มห่วงสามนิ้วสองแฟ้ม

พบว่า พระองค์ท่านไม่ได้พูดถึงเศรษฐกิจพอเพียงลอยๆ ไม่กี่ปีมานี้ แต่ทรงเอ่ยถึงไว้นานราวมสามสิบกว่าปีที่แล้ว โดยที่พระองค์ท่านออกตัวว่าไม่ใช่ความรู้ความคิดของท่านเอง แต่ทรงจับประเด็นออกมาจากประสบการณ์ในการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนราษฎร

ความรู้และวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนไทย (ณ เวลานั้น เกินร้อยละ ๗๐ เป็นเกษตรกร)แฝงไว้ซึ่งชุดความคิดหนึ่งซึ่งสำคัญยิ่ง คือ ความพอมีพอกิน และพึ่งตนเอง

แนวคิดนี้เองที่เป็นฐานสำคัญในโครงการพัฒนาอีกนับพันโครงการของพระองค์ท่าน

แนวคิดร่วมสมัยในการพัฒนาสำนักตะวันตกนิยม พูดถึงคำว่า "ระเบิดจากภายใน" ซึ่งคำนี้มีอยู่มานานในวิถีของคนตะวันออก เพียงแต่น่าเสียดายนักที่ในกรณีของประเทศไทย ความคิดแบบนี้ไม่ได้ถูกต่อยอด ตรงกันข้ามกลับถูกกดปุ่มให้หยุดทำงาน ด้วยแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ที่เราใช้นักวิชาการจากธนาคารโลกมาทำให้แบบล้วนๆ

เกือบห้าสิบปีที่คนไทยเลี้ยวออกจากถนนสายเดิม วันนี้เมื่อกระแสทุนและการบริโภคไหลท้นจนท่วมสังคมไทย แนวพระราชดำริกลับถูกหยิบยกมาพูดถึง

แต่ก็อย่างที่ "นักเขียน" ตั้งข้อสังเกต แนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง กำลังถูกทำให้กลายเป็น "แบรนด์" เพื่อตีตราว่าผมมีความรู้ ฉันรักในหลวง ผมเข้าใจมันอย่างลึกซึ้ง คุณไม่เข้าใจมันหรอก กระทั่ง ๔กทำให้กลายเป็น "ของบนหิ้ง" ที่แตะไม่ได้

การพูดถึง เศรษฐกิจพอเพียง ในแง่ปรัชญา นั้นน่าสนใจทีเดียว แต่อย่าลืมว่า ปรัชญานี้มาจากวิถีชีวิตของชาวบ้าน คุณจะ "ยกระดับ" มันก็ได้ ไม่แปลก แต่อย่าทำให้มันกลายเป็นเรื่องที่ชาวบ้านไม่เข้าใจ

หนังสือที่น่าสนใจเล่มหนึ่งเกี่ยวเศรษฐกิจพอเพียง เป็นงานวิชาการเชิงการสังเคราะห์ประสบการณ์ ของ อ.อภิชัย พันธเสนและคณะ ที่สังเคราะห์ความรู้จากชุดงานวิจัย เน้นมุมมองของเศรษฐกิจชุมชน จุดหนึ่งที่น่าสนใจมากก็คือ การนำเสนอ และวิเคราะห์ให้เห็นถึง "ภาคปฏิบัติการ" ของเศรษฐกิจพอเพียง

ตอนนี้ในนิตยสารสารคดีทุกฉบับ ก็จะมีบทสัมภาษณ์ที่จับประเด็นบุคคลที่น้อมนำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ ทั้งนักธุรกิจร้อยล้าน เจ้าของกิจการระดับกลาง ระดับเล็ก กระทั่งคนเมือง และชาวบ้านเดินถนน

ในมุมมองของพี่ เศรษฐกิจพอเพียง จึงเป็นทั้ง ปรัชญา วิธีคิด และรูปแบบการใช้ชีวิต ไปพร้อมๆ กัน

หลายคนเป็นห่วงที่เศรษฐกิจพอเพียงกำลังถูกทำให้กลายเป็นแฟชั่น แต่คิดในแง่ดีนี่คือโอกาสสำคัญยิ่งที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันยกระดับให้เศรษฐกิจพอเพียงพ้นจากการเป็นกระแสฉาบฉวย หรือสโลแกนโก้เก๋ ให้ได้

แต่สำคัญยิ่งนักที่ว่า การจะทำได้นั้น ต้องอาศัยความรู้ มากกว่า ความรักความศรัทธา

สังคมพร้อมจะเรียนรู้เกี่ยวกับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงอย่างจริงจังแล้วหรือยัง

เริ่มจากการเปิดโอกาสให้ทุกคนที่เปิดปากพูดถึงเศรษฐกิจพอเพียงตามที่แต่ละคนเข้าใจก่อนดีมั้ย

เพราะการไม่รู้นั้นไม่ผิด แต่การคิดว่าคนอื่นไม่รู้ แต่ตนเองเท่านั้นที่รู้จริงนั้นต่างหากที่น่าเป็นห่วง

นักวิชาการตะวันตกหลายคนพูดถึง ในหลวงภูมิพล ของคนไทยว่าเป็น "ทุนทางสังคม" ที่สำคัญยิ่ง คนไทยไม่ได้มีในหลวงอยู่ในวังหรือเหนือหัวเท่านั้น แต่เรามีพระองค์ท่านอยู่ในวิถีชีวิต และการที่เราจะมีพระองค์ท่านอยู่ในวิถีชีวิตให้ได้อย่างลึกซึ้ง เราต้องเลิกรักและศรัทธาเพียงแค่ปากและคำพูด "อ่าน" ความคิดของพระองค์จากสิ่งที่พระองค์ท่านทำให้เราเห็นในการงาน ในวิถีชีวิต

คิดแล้วลงมือทำครับ!

laughable-loves said...

สวัสดีครับ

เห็นด้วยกับประโยคนี้ของพี่มากครับ

"แต่สำคัญยิ่งนักที่ว่า การจะทำได้นั้น ต้องอาศัยความรู้ มากกว่า ความรักความศรัทธา"

ตรงนี้มันก็คาบเกี่ยวอยู่เหมือนกัน นักหนังสือพิมพ์หลายคนยอมไม่ได้ที่จะมีใครมาแตะ มาต้องเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งถ้ามองในฐานะนักวิทยาศาสตร์ ทฤษฎีใดๆ ก็ตาม ถ้าจะมีการพัฒนาได้ มันก็ต้องมาจากคำวิพากษ์วิจารณ์ แล้วก็เอาไปต่อยอด แก้ไขข้อผิดพลาด

ผมไม่อยากให้เศรษฐกิจพอเพียงเป็นคำพูดสวยหรู อยากให้สังคมไทยปรับมันมาใช้จริงๆ

แต่พูดก็พูดเถอะ มีแต่คนหาว่าสังคมไทยเป็นทุนนิยม แต่เอาเข้าจริงๆ เราเข้าใจคำว่าทุนนิยมสักแค่ไหน แล้วทำไมอยู่ดีๆ เราถึงได้กลายมาเป็นอะไรที่เราไม่เข้าใจมันเช่นนี้ไปได้

ผมก็บอกไม่ถูกเหมือนกันว่าอยู่ดีๆ จะให้สังคมไทยเปลี่ยนมาเป็นเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างไร บางที่การสร้างความเป็นแบรนด์ให้กับมัน อาจเป็นจุดเริ่มต้นอย่างหนึ่งก็ได้