J. Baldwin's "Going to Meet the Man"


นิยายเล่มแรกของนักเขียนคนหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องเป็นผลงานชิ้นแรกเสมอไป ประเด็นนี้ชัดมากในกรณีเจมส์ บาลวิน นิยายเล่มแรกของบาลวินคือ Go Tell It to the Mountain (1953) ส่วนรวมเรื่องสั้นของบาลวิน Going to Meet the Man ตีพิมพ์ปี 1965 หนึ่งรอบนักษัตรถัดจาก Go Tell It to the Mountain พอดี แต่ถ้าอ่านหลายเรื่องใน Going to Meet the Man จะเห็นว่านี่คือดราฟแรกของ Go Tell It to the Mountain ชัดๆ โดยเฉพาะสองเรื่องแรกคือ The Rockpile และ The Outing คือชิ้นส่วนนิยายเล่มแรกดีๆ นี่เอง

ความน่าสนใจของ Going to Meet the Man ก็อยู่ตรงนี้แหละ นี่คือรวมเรื่องสั้นซึ่งใช้เวลาเขียนทั้งหมดสิบสองปี เราได้เห็นวิวัฒนาการของนักเขียน แม้นิยายเล่มแรกของบาลวินจะมีชื่อเสียงสุด เรากลับรู้สึกว่า Go Tell It to the Mountain คืองานที่ค่อนข้างไร้ชั้นเชิง แม้จะมีตอนจบที่น่าใคร่ครวญ แต่เป็นความน่าใคร่ครวญประเภทคนเขียนมันคิดอะไรของมันมากกว่า

ผลงานช่วงแรกของบาลวินวนเวียนอยู่กับเรื่องศาสนา เห็นได้ชัดจาก The Rockpile และ The Outing คำถามน่าขบคิดคือบาลวินศรัทธาในพระเยซู และศาสนาคริสต์แค่ไหน ถ้าเปลี่ยนคำถามใหม่ให้ชัดเจนขึ้น คงต้องถามว่าสำหรับคนดำที่เกิดในอเมริกาช่วงต้นศตวรรษที่ 20 มีทางเลือกอื่นไหม นอกจากการเชื่อถือในพระเจ้า จากทั้งสองเรื่องสั้นซึ่งยกมา และนิยายเล่มแรกคนอ่านสัมผัสข้อขัดแย้งในตัวผู้เขียน บางทีก็อยากเชื่อในไบเบิ้ลใจจะขาด แต่ก็อดห้ามใจไม่ได้ว่ามีบางสิ่งไม่ถูกต้อง

ผลงานยุคกลางๆ ของบาลวินเริ่มแยกจากศาสนา ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเรื่องสั้นใน Going to Meet the Man เรียงลำดับยังไง แต่เข้าใจว่าน่าจะตามปฏิทิน The Man Child, Previous Condition และ Sonny's Blue มีหลายอย่างคล้ายคลึงกัน พูดถึงความเจ็บปวด การเหยียดผิว ความเจ็บช้ำและทุกข์ทนของการเกิดเป็นคนดำ (จะว่าไป The Man Child ไม่เกี่ยวกับเรื่องสีผิวเสียทีเดียวนัก) โดยเฉพาะ Sonny's Blue ถือเป็นเรื่องสั้นที่ดังที่สุดของบาลวิน และเป็นตัวอย่างวิธีนำเสนอดนตรีในงานเขียนได้อย่างมีสีสัน อีกเรื่องซึ่งเข้าทำนองดังกล่าวคือ Going to Meet the Man เรื่องสุดท้ายและเป็นชื่อหนังสือ แต่โดยส่วนตัว ไม่ถึงกับชอบเรื่องนี้มาก


สองเรื่องที่ชอบสุด คืองานยุคหลังๆ ได้แก่ The Morning, This Evening, So Soon และ Come out the Wilderness ประเด็นตอนนี้ไม่ใช่แค่คนดำประท้วงคนขาว แต่เป็นมุมมองของคนดำที่หลุดพ้นจากการเหยียดผิวออกมาแล้ว หมายถึงประสบความสำเร็จ มีเงินทอง ผ่านการยอมรับในสังคมระดับหนึ่ง พวกนี้เขามองข้อขัดแย้งทางสีผิวยังไง พูดง่ายๆ คือเป็นปัญหาจิตใต้สำนึก มากกว่าการเหยียดผิวแบบโต้งๆ เป้าจู่โจมของบาลวิน ไม่ใช่แค่โลกภายนอก คนขาว หรือคนดำที่บ้าศาสนา แต่รวมไปถึงความขัดแย้งในใจตัวละครหลัก น่าคิดว่าเนื่องจากนี่เป็นงานยุคหลังๆ ของผู้เขียน เป็นไปได้ไหมว่าความสำเร็จในหน้าที่การงานช่วยให้บาลวินมองปัญหาสีผิวด้วยมิติที่แตกต่างจากตอนแรก

สไตล์การเขียนในยุคนี้ก็น่าจับตามองสุด เป็นส่วนผสมระหว่างบาลวินยุคแรกๆ (ซึ่งโดยส่วนตัวรู้สึกว่าคล้ายๆ แนวทางของเอลิสัน) บวกกับวูลฟ์ และตบท้ายด้วยเฮมมิงเวย์/คาร์เวอร์ นอกจากจะพูดถึงความเจ็บปวดแล้ว ยังมีวิธีเล่าเรื่องแบบไหลไปเรื่อยๆ จับกลไกลำบากเช่นเดียวกับวูลฟ์ และตบจบด้วยบทสนทนาแห้งๆ มุมกล้องบุคคลที่สามแบบเฮมมิงเวย์/คาร์เวอร์ ประโยคหนึ่งที่ชอบมากจากเรื่องสั้น Come out the Wilderness คือ "วิธีโกหกที่ดีที่สุดคือการเปิดเผย เพราะความลับคือสิ่งที่ซ่อนอยู่ในความมืด พร้อมจะถูกลากออกมาที่สว่างเมื่อไหร่ก็ได้ แต่สิ่งใดก็ตามที่ว่างไว้ในที่โล่งแจ้ง สามารถหลอกลวงสายตาได้ดียิ่งกว่า เพราะแสงช่วยเปลี่ยนแปลงสภาพความจริงไปได้เรื่อยๆ "

ตอนที่อ่าน Go Tell It to the Mountain จบ ตั้งใจว่าจะไม่อ่านหนังสือบาลวินอีกแล้ว บังเอิญมี Going to Meet the Man ติดบ้านพอดี พออ่านรวมเรื่องสั้นเล่มนี้ ก็สนใจจะติดตามผลงานเล่มอื่นๆ (ยุคหลังๆ ) ของนักเขียนผู้นี้ต่อไป

No comments: