P. Brooks's "Reading for the Plot"

เห็นด้วยกับบรูคส์ว่า การวิเคราะห์วรรณกรรมสายสัญศาสตร์ โครงสร้างนิยมแบบฝรั่งเศส (เกรมาส บาร์ต เลวีสเตราส์ ฯลฯ) มีข้อบกพร่องอยู่ที่การมองข้ามมิติเวลา และแปรทุกอย่างให้เป็นอนุภาคซึ่งสัมพันธ์กันอยู่นิ่งๆ แต่วรรณกรรมเป็นงานศิลปะที่ต้องเสพภายใต้ข้อจำกัด และการควบคุมของเวลา (อาจจะยิ่งกว่างานศิลปะแขนงใดเลยด้วยซ้ำ) ดังนั้นการดึงเวลาออกไปจากการวิเคราะห์งานวรรณกรรม ก็เหมือนคนตาบอดสีที่พยายามวิจารณ์งานศิลปะสกุล fauvist (ตัวอย่างเช่น สี่เหลี่ยมเกรมาสเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังมากๆ ในการอธิบายสังคมหรือคอนเซปต่างๆ แต่การปรับมันมาใช้กับวรรณกรรม ก็เหมือนเราละเลยสิ่งที่สำคัญที่สุดในวรรณกรรมไปด้วย)

พูดถึงตาบอดสี จำไม่ได้แล้วว่าเป็นพลาโตหรืออริสโตเติลที่บอกว่า มนุษย์เราได้รับความเพลิดเพลินจากลายเส้นดินสอสีดำซึ่งถูกขีดเขียนอย่างตั้งใจ มากกว่าหลากหลายสีสันที่ประเดประดังลงไปบนผืนผ้าใบอย่างไร้ระเบียบ ระเบียบของวรรณกรรม (ในที่นี้คือลำดับเหตุการณ์) นั่นเองคือ โครงเรื่องหรือ plot ซึ่งเป็นหัวข้อหลักของหนังสือเล่มนี้

บรูคส์เขียนหนังสือเล่มนี้ให้นักวิจารณ์ มากกว่านักเขียน ดังนั้นมันจึงมีประโยชน์ในฐานะคู่มือการเขียนเกี่ยวกับนิยาย มากกว่าการเขียนนิยายโดยตรง บรูคส์เรียกเหตุการณ์ "ใน" นิยายแต่เกิด "ก่อน" นิยายจะเริ่มต้น และเกิด "หลัง" นิยายจบลงไปแล้วว่า the unnarratable หรือเรื่องที่ "เล่าออกมาไม่ได้" ส่วนที่เล่าออกมาไม่ได้ในตอนต้นและตอนท้าย ผลักดันและดึงดูด plot ให้ดำเนินต่อไปข้างหน้า เหมือนโลมากระโดดขึ้นเหนือผิวน้ำได้เพราะแรงส่งของมวลน้ำ และสุดท้ายก็ต้องคืนกลับสู่ผิวน้ำอยู่ดี วงโคจรของ plot เริ่มต้นและจบลงที่ the unnarratable เสมอ แต่ขณะเดียวกันก็จะมีการย้ำคิดย้ำทำให้ผู้อ่านระลึกถึง the unnarratable (ทั้งส่วนต้นและส่วนท้าย) อยู่เสมอ (ถ้าจะฝืนให้อุปมาเดียวกัน ก็คงคล้ายๆ การสะบัดน้ำกลางหาวของปลาโลมา)

1 comment:

hosted virtual call center said...

Hi! Thanks so much for taking the time to share your post; this posting has evoked the most response.