B. Maddox's "Freud's Wizard"

สมมติว่าเราเป็นศิลปิน เป็นนักคิด หรือนักปรัชญา แล้วเราต้องการตั้ง "ขบวนการ" เพื่อเผยแพร่แนวคิด อุดมคติของเรา เป็นไปได้ไหม ที่เราจะแยกแยะระหว่างแนวคิด และตัวผู้ร่วมขบวนการ (กล่าวคือ เราต้องการให้สาธารณชนสนใจสิ่งที่เราพูด โดยไม่ได้ยึดติดว่าเขาชื่นชอบใครคนใดในกลุ่ม) ถ้าบอกว่าแต่ละสมาชิกต้องสร้างความโดดเด่นให้กับตัวเอง ประวัติศาสตร์มีพื้นที่ความทรงจำมากพอจะจดจำสมาชิกได้เกินสองสามคนด้วยหรือ

ถ้าไม่ได้ศึกษา surrealism มาโดยตรง นอกจากดาลี และมากริตต์ คนทั่วไปรู้จักเบรอตง แอร์นส์ เอลูอาร์ดหรือเปล่า ขนาดเราเอง ถ้าถามว่า dadaism มีใครบ้าง นอกจากดูชอง ยังต้องคิดหนักเลย ข้ามไปเรื่องการเมืองบ้าง ในการปฏิวัติคิวบา มีใครรู้จักสมาชิกขบวนการที่ไม่ใช่เช ไม่ใช่คาสโตรบ้าง ในเมืองไทย ถ้าพูดถึง "นักหลังสมัยใหม่/postmodernist" คนก็อาจนึกออกแค่ปราบดา หยุ่นเท่านั้น

เราคงต้องยอมรับว่า ประวัติศาสตร์ หรือสาธารณชนไม่ได้มีพื้นที่ความทรงจำมากพอจะจดจำชื่อสมาชิกกลุ่มมากกว่าสองคน ("กฎแห่งสอง") เราจึงไม่อาจแบ่งแยกระหว่าง "กลุ่ม" และ "สมาชิก" การที่ขบวนการจะยก "เซเลป" ขึ้นมาคนหนึ่งเพื่อให้เป็นที่จดจำของสาธารณชน อาจหลีกเลี่ยงไม่ได้

นี่คือความคิดที่วนเวียนอยู่ในหัวเราระหว่างอ่าน Freud's Wizard นี่คือชีวประวัติของนักเขียนชีวประวัติ ก่อนหน้านี้เราแทบไม่เคยได้ยินชื่อดอกเตอร์โจนส์มาก่อน หลังจากอ่านทั้งเล่มนี้จบ แน่นอนว่าในแวดวงวิชาการจิตวิเคราะห์งานของเขาคงส่งอิทธิพลจริงนั่นแหละ แต่สำหรับคนนอกแล้ว คงจดจำได้แค่หนังสือชีวประวัติของฟรอยด์ที่โจนส์เขียนขึ้นในช่วงท้ายของชีวิต ไม่ว่าดอกเตอร์โจนส์จะยิ่งใหญ่ มีคุณูปการแค่ไหน ประวัติศาสตร์ก็ไม่คิดจะจดจำใครอื่นในขบวนการจิตวิเคราะห์นอกจากฟรอยด์ และญุงนั่นเอง ("กฎแห่งสอง" confirmed!)

1 comment:

hosted virtual call center said...

I have wanted to learn more about particular topics, but not many websites would help me out in informing me the way I expected. This left me with many question, but after reading your article, I got an answer to all my questions. You are too cool dude!!!