I. Kant's "Critique of Practical Reason"

หนึ่งในปัญหาคลาสสิคของปรัชญาตะวันตกคือ causality (กฎแห่งเหตุและผล) ปะทะ morality (กฎแห่งศีลธรรม) สุดโต่งด้านหนึ่งคือฮูม ผู้เชื่อว่าโลกใบนี้เป็นนาฬิกาเรือนใหญ่ ทุกสรรพสิ่งเคลื่อนที่ตามกลไก เหตุและผลของมัน จึงเป็นเรื่องเปล่าดายที่มนุษย์จะเปลี่ยนแปลงอะไร เจตจำนงค์อิสระไม่มีจริง และศีลธรรมไม่มีความหมาย อีกด้านหนึ่ง สปิโนซาบอกว่า พระผู้เป็นเจ้าคือสสารใหญ่สุดหนึ่งเดียว ทุกเหตุการณ์ในโลกเกิดจากพระองค์แบ่งแยกตัวเองออกมา ดังนั้นทุกสิ่งจึงอยู่นอกเหนือความพยายามของมนุษย์ เจตจำนงค์อิสระไม่มีจริง และศีลธรรมไม่มีความหมาย

จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าสุดโต่งทางไหน ข้อสรุปเดียวกันหมดคือศีลธรรมเป็นเรื่องลวงตา (หมายเหตุ: อันนี้คือรักชวนหัวอ่านคานท์อ่านฮูมและสปิโนซา ถ้าผิดจากนี้ อาจจะไม่ได้ผิดที่เรา แต่ผิดที่คานท์ก็ได้นะ)

ใน Critique of Practical Reason คานท์พยายามดึงเอาศีลธรรมกลับมา เขาแบ่งสรรพสิ่งในโลกออกเป็นสองประเภท คือ phenomenon (ปรากฏการณ์) และ noumenon phenomenon ปรากฏให้เราเห็น ผ่านการรับรู้ และอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์แห่งเหตุและผล (ใน Critique of Pure Reason คานท์อธิบายว่ากฎแห่งเหตุและผล เป็นเพียงกรอบที่การรับรู้ของมนุษย์นำมาครอบปรากฏการณ์เท่านั้น)

ดังนั้นอะไรที่อยู่นอกเหนือไปจาก phenomenon (ซึ่งก็คือ noumenon หรือ -- ถ้าใครอ่านปรัชญาเยอรมัน คำที่ทุกคนจะเจอ และจะงงโคตรๆ เมื่อเจอหนแรกคือ -- thing-in-themselves นั่นเอง) เราไม่สามารถใช้กฎแห่งเหตุและผลอธิบายได้ เช่น "เพราะนาย a มีจิตใจอันโหดร้าย เขาจึงทำร้ายนาย b" จิตใจอันโหดร้ายของนาย a เป็น noumenon (ไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่สัมผัส รับรู้ได้) จึงไม่อาจนำมาผนวกในประโยคเหตุและผลเช่นนี้ เช่นเดียวกับประโยค "ถ้าในปี 2554 พรรคประชาธิปัตย์ชนะการเลือกตั้ง ประเทศไทยจะไม่ประสบอุทกภัย" ทั้งเหตุและผลของประโยคนี้ก็เป็น noumenon กันทั้งคู่

คานท์อธิบายว่า จริงอยู่ที่ทุกปรากฏการณ์อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์แห่งเหตุและผลเหมือนกับนาฬิกาเรือนยักษ์ของฮูม แต่ถ้าเราสาวเหตุและผลย้อนหลังต่อๆ กันไปเรื่อยๆ เราจะเจอกับ noumenon ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะอยู่ในรูปของ "นาย a ทำร้ายนาย b เพราะเขามีจิตใจอันโหดร้าย" สิ่งที่นาย a ทำ ไม่ได้อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์แห่งเหตุและผลแล้ว เพราะมันมาจากแรงขับเคลื่อนภายในตัวนาย a เอง เราสามารถใช้ศีลธรรมมาตัดสินการกระทำของนาย a ได้ นาย a อาจจะอ้างสาเหตุที่ตัวเขามี "จิตใจอันโหดร้าย" (ซึ่งส่งผลไปยังการกระทำของเขา) ว่าเป็นเพราะการเลี้ยงดูอย่างผิดๆ โดยพ่อแม่ แต่สำหรับคานท์ internal causality ไม่ใช่ phenomenon ดังนั้นไม่อาจถือเป็น causality ได้

สรุปแบบเท่ๆ เจตจำนงค์อิสระสถิตอยู่ในเส้นที่ noumenon ก้าวผ่านออกมาเป็น phenomenon นั่นเอง