J. Weatherford's "The History of Money"

แปลกดีที่ คำพูดบางคำจากหนังสือบางเล่มไม่ได้ฉลาดหรือคมคายอะไรเลย แต่กลับฝังแน่นในหัวเรา เช่น ในนิยาย Timeline ของไมเคิล คริชตัน ตอนที่นักวิทยาศาสตร์จะอธิบายให้นักประวัติศาสตร์ฟังว่ายานย้อนเวลาทำงานได้ยังไง คำพูดที่เขาใช้คือ "เนื่องจากพวกคุณเป็นนักประวัติศาสตร์ ผมจะเล่าประวัติศาสตร์ให้ฟัง" จากนั้นก็ว่ากันด้วยประวัติศาสตร์ของกลศาสตร์ควอนตัม (ซึ่งนำไปสู่การสร้างยานย้อนเวลาแบบโม้ๆ )

ตั้งแต่เกิดวิกฤติการเงินในประเทศอเมริกา ที่อาจจะพลิกโฉมโลกทั้งใบ (จากพญาอินทรีในฐานะเจ้าโลก มาเป็นพญามังกร) เราก็พยายามหาหนังสือเกี่ยวกับปรากฏการณ์ดังกล่าวมาอ่านตลอด แต่ไม่รู้ว่าหัวทึบกว่าคนปกติหรืออย่างไร อ่านยังไงก็เหมือนคอนเซปต์มันไม่เข้าไปเรียงตัวในหัวเลย ขอบคุณแจค เวเธอฟอร์ดจริงๆ ความรู้สึกตอนนี้เหมือนเราเดินไปขอให้เขาอธิบายวิกฤติการเงินให้ฟัง เวเธอฟอร์ดฟาดเปรี้ยงหนังสือที่ตัวเองเขียนมาตรงหน้าเรา แล้วพูดว่า "ผมจะเล่าประวัติศาสตร์ให้คุณฟังก็แล้วกัน"

วิธีที่ดีที่สุดที่จะเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นบนวอลสตรีท ก็ต้องย้อนกลับไปสมัยจักรพรรดิเนโรนั่นเอง

จักรพรรดิเนโรแห่งกรุงโรม ปกครองอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกยุคนั้น (ศตวรรษที่หนึ่ง) พระองค์ต้องทำสงครามกับคนป่าเถื่อนที่อยู่รายรอบอาณาจักร เพื่อการนั้นจึงต้องใช้เงินมาหล่อเลี้ยงกองทัพ ในที่สุดเมื่อเนโรประสบปัญหาในการจัดสรรทุนมาทำสงคราม พระองค์ก็คิดวิธีอัจฉริยะขึ้นมาได้ นั่นคือเรียกเก็บเหรียญเงินทั่วราชอาณาจักร หลอมให้มีขนาดเ็ล็กลง แต่ปั้มราคาเท่าเดิม แล้วแจกจ่ายกลับไปให้ชาวบ้าน (พอถึงยุคของเนโร เงินก็ไม่ได้มีคุณค่าในตัวมันเองแล้ว แต่ใช้เป็นแค่อัตราแลกเปลี่ยนเท่านั้น) ด้วยวิธีนี้ จักรพรรดิสามารถเก็บส่วนต่างของเงิน มาหลอมเป็นเหรียญเพิ่มขึ้นได้

เนโรหรือจะทรงคาดคิดได้ว่า นั่นเป็นครั้งแรกที่ปรากฏการณ์เงินเฟ้อเกิดขึ้นในโลก ทันทีที่มีเงินในระบบมากขึ้น แต่สินค้าในตลาดเท่าเดิม ผู้คนก็แย่งกันซื้อของด้วยวิธีเสนอราคาที่สูงกว่าเดิม (ในโลกสมัยใหม่ ปรากฏการณ์สินค้ามีไม่พอกับความต้องการของตลาดดูจะเป็นเรื่องน่าเหลือเชื่อ แต่พอนึกย้อนกลับไปจักรวรรดิโรมันเมื่อสองพันปีที่แล้ว ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้เลย นี่คือข้อดีอย่างหนึ่งของการพยายามทำความเข้าใจเศรษฐศาสตร์ผ่านประวัติศาสตร์) เงินเพิ่มมากขึ้นจริงแต่กลับมีกำลังซื้อน้อยลง

เนโรและจักรพรรดิโรมันคนต่อๆ วนเวียนอยู่ในวัฏจักรของเงินเฟ้อ และการลดขนาดเหรียญตราเช่นนี้ (ว่ากันว่า ผ่านไปหนึ่งร้อยปี เหรียญเงินโรมันมีขนาดเล็กกว่าเดิมเกือบสี่เท่า) ความล่มสลายทางเศรษฐกิจเป็นที่มาของความล่มสลายของอาณาจักรในด้านอื่นๆ ด้วย (สุดท้ายโรมันก็ถูกกองทัพ "คนเถื่อน" ของชาลีมัง ตีแตกจนแพ้พ่าย)

ระบบเงินตราอาจพัฒนาจากเหรียญกษาปณ์ มาเป็นเงินกระดาษ เงินเชื่อ และตราสารหุ้น แต่ที่สุดแล้ว ความล้มเหลวบนวอลสตรีทก็ยืนพื้นอยู่บนความล้มเหลวเดียวกันกับของอาณาจักรโรมันนั่นเอง

2 comments:

price per head said...

Thanks for the amazing article here. I was searching for something like that for quite a long time and at last I have found it here. Your blog is better than others because of useful and meaningful posts.

Unknown said...

replica bags seoul replica bags new york replica bags online pakistan