M. Duras's "The Lover"

รู้สึกไม่ค่อยแฟร์กับนิยาย แต่สารภาพว่าที่เราหยิบ The Lover มาอ่าน ไม่ใช่เพราะเราสนใจตัวนิยาย เท่ากับบทวิเคราะห์นิยายด้วยปรัชญารื้อสร้างของเดริดา ที่ติดพันมาจากหนังสือ The Novel after Theory ยังความฉงนแก่ตัวเรามิรู้คลายว่าสรุปแล้ว การวิพากษ์วรรณกรรม มันมีประโยชน์หรือเปล่า ถ้ามี มีกับใคร ผู้แต่งหรือคนอ่าน

พออ่าน The Lover จริงๆ เราชักสงสัยว่าการตระหนักถึงปรัชญารื้อสร้างตลอดเวลา มันช่วยหรือมันทำลายนิยายกันแน่ ถ้าอ่านแบบไรอัน จะให้ความสำคัญกับรูปถ่ายของนางเอกเป็นพิเศษ รูปถ่ายที่สุดท้ายแล้วก็ไม่ได้ถ่าย แต่ไรอันเชื่อว่า รูปถ่ายที่หายไปนี้ คือจุดศูนย์กลางของนิยาย ("จุดศูนย์กลางที่อยู่ภายนอก" ถ้าใช้ศัพท์ของนักรื้อสร้าง) และเป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดการเขียนนิยายเรื่องนี้ขึ้นมา แต่พอมาอ่านที่ดูราส์เขียนจริงๆ เราก็ไม่รู้สึกว่ารูปถ่ายนั้นจะเป็นประเด็นสักเท่าไร

และการให้ความสำคัญกับอัตลักษณ์ของนางเอกที่มากับการรื้อสร้าง มันจะไปแย่งประเด็นอาณานิคมศึกษา ซึ่งน่าจะเป็นหลักใหญ่ของนิยายเรื่องนี้มากกว่าหรือเปล่า สำหรับคนที่ไม่รู้ The Lover เป็นนิยายกึ่งอัตชีวประวัติของดูราส์ เล่าเรื่องสมัยที่เธอเป็นวัยรุ่น และเติบโตอยู่ในเวียดนาม (สมัยนั้นยังเป็นประเทศอินโดจีนอยู่ คือรวมพื้นที่ลาว เวียดนาม และกัมพูชาเข้าด้วยกัน ในนิยายมีการกล่าวถึงบ้านริมฝั่งแม่น้ำโขง และการนั่งชมภูเขาในดินแดนสยาม ซึ่งจริงๆ ควรจะเปลี่ยนชื่อเป็นไทยได้แล้ว อ้าว!)

ความน่าสนใจของนิยายน่าจะอยู่ที่ภาวะ "ล่าอาณานิคมย้อนกลับ"​ กล่าวคือครอบครัวของนางเอกเป็นคนขาวที่ยากจน เพราะพ่อซึ่งมีอาชีพข้าหลวงต่างแดนไม่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ทิ้งภรรยาและลูกสามคนไว้กับความแร้นแค้น กลับกลายเป็นคนรักชาวจีนของนางเอก ลูกชายมหาเศรษฐีที่ช่วยจุนเจือครอบครัว โดยทั้งสองคบกันทั้งที่รู้ว่าความสัมพันธ์นี้ไม่มีอนาคต (ไรอันไม่ได้แตะประเด็นนี้เลย)

ในแง่หนึ่ง The Lover อาจจะเหมาะกับการอ่าน ภายใต้ฐานคิดเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในศตวรรษที่ 21 ความพ่ายแพ้ของคนขาว ความร่ำรวยของชาวจีน และโลกที่จุดศูนย์กลางถูกเหวี่ยงทิ้งกระจัดกระจาย ถ้าให้เราอ่านนิยายเรื่องนี้เชิงทฤษฎี เราคงจะจับภาวะรื้อสร้างในความสัมพันธ์ระหว่างรัฐมากกว่าในเชิงอัตชีวประวัติ