
คำถามศูนย์กลางของ The Limits of Organization คือทำไมประชาชน พนักงาน หรือปัจเจคบุคคลต้องทำตามคำสั่ง หรือกฎเกณฑ์ขององค์อธิปัตย์ หรืออำนาจในสังคม บริษัท หรือหน่วยงานใดๆ ก็ตามที่ปัจเจคผู้นั้นเป็นส่วนหนึ่งด้วย The Limits of Organization ถอดความมาจากเลคเชอร์ของนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล เคนเนธ แอโรว์ จริงๆ แล้วต้นเล่มแอโรว์พูดถึงข้อดีข้อด้อยของกลไกตลาดด้วย แต่พักเรื่องนั้นไว้ก่อนชั่วคราวก็แล้วกัน
แอโรว์วิเคราะห์ความสัมพันธ์ในองค์กรโดยอ้างทฤษฎีข้อมูล อุปมาซึ่งเราชอบมาก และน่าจะนำไปสู่คำถามอื่นที่น่าขบคิดได้คือ แอผู้นำองค์กรเสมือนระบบสัญญาณไฟจราจร ไฟเขียวไฟแดงนั้นไม่ได้เปิดปิดกันมั่วๆ แต่มีหลักการซึ่งตอบสนองกับความหนาแน่นของเขตจราจร และสี่แยกต่างๆ ถ้าคนกรุงเทพทุกคนมีพลังจิตสื่อสารกันได้ เราก็ไม่ต้องใช้สัญญาณไฟจราจร เพราะนั่นเท่ากับคนกรุงเทพทุกคนรู้ว่าเขตการจราจรทุกเขตเป็นอย่างไร และตัดสินใจได้ว่าฉันควรจะขับรถไปข้างหน้า หรือหยุดรอตรงสี่แยกนี้อีกสักพักหนึ่ง แต่เนื่องจากคนกรุงเทพไม่มีพลังจิต ระบบการจราจรถึงถูกสร้างขึ้นมาเพื่อ 1) รวบรวมข้อมูลการจราจรของทุกสี่แยกในกรุงเทพ และ 2) นำข้อมูลเหล่านั้นมาตัดสินใจผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์
อีกนัยหนึ่งคือ ผู้นำ หรือองค์อธิปัตย์มีอำนาจการตัดสินใจแทนปัจเจคในองค์กรเนื่องจากเขา หรือพวกเขาทราบข้อมูลทุกอย่าง ทุกแง่มุม ซึ่งปัจเจคไม่ทราบนั่นเอง
การเข้าใจระบบการจราจรน่าจะช่วยให้เราเข้าใจพื้นฐานของระบบอื่นๆ ในสังคม ตั้งแต่เศรษฐกิจ ถึงการเมืองด้วย ยกตัวอย่างเช่น ศูนย์การจราจรคงไม่ได้เปิดไฟเขียวไฟแดงเพื่อให้ทุกเขตหนาแน่น หรือเบาบางเท่าๆ กันหมดแน่ ถ้ามีบุคคลสำคัญอยู่บนถนนสุขุมวิท แน่นอนว่าการจราจรบนถนนสุขุมวิทก็จะว่างขึ้นมาอย่างกะทันหัน หรือต่อให้ไม่มีใครอยู่ที่นั่น สุขุมวิท เพชรบุรี ราชดำเนิน ในฐานะที่เป็นถนนสายหลัก ก็ต้องได้รับความสำคัญเหนือถนนสายอื่น ถ้าสุขุมวิทติดบรรลัย สายอื่น สายเล็กสายน้อยก็จะติดตามไปด้วย ดังนั้นต้องระบายสุขุมวิทให้ได้ก่อน
อีกปัญหาที่น่าสนใจไม่แพ้กัน เป็นปัญหาทางจิตวิทยา ทำไมคนกรุงเทพถึงได้เชื่อฟังสัญญาณไฟจราจรนัก แน่นอนว่าไม่ใช่เพราะเรากลัวตำรวจจราจร ทำไมคนกรุงเทพที่ชอบคิดว่าตัวเองรู้ดีกว่าคนอื่นถึงไม่ขับรถฝ่าไฟแดง แสดงว่าต้องมีสัญลักษณ์ของอำนาจบางอย่างในสัญญาณไฟจราจร (อย่าอ้างว่าการจราจรเป็นเรื่องเล็กน้อย เพราะอย่างที่รู้ๆ กัน "เวลา" นั้นเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุด สำคัญเสียยิ่งกว่าเงินทอง หรืออิสรเสรีภาพเสียอีก)
สำหรับคนกรุงเทพที่บ่นเรื่องรถติดกระปอดกระแปดมาตั้งแต่สิบยี่สิบปีที่แล้ว เรารู้อะไรเกี่ยวกับกับการจราจรน้อยมากๆ !