L. Carrington's "The Hearing Trumpet"


ตั้งแต่ตอนที่อ่าน Nadja เราก็ครุ่นคิดของเรามาตลอดว่าวรรณกรรมเซอเรียลเป็นอย่างไร มีใครเขียนแนวนี้บ้าง และจะเขียนให้ดีๆ สักเล่มได้อย่างไร (ให้เจาะจงกว่านี้คือ เขียนอย่างไรให้ออกมาดีกว่าที่เบรตัน บิดาแห่งวรรณกรรมเซอเรียลเขียน) อย่างที่เคยพูดไปแล้ว ปัญหาของวรรณกรรมเซอเรียลไม่ใช่ว่าคนอ่านรับความเหนือจริงไม่ได้ แต่มันจะแบ่งแยกตัวเองออกจากวรรณกรรมเหนือจริงแนวอื่นได้อย่างไร โดยเฉพาะสัจจนิยมมายา ซึ่งเหมือนจะเป็นแชมป์ ครองความเหนือจริงทางวรรณกรรมเอาไว้แทบทั้งหมด

แองเจลา คาเตอร์คลับคล้ายคลับคลาว่าจะเป็นคำตอบที่เราค้นหา ในจำนวนนักเขียนโปรดสิบกว่าคนของเรา เธอเขียนเรื่องแนวเหนือจริงอยู่คนเดียว กระนั้นก็ตาม เคยได้อ่านได้ยินมาว่านิยาย และเรื่องสั้นของคาเตอร์เป็นแนวตำนานนิยม (mythologism) มากกว่า surreal ซึ่งเราก็ค่อนข้างเห็นด้วยนะ แม้จะยังไม่ชัดเจนในความแตกต่างระหว่างสอง genre นี้ พื้นฐานการเขียนของคาเตอร์อิงอยู่กับนิทาน ตำนานโบร่ำโบราณ มากกว่าทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์ (ซึ่งแตกต่างจากศิลปิน surrealist อย่างมากริต หรือเดลี)

The Hearing Trumpet คือส่วนผสมของเซอเรียล และตำนาน ช่วงร้อยแปดสิบหน้าแรกเป็นนิยายเหนือจริง ว่าด้วยการผจญภัยของ "ฉัน" ในบ้านพักคนชรา (ด้วยอายุเก้าสิบสอง ตัวเอกของแคริงตันน่าจะเป็นตัวเอกที่ชราภาพสุดในนิยายเรื่องไหนๆ ) มีทั้งคดีฆาตกรรม ปริศนาลึกลับของแม่ชีในรูปวาด จิตแพทย์ที่สติแตกยิ่งกว่าคนไข้ และชมรมคนทรงเจ้า พอถึงยี่สิบหน้าสุดท้าย ใกล้จบนิยาย แคริงตันโยนความจริงทิ้ง และผัน The Hearing Trumpet ให้กลายเป็นตำนานนิยมเต็มตัว เริ่มจากเทวดาหกปีกบินหนีจากหอคอยคุมขัง แผ่นดินไหวถล่มโลกา และยุคน้ำแข็งมาเยือน

ความแตกต่างระหว่างช่วงแรก และช่วงใกล้จบของ The Hearing Trumpet รวมไปถึงความแตกต่างในสไตล์การเขียนของแคริงตัน และคาเตอร์ เป็นเรื่องน่าศึกษา สำหรับใครก็ตามที่อยากเขียน หรือเข้าใจนิยายแนวเหนือจริง โมทีฟเรื่องเพศของแคริงตันไม่ชัดเจนเท่าคาเตอร์ ขณะที่องค์ประกอบเหนือจริง และสมจริงในนิยายของคาเตอร์ปะปนกันอย่างแยกไม่ออก เราจะเห็นความสมดุล และกลศาสตร์ระหว่างสององค์ประกอบนี้ในนิยายของแคริงตัน เพราะนิยายแนวเหนือจริง ไม่ใช่การละทิ้งความจริงโดยสิ้นเชิง

ความล้มเหลวในนิยายแนวเหนือจริงของคนไทยที่เคยๆ อ่านมา คือการสร้างนิยายนามธรรม (abstract) ซึ่งหลุดจากกรอบความจริง และการเล่าเรื่องโดยสิ้นเชิง เราเชื่อว่านี่คือความคิดที่ผิดพลาด งานเขียน โดยเฉพาะนิยาย ถึงอย่างไรก็ต้องมีโครงสร้างการเล่าเรื่องปะปนอยู่ กระทั่งใน The Hearing Trumpet การเล่าเรื่องเพิ่งมาพังทลายในช่วงยี่สิบหน้าสุดท้าย จริงๆ แล้วเราชอบช่วงนี้มาก เป็นการส่งต่ออย่างเป็นธรรมชาติระหว่างแนวเหนือจริง และแนวตำนานนิยม ที่สำคัญคือมันไม่ยาวเกินไป ถ้าการเปลี่ยนแปลงตรงนี้เกิดช่วงกลางๆ เล่ม ก็บอกไม่ได้เหมือนกันว่า หากต้องอ่านอะไรมั่วๆ สั่วๆ ร้อยกว่าหน้า จะยังชอบมันได้อยู่หรือเปล่า

1 comment:

black forest said...

สวัสดีปีใหม่ 2009 จ้า

ขออวยพรให้น้อง Laughable Loves จงประสบความสำเร็จในทุกสิ่งที่ปรารถนา และมีความสุขความสมหวังตลอดปี 2009 และตลอดไป

ปล. มีหนังสือเล่มใหม่ออกมาอีกเมื่อไหร่ อย่าลืมส่งข่าวกันบ้างนะ พี่จะได้ไปช่วยเสียตังค์ :)