เสน่ห์ของความล้าหลัง

1.

ผม และเพื่อนเคยไปแวะชมสถาปัตยกรรมอันมีชื่อเสียง ที่วัดแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ พวกเราไปถึงเวลาทำวัตรเย็น จึงถือโอกาสเข้าร่วมพิธีอยู่ท้ายอุโบสถ บรรยากาศงดงามยากจะบรรยาย ข้างนอกโพล้เพล้ ข้างในสว่างไสวด้วยแสงเทียนส่ององค์พระประติมา และพระมนุษย์ต่างพรรษา ก่อเกิดรูปเงาประหลาด "ขลัง" อย่างบอกไม่ถูก เสียงสวดมนต์เสนาะ ขนาดคน "ไม่มีศาสนา" อย่างผม ฟังทีไรก็ยังจับใจเมื่อนั้น

แต่รายละเอียดที่ยกระดับฉากนี้ให้ประทับตราตรึงคือบรรดาพระเด็ก พระอ่อนพรรษาท้ายกลุ่ม นั่งกันอย่างไม่เป็นระเบียบ บ้างขโยกเขยกไปมา สลับขาซ้ายทับขวา ขาขวาทับขาซ้าย โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับพระอาจารย์ที่แก่พรรษากว่า พวกท่านนั่งหันหลัง ตัวตรง นิ่งสนิทประหนึ่งพระพุทธรูปที่กำลังบูชา

นอกจากเราสองคน มีฝรั่งนักท่องเที่ยวอีกคู่อยู่ข้างๆ ผู้ชายเข้าใจว่าคงใส่กางเกงขาสั้นมา จึงต้องคาดผ้าขาวม้าที่ทางวัดเตรียมไว้ ดูกระโดกกระดากชอบกล ผมสังเกตว่าเขานั่งชันเข่าโดยหันปลายเท้าไปทางพระประธาน ในฐานะ "ยามวัฒนธรรม" ซึ่งเป็นหน้าที่ที่คนไทยถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก ผมคลานเข่าเข้าไปหา ฟุตฟิตฟอไฟ บอกว่ายูนั่งแบบนี้ไม่ได้นะ คนไทยเราไม่ชอบเห็นใครชี้ปลายเท้าไปทางพระ แทนที่จะโกรธ หรือทำหน้างงๆ เขายิ้มให้แวบหนึ่ง รีบเก็บขาเข้าไป

ผ่านมาเกือบห้าปีแล้ว ช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา ผมครุ่นคิดถึงรอยยิ้มนั้น

2.

ป่านนี้คนไทย (ผู้สนใจ) คงได้รับชมภาพยนตร์เรื่อง แสงศตวรรษ กันเป็นที่อิ่มหนำสำราญ แม้จะมีหกฉากถูกตัดไป แต่ก็มี "ความมืด และความเงียบแห่งการทำลายล้าง" มาให้ชมทดแทน ไม่ขอกล่าวถึงที่มาที่ไปของภาพยนตร์เรื่องนี้นะครับ ไปหาอ่านกันเอาเอง

ช่วงนี้ทำหนังสั้นกับผู้กำกับ โดยเล่นประเด็นเซนเซอร์ แสงศตวรรษ นี่แหละ ระหว่างค้นข้อมูล ก็ได้พบพงศาวดารน่าสนใจ เช่น เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว อุปราการรามเกียรติของคุณสมเถา สุจริตกุลก็ถูกเซนเซอร์เหมือนกัน โดยผู้มีอำนาจมองว่าฉากไคลแมกซ์ ความตายของทศกัณฐ์รุนแรง ไม่เหมาะสม และขัดกับประเพณีโขน รายละเอียดตรงนี้ก็หาอ่านทางอินเตอร์เน็ตได้ไม่ยากเหมือนกันครับ

อีกเรื่องซึ่งใกล้เคียง แต่ก็อาจจะไม่เกี่ยวกับเซนเซอร์ทีเดียวนัก และกำลังเป็นที่โด่งดังคือกรณีปฏิเสธการยืนตรงเคารพเพลงสรรเสริญฯ ในโรงภาพยนตร์ ผมได้อ่าน forward mail ที่เจ้าตัวเล่าเหตุการณ์ ไม่ได้ติดอกติดใจกับประเด็นการเมือง หรือเรื่องสิทธิ เสรีภาพอะไรนัก (ปล่อยให้คนที่เขาอยากโต้เรื่องนี้ ไปโต้กันเสียให้พอ) แต่สะดุดใจกับตอนที่มีคนมาเตือนเขาครั้งแรก โดย เตือนเป็นภาษาอังกฤษ เพราะคิดว่าเขาเป็นชาวต่างชาติ

ผมอดนึกถึงรอยยิ้มเมื่อห้าปีที่แล้วไม่ได้ ถ้าชายผู้ถูกเตือนเป็นชาวต่างชาติจริงๆ เขาจะมีปฏิกริยาเช่นไร จะยิ้มตอบ แล้วยืนขึ้นแต่โดยดีหรือไม่

3.

ความหมายใดซุกซ่อนอยู่เบื้องหลังรอยยิ้มนัน ผมขอตั้งสมมติฐานแล้วกันว่าชาวตะวันตกยุคนี้คุ้นเคยกับ Joseph Conrad, Edward Said, Rudyard Kipling ถ้าไม่ได้อ่าน Orientalism ก็ เมาคลีลูกหมาป่า หรือ Heart of Darkness ก็ได้ (อย่างเลวสุดก็ต้องเคยชมภาพยนตร์ Apocalypse Now) ฝรั่งในปัจจุบันเติบโตมากับบาปการล่าอาณานิคมของปู่ย่าตายาย พวกเขายอมรับความแตกต่างในวัฒนธรรมของคนหลากท้องถิ่น หลากภาษา นักท่องเที่ยวชาวตะวันตกจึงระมัดระวังอยู่ตลอดเวลาว่าจะเผลอไปเหยียบแข้งเหยียบขา (ในเชิงวัฒนธรรม) เจ้าบ้านโดยไม่รู้ตัว

ทั้งนี้ทั้งนั้น ถ้าเผลอไปเหยียบเข้า แขกอารมณ์ดีก็ยินยอมพร้อมใจให้เจ้าบ้านว่ากล่าว ตักเตือน พูดไปไกลว่านั้น ต้องบอกว่ามันเป็นความปรารถนาของพวกเขาด้วยซ้ำ การท่องเที่ยวยุคใหม่ในสายตาชาวตะวันตกไม่ใช่เพียงไปเปิดหูเปิดตา พบเห็น ได้ยินสิ่งแปลกๆ แต่รวมไปถึงจมจ่อมตัวเองในวัฒนธรรมต่างถิ่น พวกเขาจินตนาการตนเสมือนเด็กหัดเรียน มีความสุขที่ได้ลองผิด ลองถูก และถ้าจะมีไม้เรียวเบาๆ ในรูปแบบการตักเตือนจากเจ้าบ้าน ก็พร้อมยินยอมถูกทำโทษ

รอยยิ้มของฝรั่งในวัดที่เชียงใหม่นั่น จึงเป็นรอยยิ้มของอาการพึงพอใจกับบทบาท "ยามวัฒนธรรม" ที่ผมกระทำต่อ "เด็กหัดเรียน" ผมเชื่อว่าคงเป็นรอยยิ้มเดียวกับฝรั่งสมมติ ในโรงภาพยนตร์ที่ไม่ได้ยืนตรงเคารพเพลงสรรเสริญ

4.

ผมอยากเรียกสิ่งนี้ว่า "เสน่ห์ของความล้าหลัง"

คงต้องอธิบายกันยาวถึง "ความล้าหลัง" เพราะศัพท์ตัวนี้ฟังแล้วไม่ไพเราะเอาเสียเลย ผมไม่ได้หมายถึง "ความล้าหลัง" ในแง่การประเมินค่าว่าสิ่งใดดี หรือด้อยกว่าอีกสิ่ง "ความล้าหลัง" ในที่นี้คือ "ความแตกต่าง" ถ้าจะตั้งหัวข้อบลอคนี้ว่า "เสน่ห์ของความแตกต่าง" ก็คงไม่ผิดจุดประสงค์นัก มีเรื่องสั้นใน Misreading ของอัมเบอโต อีโค ว่าด้วย "นักมานุษยวิทยา" ชาวเผ่าเอสกิโม เดินทางไปประเทศอิตาลี เพื่อสังเกตการใช้ชีวิตของ "ชนพื้นเมือง" โดยพวกเขามองวัฒนธรรมที่แตกต่างของชาวยุโรปว่า "ล้าหลัง"

"ความแตกต่าง" หมายถึงสิ่งซึ่งเราไม่คุ้นเคย ไม่ได้พบเห็นบ่อยๆ กระนั้น "ความแตกต่าง" เพียงอย่างเดียวไม่อาจครอบคลุมความรู้สึกของนักท่องเที่ยวตะวันตกในดินแดนโอเรียน และความรู้สึกของนักท่องเที่ยวไทยในดินแดนออกซิเดนตัลก็ไม่สมมาตรกับนักท่องเที่ยวฝรั่ง คนไทยได้ไปเห็นความแตกต่างในรูปแบบความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีซึ่ง "เข้าใจได้" และ "เป็นเหตุผลเป็นผล" และเราไม่ประเมินสิ่งเหล่านั้นว่าล้าหลังแต่อย่างใด "ความแตกต่าง" จึงต้องมาพร้อมกับอาการ "ไม่เข้าใจ" ถึงจะกลายเป็นความ "ล้าหลัง"

การที่เราจะเข้าไปเรียนรู้ หรืออยู่อาศัยในวัฒนธรรมต่างถิ่น ในฐานะ "นักท่องเที่ยว" ไม่ว่าวัฒนธรรมนั้นจะเจริญก้าวหน้า หรือถดถอยกว่าสิ่งที่เราคุ้นชิน โจทย์ที่เราตั้งไว้ให้กับตัวเองคือ ทำอย่างไรจึงจะเวียนว่ายอยู่ในวัฒนธรรมนั้น โดยไม่จำเป็นต้องเข้าใจที่มาที่ไปของวัฒนธรรม

คำตอบก็คือเราทำตัวเป็นนักเรียนที่ดี เจ้าบ้านตักเตือนมาอย่างไรก็ยิ้มรับ ดื่มด่ำเสน่ห์ของความล้าหลังที่สิ่งแวดล้อมหยิบยื่นมา

5.

กลับมาเรื่องอุปราการรามเกียรติของคุณสมเถาดีกว่า ถ้าบังเอิญผมได้มีโอกาสไปชมโขนรามเกียรติกับอาจารย์ถ่ายเถา ซึ่งนอกจากจะเป็นมารดาของคุณสมเถาแล้ว ยังมีชื่ออยู่ในคณะกรรมการที่คัดค้านฉากล้มทศกัณฐ์ในอุปราการดังกล่าว ระหว่างที่ผมชมการแสดงโขนอยู่นั้น เมื่อถึงฉากสำคัญที่พระรามสังหารเจ้าเมืองลงกา แล้วตัวผู้แสดงเป็นทศกัณฐ์เดินออกไปเสียชีวิตนอกฉาก ก่อนกลับเข้ามาให้ผู้ชมเห็นในสภาพศพ เมื่อถึงตอนนั้น อาจารย์ถ่ายเถาอาจอธิบายให้ผมฟังว่า เป็นธรรมเนียมของการเล่นโขนที่จะไม่แสดงฉากสังหารทศกัณฐ์ เพราะเชื่อว่าเป็นกาลกิณีต่อบ้านเมือง

วินาทีนั้นผมก็คงยิ้มออกมา

เมื่อมาชมโขน วัฒนธรรมอันแตกต่างจากสิ่งที่คนรุ่นใหม่คุ้นชิน ผมก็ได้สมมติตัวเองลงในบทบาทของนักท่องเที่ยว เป็นเด็กหัดเรียนยอมให้ผู้รู้จูงซ้ายจูงขวา ผมกำลังดื่มด่ำ "เสน่ห์ของความล้าหลัง" ซึ่งนอกจากวัฒนธรรมต่างท้องถิ่น ยังรวมไปถึงวัฒนธรรมต่างยุคสมัย

ผมคิดว่าเสน่ห์ตรงนี้เป็นสิ่งสวยงามนะครับ และอยากฝากฝังยามวัฒนธรรมให้กระทำหน้าที่ของตนต่อไปอย่างสุดความสามารถ

6.

ทีนี้ลองมองกลับกันบ้าง คนอย่างพี่เจ้ย คุณสมเถา หรือผู้ชายที่ไม่ยอมยืนในโรงหนังคนนั้น คงไม่อาจสวมบทบาทนักท่องเที่ยว หรือชาวต่างชาติ เพราะพวกเขาเป็นคนไทย และเชื่อว่าวัฒนธรรมไทยก็เป็นสมบัติของเขาเช่นกัน เขามีสิทธิจะดัดแปลง ตีความ หรือจำกัดตัวเองในขอบเขตที่เห็นว่าเหมาะสม (คนเหล่านี้คิดถูกหรือผิด วัฒนธรรมเป็นสมบัติของใคร ผมไม่ขอถกเถียงประเด็นนี้แล้วกัน)

เวลาคนเหล่านี้ต้องเผชิญหน้ากับยามวัฒนธรรม จะให้ฉีกยิ้มออกมาก็คงยากอยู่

"เสน่ห์ของความล้าหลัง" จะเกิดกับใครได้ ก็ต่อเมื่อเขาคนนั้นมองวัฒนธรรมว่าเป็นสิ่งล้าหลัง ผมชอบคำโต้เถียงของคุณสมเถา แกบอกว่าจะเอาขนบโขนรามเกียรติมาใช้กับงานแสดงดนตรีของแกก็กระไรอยู่ ในเมื่อมันไม่ใช่โขน แต่เป็นอุปราการ (ซึ่งเป็นแนวทางที่แกศึกษามา) เหมือนกับคุณสมเถาพยายามสร้างความเชื่อมโยง ระหว่างตัวแก ศิลปะที่แกสร้าง (คืออุปรากร) และพื้นฐานทางวัฒนธรรม (รามเกียรติ) เข้าด้วยกัน ซึ่งก็คือการลบความแตกต่าง หรือกำจัดความล้าหลังนั่นเอง ตรงนี้เลยเกิดเป็นพาราดอกซ์เล็กๆ น่าขบคิด "นักแหกคอก" ที่เหมือนจะทำตัวล้ำเส้นขนบธรรมเนียม ประเพณีกลับไม่ได้มองสิ่งเหล่านั้นว่าเป็นเรื่องล้าหลัง กลายเป็นผู้ซึ่งปฏิบัติตามมันอย่างไม่ลืมหูลืมตาต่างหาก

7.

ก่อนหน้านี้ผมอธิบายว่า "ล้าหลัง" คือส่วนผสมระหว่าง "แตกต่าง" และ "ไม่เข้าใจ" ในเรื่องสั้นของอีโค แม้ว่าชาวเอสกิโมจะยอมรับเทคโนโลยีอันล้ำหน้ากว่าของชาวยุโรป แต่ก็ยังยืนยันที่จะเรียก "ความแตกต่าง" ตรงนั้นว่า "ล้าหลัง" เพราะอะไร ผมเชื่อว่าคำตอบคือ เพราะนักมานุษย์วิทยาเหล่านั้นไม่ปรารถนาจะใช้ชีวิตอยู่ในวัฒนธรรมที่แตกต่างนี้ เมื่อไม่มองเห็นอนาคตของตัวเองในสิ่งแวดล้อมใหม่ พวกเขาจึงไม่เสียเวลากับการพัฒนาความเข้าใจ ชาวเอสกิโมเหล่านั้นจึงไม่ต่างจากนักท่องเที่ยวตะวันตกในประเทศไทย

ความไม่ปรารถนาจะใช้ชีวิต หรือปรับแปรตัวเองให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ ถ้าพูดแบบตรงไปตรงมาก็คือมองสิ่งนั้นว่า "ล้าหลัง" เป็น "ล้าหลัง" ในความหมายไม่ไพเราะที่เราใช้ๆ กัน คนไทยเคยมีประโยคติดปากว่า "ไม่เชื่อ แต่อย่าลบหลู่" ใช้กับวัตถุ หรือเรื่องราวทางไสยศาสตร์ ใครอยากจะเชื่อ อยากจะคิดเช่นนั้นก็ปล่อยเขาไป แต่ไม่ต้องมาพยายามชักจูงกัน เพราะเรามองสิ่งนั้นว่า "ล้าหลัง"

เหมาะสมแล้วหรือ ที่เราจะจำกัดบทบาทของ "นักแหกคอก" เช่นพี่เจ้ย หรือคุณสมเถาให้อยู่แค่ในฐานะ "นักท่องเที่ยว" แต่ไหนแต่ไร หน้าที่ของศิลปินคือผู้แยกย่อย ทำลายกฎเกณฑ์ในสังคม พวกเขาย่ำยี ล้ำเส้นเพราะพวกเขาหลงใหลวัฒนธรรม เกินกว่าจะมองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องล้าหลัง

ผมเชื่อจริงๆ นะครับ ว่ายามวัฒนธรรมควรกระทำทำหน้าที่ของตน แต่ครั้งต่อไปที่จะเป่านกหวีด ลองถามตัวเองก่อนว่าคุณกำลังเผชิญหน้ากับใคร ถ้าเป็น "นักแหกคอก" ปล่อยนกหวีดแล้วหันหน้ามาคุยกันสักนิดดีไหม

แต่ถ้าเป็น "นักท่องเที่ยว" เป่าไปเลยครับ พวกเขาจะดีใจ ฉีกยิ้มให้คุณเสียอีก

3 comments:

Anonymous said...

แล้วถ้ายิ้มให้ตัวเองละครับ

Anonymous said...

น้องนักเขียน ล่าสุดคุณพี่ไปบาหลีมา ที่วัดเทมปักสิริงค์ มีบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านจะต้องแวะมาอาบน้ำทุกวัน "นักเรียนวัฒนธรรม" ทั้งผิวขาว ผิวไม่ขาว พากันรัวชัตเตอร์บันทึกภาพชาย-หญิงชาวบาหลีนุ่มผ้าโสร่ง-กระโจมอกอาบน้ำกันราวกับเป็นช่างภาพนิตยสารยังไงยังงั้น

น่าแปลก ไม่มีทั้งเสียงนกหวีด และยามเฝ้าวัฒนธรรม

มีแต่ผู้ชายคร่ำครึ หัวล้าหลังคนนี้ ยืนมองอย่าง อือม์.... ว่าแล้วก็กดชัตเตอร์มั่ง ๕๕๕

Anonymous said...

นานมากแล้ว ผมไปกราบ พระแก้วมรกต ที่วัดพระแก้วครับ

แขก ต่างชาติมากันไม่รู้กี่คน มีคนหนึ่ง ถ่ายรูป พระแก้วมรกต ซึ่งมันมีป้ายบอกตัวใหญ่มาก ว่าห้ามถ่าย

ตอนั้นผมเห็นแล้ว ฉุนมาก เพราะเหมือนกับเค้าไม่ให้เกียรติสถานที่ซึ่งผมรู้สึกว่าที่นั้น ศักสิทธิ์ ควรค่ารเคารพรักษาไว้

แต่ผม เหมือนคนเป็นใบครับ คือนึกประโยคภาษาอังกฤษไม่ออก ใจอยากบอกว่า คุณถ่ายไม่ได้ มีกฏห้ามถ่ายรูป แล้วจะขอฟิลม์ เค้าซะหน่อย

ผมได้แต่คิดภาษาไทย ได้แต่เจ็บใจ เหมือนกับว่าใครจะทำอย่างไรก็ได้ในประเทศไทย