V. Woolfe's "To the Lighthouse"


มีความสวยงามบางอย่างที่ไม่อาจถ่ายทอดผ่านตัวอักษร ภาพนิ่ง เนื้อสี หรือท่่วงทำนองเสนาะ มีแต่ศิลปินมือเอกเท่านั้นถึงจะนำเสนอมันออกมา และก็ไม่ใช่ว่าสามารถทำได้กับทุกผลงาน เวอจิเนียร์ วูลฟ์คือศิลปินที่ว่า และ To the Lighthouse คือผลงานดังกล่าว ถึง Mrs. Dalloway จะเป็นนิยายที่มีชื่อเสียงกว่า แต่กับเล่มนั้นเราแค่เริ่มรู้สึกสนอกสนใจเธอ ส่วน To the Lighthouse พูดได้เต็มปากเลยว่าตอนนี้ เรากลายเป็นแฟนของนักเขียนผู้นี้ไปแล้ว

สรุปเรื่องย่อแบบโง่ๆ To the Lighthouse คือการเดินทางไปเยี่ยมชมประภาคารของครอบครัวแรมเซย์ ซึ่งประกอบไปด้วยสองสามีภรรยา และลูกๆ ทั้งแปด แต่กว่าพวกเขาจะไปถึงประภาคาร ทริปนี้ใช้เวลาสิบปีเต็ม และก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะไปถึงเป้าหมายนั้น นอกจากครอบครัวแรมเซย์ ยังมีลิลลี จิตรกรสมัครเล่นผู้เฝ้ามองพวกเขา มินตา กับพอล คู่รักหนุ่มสาว และคาไมเคิล กวีชรา รวมไปถึงตัวประกอบอื่นๆ กระนั้นพระเอกที่แท้จริงของ To the Lightnous ไม่ใช่มนุษย์อย่างเราๆ ท่านๆ หากเป็น "บิดากาล" หรือพระพ่อแห่งเวลา ผู้นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงแก่ทุกสรรพสิ่ง มหัศจรรย์แห่งนิยายเล่มนี้อยู่ที่การปั้นตัวละครนามธรรม ให้ออกมาจับต้องได้ มีเนื้อมีหนังเฉกเช่นคนสามัญ

ถึงบอกว่าจับต้องได้ แต่ถ้าให้ฟันธงจริงๆ ก็ฟันไม่ขาดเหมือนกันว่าตรงไหนกันแน่ของนิยายเล่มนี้ที่เป็นเนื้อหนังบิดากาล จะบอกว่า เพราะผู้อ่านได้รู้จักกับครอบครัวแรมเซย์อย่างใกล้ชิด และรู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงในชีวิตพวกเขาตลอดช่วงสิบปีกระนั้นรึ ก็เปล่า ด้วยสไตล์การเขียนแบบวูลฟ์ คิดว่าคงไม่มีใครพูดได้เต็มปากว่ารู้จักนิสัยใจคอ และสนิทสนมกับตัวละคร ในทางตรงกันข้าม บางทีอาจเป็นความเหินห่างกระมัง ที่ทำให้ผู้อ่านสัมผัสได้ถึงเวลา

ยกตัวอย่าง สมมติมีสถานที่แห่งหนึ่งซึ่งเต็มไปด้วยความทรงจำ เมื่อเราไปเยือนที่นั่น ถามจริงเถอะว่าเราเห็นอดีตขึ้นมาเป็นฉากๆ หรือเปล่า แน่นอนว่าไม่ อดีตคือความเหินห่าง คือภาพฝันเลือนๆ ลางๆ ซึ่งจับต้องไม่ได้ จึงยากนักที่หนังสือสักเล่มจะพรรณนาอดีต ดังที่อดีตเป็นจริงๆ (คือไม่ใช่แค่ความจริงในอดีต แต่เป็น "แก่นแท้" ของอดีตในฐานะสิ่งที่ผ่านพ้น) ยกเว้นจะเป็นหนังสือที่บังคับคนอ่านให้ใช้เวลาสิบปีในการอ่านเท่านั้น


ความเหินห่างนี่เองคือกุญแจสำคัญของ To the Lighthouse ในทางกลับกัน ถ้าวูลฟ์ให้เราได้รู้จักครอบครัวแรมเซย์อย่างใกล้ชิด นี่อาจเป็นหนังสือโศกนาฏกรรมของสงคราม การพลัดพราก Atonement ของแมคอีวานก็อาจจัดอยู่ในกรณีหลัง ต่างเป็นนิยายที่ดีทั้งคู่ แต่ถ้า Atonement พูดถึงความผิดซึ่งหลอกหลอนผู้กระทำตลอดชีวิต ทุกสิ่งใน To the Lighthouse เหมือนจะผ่านมาแล้วก็ผ่านเลยไป

To the Lighthous เป็นนิยายที่มีระดับชั้นเยอะมาก ถึงตัดเรื่องเวลาออก ในแง่ตัวละคร ก็มีอะไรให้พูดถึงไม่รู้จบ ความสัมพันธ์ระหว่าง "ผู้รอดชีวิต" แรมเซย์สามีปรารถนาการยอมรับจากสังคม และ "ความเห็นอกเห็นใจ" ของสตรีเพศ ลูกคนโตทั้งสอง เจมส์ และแคมทำสงครามเงียบกับพ่อ เพราะรับไม่ได้ที่อีกฝ่ายเอาแต่ใจตัว ลิลลีน่าจะเป็นตัวแทนของวูลฟ์ ทั้งคู่เป็นศิลปิน พวกเธอต้องต่อสู้กับอคติ และการเหยียดเพศ สุดท้ายก็คือประภาคารซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเป้าหมาย และการส่งผ่านของห้วงเวลา

วูลฟ์ขึ้นชื่อว่าเป็นเจ้าแม่กระแสสำนึก ซึ่งจริงๆ แล้วเราไม่ค่อยอยากพูดถึงเธอในแง่นี้เท่าไหร่ ตอนนี้ในเมืองไทย ขอให้เขียนอะไรคลับคล้ายคลับคลาว่าจะเป็นกระแสสำนึก ก็ได้รับคำชื่นชมแล้ว ทั้งที่จริงๆ ความเข้าใจงานเขียนลักษณะนี้ของคนไทยดูลุ่มๆ ดอนๆ ชอบกล ถ้า Mrs. Dalloway คือตัวอย่างงานเขียนกระแสสำนึก To the Lighthouse คือนิยายที่ไปไกลยิ่งกว่านั้น ใช้กระแสสำนึกเพื่อเป้าหมายบางอย่าง ไม่ใช่สักแต่ว่าเป็นสไตล์

1 comment:

Anonymous said...

We read this in my documentary class as well.
Borrow na ja next week.