A. Moravia's "The Conformist"


ผิดหวังจังเลยกับ The Conformist คงเพราะเราชอบรวมเรื่องสั้นอีโรติกของโมราเวียมากๆ แถมหัวข้อนิยายเรื่องนี้ก็ดูน่าสนใจใช่เล่น ตัวเอกเป็นชาวอิตาลียุคมุโสลินี เพราะเหตุการณ์เลวร้ายสมัยเด็กๆ ทำให้ความปรารถนาสูงสุดของมาเซลโลคือความเป็นปกติธรรมดา โมราเวียพยายามตีแผ่โฉมหน้าอันแท้จริงของขบวนการฟาสซิสต์ ว่ามาจากความปรารถนาที่จะผนวกตัวเองเข้าไปอยู่ในฝูงชน และใช้ข้ออ้างนั้นในการทำร้ายคนอื่น มีการแทรกประเด็นเรื่องเพศเข้ามาเป็นระยะ มาเซลโลมีอัตลักษณ์ทางเพศไม่ชัดเจน ถึงเจ้าตัวจะยืนยันว่าเขาชอบผู้หญิง และไม่ได้เป็นเกย์ แต่ถ้าอ่านระหว่างบรรทัดก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีความคลุมเครืออยู่ไม่น้อย เช่น ลักษณะภายนอกที่ทำให้ใครๆ เข้าใจผิด ตั้งแต่เพื่อนร่วมชั้นเรียนสมัยเด็กๆ จนถึงผู้เฒ่าที่พยายามซื้อหาบริการทางเพศจากมาเซลโล

จริงๆ การโยงฟาสซิสต์เข้าหาประเด็นเรื่องเพศเป็นกลวิธีวิเคราะห์ที่น่าสนใจมาก ชาวอิตาลีขึ้นชื่อว่าแมนที่สุดแล้วในหมู่ชาวยุโรปทั้งหลาย แมนจนถึงขั้นน่าขบขันเลยในบางที และการที่ฟาสซิสต์มันเริ่มต้นมาจากอิตาลี ส่วนหนึ่งก็เพราะความแมนตรงนี้ อาจอธิบายได้ว่า ความเป็นชายแท้จริงก็คือความปรารถนาการยอมรับจากเพื่อนฝูง หรือเป็นเช่นผู้ชายธรรมดาคนอื่นนั่นเอง (การพยายามหนีจากความผิดปกติของมาเซลโล จึงตีความได้ว่าเป็นทั้งการหนีจากบาปในอดีตและเพศที่สามของตัวเอง)

แต่ไม่รู้ทำไม ไอ้หัวข้อน่าสนใจๆ เหล่านี้พอมาอยู่รวมกันในนิยายเล่มเดียวกลับกระจัดกระจายไม่เป็นสาระบบ การวิเคราะห์ฟาสซิสต์ของโมราเวียดูขาดความลึกซึ้งยังไงชอบกล สรุปคือฟาสซิสต์เป็นแค่ปรากฏการณ์พวกมากลากไปเท่านั้นเนี่ยนะ ดูตื้นๆ ขัดเขิน เนื่องจากโมราเวียมุ่งประเด็นไปที่มาเซลโลคนเดียว และไอ้หมอนี่มันเหมือนคนปกติเสียที่ไหน นิยายเรื่องนี้จึงล้มเหลวในการสร้างข้อสรุปทางสังคม

แถมประเด็นเรื่องเพศก็ออกมาก้ำๆ กึ่งๆ สไตล์การเขียนของโมราเวียคือใช้เหตุการณ์ปกติธรรมดา แต่ผู้เขียนเจาะลึกเข้าไปในจิตวิทยาของตัวละคร ทำให้คนอ่านได้เห็นแง่มุมอันลึกซึ้ง อารมณ์ความรู้สึกของคนเรามักจะออกมาเป็นเหรียญ คือพร้อมกันสองด้าน ไม่ดีใจหรือเสียใจอย่างสุดโต่ง แต่เพราะเหตุการณ์มันธรรมดาไปหรืออย่างไร นิยายที่อุตส่าห์อ่านมาตั้งนานก็เลยจบลงอย่างไม่มีไคลแมกซ์ จบลงอย่างงงๆ ว่าสุดท้ายอะไรที่ต้องเกิดมันก็เกิดง่ายๆ อย่างนี้เองน่ะเหรอ (กลวิธีแบบนี้อาจจะเหมาะกับเรื่องสั้นมากกว่า)

เรื่องของเรื่องคือมาเซลโลเป็นตัวเอกที่พิสดารเกินไป คนส่วนใหญ่เขาไขว่คว้าหาความแตกต่าง แต่ไอ้หมอนี่อยากเหมือนมนุษย์คนอื่น (นี่เป็นการกลับวาทกรรมของท่านกฤษณามูรติที่ว่า "มนุษย์คนทุกคิดว่าตัวเองแตกต่างจากคนอื่น เราจึงเหมือนกันหมด") ไอ้คนประเภทนี้มันมีอยู่มากมายในโลกขนาดพอจะรวมตัวกันเป็นขบวนการฟาสซิสต์ที่เขย่าศตวรรษที่ 20 เลยหรือเปล่า

ไม่รู้ ไม่ชอบ ขี้เกียจคิด เอาเป็นว่านี่คือสุดยอดนิยายแห่งความผิดหวังก็แล้วกัน

3 comments:

Anonymous said...

เป็นวาทกรรมเดียวกันไม่ใช่เหรอครับ
เพราะตัวเอกคิดว่าตัวเองไม่เหมือนใครเลย ต่างจากทุกคน จึงอยากเป็นเหมือนทุกคน

laughable-loves said...

คล้ายๆ กันครับ แต่ว่าขณะที่อาจารย์กฤษณามูรติบอกว่า เพราะคนส่วนใหญ่ไขว่คว้าความเป็นเอกะ เราทุกคนจึงเหมือนๆ กันไปหมด แต่มาเซลโลไขว่คว้าที่จะเหมือนกับคนอื่น เพราะลึกๆ (เขาคิดว่า) ตัวเองเป็นเอกะอยู่แล้ว

Anonymous said...

ขอบคุณครับ