T. L. Friedman's "Hot, Flat and Crowded"


เราชอบประโยคเด็ดของเจฟ แวคเกอร์ที่ไฟรด์แมนหยิบยกมาใน Hot, Flat and Crowded มากๆ เขาบอกว่า “อนาคตอยู่กับเราแล้ว เพียงแต่ว่ามันยังไม่แพร่หลายเท่านั้นเอง” แวคเกอร์หมายถึงเทคโนโลยีที่สามารถแก้ไขปัญหาโลกร้อนและเผด็จการน้ำมันได้ถูกคิดค้นขึ้นมาแล้ว เพียงแต่มันยังขาดกล้ามเนื้อทางนโยบายและการตลาดที่จะกระจายเทคโนโลยีเหล่านั้นไปสู่ผู้บริโภค

สุดท้ายทุกอย่างมันก็ลงเอยอยู่ที่วิชาเศรษฐศาสตร์ ทำให้เรานึกถึงข่าวที่เคยได้ยินมาสมัยเด็กๆ ว่าเนื้อไก่ล้นตลาด ซีพีเลยไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากเอาไก่ไปทิ้งทะเล ด้วยความเป็นเด็ก เรานึกเสียดาย เนื้อไก่ที่เหลือๆ เอาไปเลี้ยงคนยากคนจนไม่ดีกว่าหรือ อย่างแย่สุดขนไปแจกหมู่บ้านผู้อดโซในทวีปแอฟริกาก็ยังดี พอโตมาแล้วถึงได้รู้ว่าทุกอย่างมันไม่ง่ายดายขนาดนั้น ถ้าเอาเนื้อไก่ล้นตลาดไปแจกคนยากคนจน ผู้ที่เดือนร้อนก็คือพ่อค้าไก่ที่ต้องทำมาหากิน ในทำนองเดียวกัน ปัญหาความด้อยพัฒนาในทวีปแอฟริกาไม่ได้เกิดจากการขาดแคลนเงินช่วยเหลือ แต่เพราะการโกงกินของนักการเมืองท้องถิ่นทำให้ไม่ว่าจะส่งเงินและสิ่งของไปเท่าใดก็ไม่เคยถึงมือผู้เดือนร้อนตัวจริงสักที

อย่างที่เราท่องจำกันมาตั้งแต่สมัยเด็กๆ นั่นแหละ เศรษฐศาสตร์คือวิชาที่ศึกษาการแพร่กระจายของทรัพยากรอันจำกัดไปสู่ความต้องการของผู้คนซึ่งไม่มีขีดจำกัด หัวใจของมันคือการแพร่กระจาย ต่อให้นักวิทยาศาสตร์หรือวิศวกรประดิษฐ์คิดค้นอะไรที่มันโดราเอมอนสักแค่ไหน ไม่ว่าจะเป็นรถแสงอาทิตย์ แผงควบคุมไฟฟ้าประหยัดพลังงาน หรือกังหันลมปั่นไฟถ้าขาดนโยบายทางการตลาดที่ดี เราก็จะไม่มีวันนำของวิเศษเหล่านั้นมาใช้ในชีวิตประจำวันได้จริงๆ

ใครยังจำโทรศัพท์มือถือรุ่นแรกได้บ้าง เครื่องบักควายที่จะไปไหนมาไหนต้องถือแบตเตอรีขนาดเท่ากระเป๋าใบหนึ่งและตัวเครื่องเท่ากระเป๋าอีกใบหนึ่ง ถึงจะบอกว่าเป็นโทรศัพท์มือถือ แต่อย่างเก่งคือคนส่วนใหญ่ต้องทิ้งมันไว้ในรถ ดูจากสมัยนั้น ใครจะเชื่อบ้างว่ามันคือเทคโนโลยีแห่งอนาคต กระนั้นก็ตาม คนก็ยังซื้อใช้มัน และเพราะมีคนซื้อ มีตลาดนั่นเอง ทางบริษัทมือถือถึงสามารถเอาเงินทุนมาพัฒนาสินค้าต่อไปได้เรื่อยๆ ลองมองรอบตัวเราดู ไม่ว่าจะเป็นไอพอด อินเตอร์เนต (แรกสุดที่ต้องแย่งสายกับโทรศัพท์บ้าน) ไม่มีเทคโนโลยีตัวไหนหรอกที่เริ่มต้นมาอย่างสมบูรณ์แบบ ของวิเศษของโดราเอนมอนก็เฉกเช่นเดียวกันนั่นแหละ

Hot, Flat and Crowded เป็นหนังสือเศรษฐศาสตร์ยั่งยืนที่สมควรหามาอ่านกันมากๆ ไฟรด์แมนเถียงว่าเราไม่จำเป็นต้องเลือกระหว่างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจหรือการรักษาสิ่งแวดล้อม แต่การพัฒนาทางเศรษฐศาสตร์ที่ยั่งยืนจะสามารถตอบโจทย์ได้ในทุกๆ เรื่อง เราสามารถแก้ไขปัญหาความยากจน ไปพร้อมๆ กับการลดภาวะโลกร้อนและการรักษาพันธุ์สัตว์ รวมไปถึงความมั่นคงทางด้านการเมืองด้วย

สำหรับคนอ่านกลุ่มเป้าหมายหลักของ Hot, Flat and Crowded ซึ่งเป็นประชาชนชาวอเมริกันนั้น หนังสือเล่มนี้คงไม่ต่างอะไรเท่าไหร่กับคำทำนายของนอสตราดามุส ในทศวรรษหน้า เทคโนโลยีแห่งโลกอนาคตคือพลังงานสะอาด นำกลับมาใช้ไหมได้ และไม่มีวันหมด ซึ่งในแง่นี้อเมริกาตามหลังประเทศยุโรปและญี่ปุ่นอยู่หลายขุม แม้กระทั่งประเทศจีนเองก็ไม่แน่เหมือนกันว่าอาจจะใช้พลังงานสีเขียวยึดครองตลาดโลก (ให้ทายว่าชาวจีนที่ร่ำรวยติดอันดับแปดของประเทศทำธุรกิจอะไร? คำตอบ ขายแผงโซลาเซลล์!) ถ้าชาวอเมริกันและรัฐบาลไม่ทำอะไรสักอย่าง นั่นหมายถึงการสิ้นสุดสถานภาพเจ้าโลกของประเทศอเมริกา

Hot, Flat and Crowded เปิดช่องทางให้เราได้เห็นโอกาสที่จะเสริมสร้างอำนาจทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในอนาคต แม้เราจะไม่มีพื้นฐานทางวิศวกรรมศาสตร์พอจะไปแข่งขันกับยุโรป ญี่ปุ่น หรือจีนในเรื่องพลังงานสีเขียว แต่เรามีป่าไม้ซึ่งสามารถใช้จำกัดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เร็วๆ นี้เพิ่งได้อ่านบทความใน Times ที่พูดถึงอินโดนีเซียรักษาป่าไม้ในประเทศตัวเองและขายคาร์บอนเครดิตให้กับประเทศที่พัฒนาแล้ว ถ้าโครงการณ์นี้สำเร็จลงได้ เหตุใดจะเอามาใช้กับประเทศไทยไม่ได้เล่า

ผู้มีอำนาจครับ กรุณาตื่นตัวด่วน เทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมนี่ต่างหากคืออินเตอร์เนตแห่งศตวรรษที่ 21 ประเทศไทยอยากจะมี google เป็นของเราเองหรือไม่

7 comments:

B. said...

คนจนมากๆ อดอยาก ยังไงก็ไม่มีเงินไปซื้อไก่กินอยู่แล้ว
เอาไปแจก ก็น่าจะดีกว่าเอาท้ิ่งอยู่ดี
พ่อค้าก็ไม่น่าจะลำบากอะไร เพราะยังไง ก็หากินกับคนมีกะตังอยู่แล้ว ไอ้คนจนๆ ยังไงก็ไม่ใช่เป้าหมายที่จะซื้อไก่?

เราว่าคิดโง่ๆ แบบเด็กๆอย่างนี้ ก็ไม่น่าจะผิดอะไร?
ถ้าจะชิบหาย ก็ชิบหายในแง่ระบบ แต่ช่วยชีวิตคนได้?

นึกถึง 2012 ขึ้นมา ประมาณว่า คนมีเงินถึงซื้อเรือช่วยชีวิตได้ ถ้า break กฎนี้ ก็คือ break กฎซื้อขายตามหลักเศรษฐกิจ เพื่อรักษากฎไว้ ก็เลยต้องปล่อยให้คนที่จนกว่า ตายๆไปซะ

laughable-loves said...

ผมก็ไม่่ใช่ผู้้เชี่ยวชาญหรอกนะ แต่ถ้าให้อธิบายก็คือ โดยสมมติฐานแล้ว ถ้าราคาไก่มันถูกมากๆ จริงๆ แม้แต่คนจนๆ ก็ย่อมสามารถซื้อไก่ได้ ทำให้ไม่น่าจะมีปัญหาอดตายที่รุนแรงมากนัก แต่ขณะเดียวกันถ้าเอาไก่มาแจกฟรีๆ แม้แต่คนรวยๆ ก็จะมารับแจกไก่หมด สุดท้ายพ่อค้าไก่ (รวมไปถึงคนอื่นๆ ที่อยู่ในระบบแลกซื้อขายไก่ด้วย) ก็จะยากจนหมด ในระยะยาวก็คือ พอปีหน้ามาถึงเราก็จะมีคนยากคนจนที่ต้องเลี้ยงมากขึ้น ขณะเดียวกันโอกาสของคนยากคนจนที่จะปีนป่ายบันไดเศรษฐกิจ (ยกตัวอย่างเช่น ขึ้นมาเป็นพ่อค้าไก่) ก็จะหดหายลงไปด้วย

อย่างน้อยในประเทศไทย ปัญหาไม่ได้อยู่ที่คนกำลังจะอดตาย แต่อยู่ที่คนกำลังจะยากจน

สรุปสั้นๆ ตามความเข้าใจของผู้ไม่เชี่ยวชาญนะ ใครมีคำอธิบายหรือโต้แย้งที่ดีกว่านี้มาแลกเปลี่ยนความคิดกันได้

B. said...

แต่อย่าลืมว่า ไอ้คนที่ผลิตไก่มาจนล้นเนีย่ะ คือซีพีใช่มั้ยในที่นี้ ซึ่งก็อย่างที่รู้กัน รวยไม่รู้จะรวยยังไง

สรุปก็คือ คนรวยมากๆ ก็มีกำลังผลิตมากๆๆๆๆๆ ผลิตจนเกินความต้องการของตลาด ผลิตแบบไม่บันยะบันยังอะไร เพราะมันเหลื่อมชั้นกันอยู่มาก ไอ้คนที่จนน่ะ ก็ไล่ไปตั้งแต่พ่อค้าย่อยๆ ไปถึงจนคนที่อดตายกันนั่นแหละ ที่ประสบปัญหาน่ะ

เขาถึงเอาไปทิ้งไง ทิ้งเงินไปไม่เท่าไหร่ ก็คงขนหน้าแข้งไม่ร่วงอยู่ดี

ปัญหามันคงไม่ได้ง่ายๆแค่คนจนจะปีนป่ายกระไดเศรษฐกิจยังไงล่ะมั้ง เพราะระบบมัน set ให้ต้องปีนก้าวกระโดดมาก กว่าจะไปอยู่บนจุด top ที่อยู่รอดลืมหูลืมตาได้จริง?

laughable-loves said...

"ไอ้คนที่จนน่ะ ก็ไล่ไปตั้งแต่พ่อค้าย่อยๆ ไปถึงจนคนที่อดตายกันนั่นแหละ ที่ประสบปัญหาน่ะ"

ผมไม่เข้าใจ argument ของคุณแฮะ จากประโยคนี้ แสดงว่าคุณรู้อยู่แล้วว่า คนที่ได้รับผลกระทบจากราคาไก่ตกต่ำไม่ใช่แค่ตัวซีพีเท่านั้น แต่รวมไปถึงพ่อค้ารายย่อยด้วย เพราะฉะนั้นถ้าเราปล่อยให้ราคาไก่ต่ำลงมากๆ ก็อย่างที่คุณพูดก็คือคนที่เดือดร้อนก็คือพ่อค้ารายย่อย?

ส่วนเรื่องการผลิตอย่างไม่บรรยะบรรยัง โดยหลักการ (ที่ดี) ของธุรกิจคือไม่ผลิตอะไรที่ขายไม่ได้กำไรพอ ตัวอย่างไก่อาจจะไม่ชัดเจน แต่พวกผลไม้ซึ่งเราไม่สามารถกำหนดได้แน่นอน ว่าจะออกดอกออกผลในปริมาณเท่าไหร่ เพราะมันขึ้นอยู่กับสภาวะอากาศ จะโทษสวนผลไม้ว่าผลิตลำไยมาเกินความต้องการก็คงจะไม่ถูกต้องนัก

(กลับมาตัวอย่างไก่เช่นว่าปีที่แล้วมีโรคระบาดทำให้ปริมาณไก่ขาดตลาด ปีนี้เขาก็เลยเล็งที่จะผลิตไก่เพิ่ม ลงท้ายก็เลยกลายเป็นมีไก่ล้นตลาด ซึ่งก็ยังไม่ใช่ตัวอย่างที่ดีนักหรอกนะ)

"ปัญหามันคงไม่ได้ง่ายๆแค่คนจนจะปีนป่ายกระไดเศรษฐกิจยังไงล่ะมั้ง เพราะระบบมัน set ให้ต้องปีนก้าวกระโดดมาก กว่าจะไปอยู่บนจุด top ที่อยู่รอดลืมหูลืมตาได้จริง?"

ก็อย่างที่บอก ถ้าเราไม่มีตลาดไก่เลย หมายถึงคนจนๆ ไม่มีโอกาสเลี้ยงและขายไก่เพื่อทำกำไร นั่นต่างหากไม่ใช่เหรอ สภาพก้าวกระโดดที่เป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ อย่างน้อยถ้ารัฐบาลสามารถเลี้ยงธุรกิจไก่ (ซึ่งเป็นสินค้าราคาถูก) เอาไว้ได้ ก็จะมีบันไดอีกขึ้นหนึ่งให้คนจนปีนป่ายขึ้นไป

laughable-loves said...

ผมลองมานั่งคิดสิ่งที่เรากำลังพูดกันอยู่ตรงนี้ดู จริงๆ ก็เป็นไปได้เหมือนกันว่าถ้าในตลาดไก่ ซีพีครองกำลังการผลิตมากๆ เช่น 70% เลย ดังนั้นถ้าเกิดมีปีหนึ่งที่ ด้วยความไร้ความรับผิดชอบของซีพี ผลิตไก่มาเกินความต้องการของตลาด ผู้ผลิตรายย่อยอื่นๆ อีก 30% ก็จะซวยไปด้วย ซึ่งกรณีนี้ก็ดูเหมือนจะ make sense ละนะ ถ้าเราจะ "ลงโทษ" ซีพีด้วยการบังคับให้เขาเอาไก่ไปแจกให้ "ผู้คนที่อดอยาก" แต่ก็อย่างที่อธิบายแหละ ถ้าเราทำอย่างนั้น คนที่จะลำบากที่สุดก็คือผู้ผลิตรายย่อยอีก 30% ที่ไม่ได้รู้อิโหน่อิเหน่ไปด้วย

เรื่องของเรื่องคือมันผิดตั้งแต่แรกแล้วที่รัฐบาลจะปล่อยให้มีบริษัทหนึ่ง่กุมอำนาจมากมายขนาดนั้นในแวดวงธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง แต่ถ้าเราเอาไก่ไปแจกแล้วผู้ผลิตรายย่อยอีก 30% ตายขึ้นมา ปีหน้าซีพีก็จะมีตลาด 100% เลย ซึ่งก็จะยิ่งสร้างปัญหาขึ้นไปอีก

B. said...

ที่เราคิด ก็คือแบบโง่ๆ ซื่อๆเลยว่า ด้วยระบบเศรษฐกิจที่ถูกเซ็ตรูปแบบมาแบบนี้ พอมันถึงจุดพัฒนาสูงสุดของมัน กลุ่มเดียวที่จะไม่ชิบหาย ก็คือผู้ที่กุมอำนาจสูงสุด ในที่นี้ อาจจะเรียกได้ว่า ซีพี เป็นต้น

ที่พูดเรื่องเอาไก่ไปแจก ก็คงทำนอง ออกจากระบบ แล้วมามองปากท้องกันแบบซื่อๆเลย หิวก็กิน ไม่มีอาหารกินก็ตาย ในเมื่อช่วยคนได้ ก็ช่วย แล้วมันก็ช่วยได้จริงๆ คือมีคนรอดตายจากการมีอาหารกินจริงๆ

เพราะถ้ารอแก้จากระบบที่ชิบหายแล้ว ไปทีละเปลาะๆๆๆ คนหิวก็ตายแหงแก๋ไปแล้ว

อันนี้ push แบบ extreme เลยนะ ว่าสุดท้ายจะเลือกอะไร ระหว่างระบบกับชีวิตคน อาจจะมองได้ว่า ต้องค่อยๆแก้ระบบเพื่อชีวิตทุกๆคนในภาพรวมและระยะยาว แต่ somehow เราไม่เชื่อว่ะ อาจจะเพราะเราไม่เชื่อในระบบอยู่แล้วล่ะมั้ง

กลับมาเรืื่องแจกไก่ สมมุติว่า เราสามารถแจกให้คนที่จะตายจริงๆได้ เช่นในแอฟริกา ซึ่งคนพวกนี้ไม่ได้กินไก่แน่ๆ ทำให้คนพวกนี้ประทังชีวิตไปได้ โดยจากแจกไก่นี้ กระทำในที่ลับ คือผู้ขายไก่รายย่อย ไม่ได้รับรู้ใดๆทั้งสิน แล้วชาวแอฟริกันเหล่านี้ ไม่ได้เป็นลูกค้าของพ่อค้าขายไก่รายย่อยแต่อย่างใด แบบนี้ถือว่าควรทำหรือเปล่า? ขำๆ

Anonymous said...

"กลับมาเรืื่องแจกไก่ สมมุติว่า เราสามารถแจกให้คนที่จะตายจริงๆได้ เช่นในแอฟริกา ซึ่งคนพวกนี้ไม่ได้กินไก่แน่ๆ ทำให้คนพวกนี้ประทังชีวิตไปได้ โดยจากแจกไก่นี้ กระทำในที่ลับ คือผู้ขายไก่รายย่อย ไม่ได้รับรู้ใดๆทั้งสิน แล้วชาวแอฟริกันเหล่านี้ ไม่ได้เป็นลูกค้าของพ่อค้าขายไก่รายย่อยแต่อย่างใด แบบนี้ถือว่าควรทำหรือเปล่า? ขำๆ"

อันนี้แน่นอนว่าผมเห็นด้วยอยู่แล้วล่ะ และผมเชื่อว่าในสมัยนั้นเขาก็ทำกันนะ เช่นรัฐบาลคงพยายามซื้อส่วนเกินให้มากที่สุด แล้วค่อยเอาไปกระจายตามจุดต่างๆ จริงๆ ที่เขียนในบลอค ผมก็ไม่ได้เชื่อว่าการเอาไก่ไปทิ้งทะเลคือทางออกที่ดีที่สุด แต่ว่าเป็นทางออกที่ "เข้าใจได้" และมี "เหตุผลรองรับอยู่" จะว่าไประยะหลังเราก็ไม่ค่อยได้ยินเรื่องเอาไก่ไปทิ้งทะเลอีกแล้ว ซึ่งผมเข้าใจว่าเป็นเพราะซีพีพัฒนาแบรนด์เป็นสินค้าหลักตัวหนึ่ง ซึ่งแบรนด์ก็เป็นสินค้าที่สามารถรักษาไก่ส่วนเกินเอาไว้ได้นานๆ นั่นแหละ

ส่วนเรื่องระบบ นอกระบบคงต้องคุยกันยาวววววววววมากกกกกกก แต่คุณคงรู้นิสัยผมอยู่แล้วล่ะว่าผมเชื่อในระบบแค่ไหน ไม่ได้หมายถึงระบบที่เป็นอยู่ขณะนี้คือสิ่งที่ดีที่สุด แต่ว่าการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่าจะเกิดขึ้นได้จากการคิดและกระทำกับทั้้งระบบมากกว่าอย่างอื่น (แต่การคิดนอกระบบไม่ได้ไม่มีประโยชน์เลยนะ)

ถ้า extreme ก็เหมือนเรื่องโลกร้อนนั่นแหละ สมมติว่ามันมีวิธีแก้ไขด้วยการฉีดสารยิงสารอะไรเข้าไปในบรรยากาศจริง มันจะดีกว่าวิธีการ "ในระบบ" ซึ่งก็คือการช่วยกันลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือค่อยๆ เปลี่ยนแปลงลดมลภาวะตรงจุดนู้นจุดนี้หรือเปล่า?