R. Davies's "Leaven of Malice"


เพิ่งค้นพบข้อมูลน่าสนใจ ปรากฎว่าไตรภาคซัลเตอร์ตันนี้เป็นไตรภาคแรกของโรเบิร์ดสัน เดวีส์ เท่ากับว่า Tempest Tost ก็เป็นนิยายเล่มแรกของเดวีส์เช่นกัน สารภาพว่าแปลกใจมาก Fifth Business ดูมีความเป็นนิยายเล่มแรกมากกว่าเป็นไหนๆ มันบรรจุความพลุ่งพล่านของนักเขียนหน้าใหม่ไฟแรง ขณะที่ Tempest Tost ดูเป็นนิยายเบาสมองของผู้ใหญ่ที่พึงพอใจกับสถานภาพชีวิตตัวเองแล้ว (ประกอบกับการที่ Fifth Business และไตรภาคเดปฟอร์ดคือชุดนิยายที่โด่งดังสุดของเดวีส์ด้วย ตรงนี้ยิ่งทำให้เราไขว้เขวเข้าไปใหญ่)

Leaven of Malice คือภาคต่อจาก Tempest Tost เช่นเดียวกัน เหตุเกิดในซัลเตอร์ตัน เมืองชนบทของประเทศแคนาดา ความแตกต่างประการหนึ่งระหว่างไตรภาคซัลเตอร์ตัน และไตรภาคเดปฟอร์ดคือ ขณะที่แต่ละเล่มของไตรภาคเดปฟอร์ดสามารถอ่านแยกๆ กันได้ ระหว่าง Leaven of Malice และ Tempest Tost เกี่ยวเนื่องกันอย่างชัดเจนกว่า ถ้าอ่านสลับลำดับกัน อาจไม่ได้อรรถรสเท่าที่ควร

เช่นเดียวกับภาคก่อนของมัน นี่ก็ยังเป็นนิยายเบาสมอง ที่วกวนอยู่กับความหยิ่งยะโสในเมืองเล็กๆ แห่งนี้ เหตุเกิดจากอยู่ดีๆ มีมือมืดไปลงประกาศในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นว่าหนุ่มสาวคู่หนึ่งกำลังจะแต่งงานกัน ปรากฎว่าเป็นเรื่องโอละพ่อ ตัวหนุ่มสาวทั้งคู่ ซอลลี และเพิร์ลแทบไม่เคยพูดจากันด้วยซ้ำ เรื่องตลกแบบนี้คงจบลงได้ง่ายๆ ถ้าเหตุไม่ได้เกิดมาจากศักดิ์ศรีของบรรดา “ผู้ยิ่งใหญ่” ที่ต้องการปกปักเกียรติยศจอมปลอมของตัวเอง ไปๆ มาๆ ศักดิ์ศรีกลับกลายเป็นสิ่งที่ยิ่งรักษาเท่าไหร่ ก็ยิ่งสูญเสียไปง่ายดายเท่านั้น

ถ้า Tempest Tost พูดถึงคณะละครท้องถิ่น Leaven of Malice ก็เกี่ยวกับหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ริดลีย์ หนึ่งในตัวเอกของนิยายเป็นบรรณาธิการใหญ่ของหนังสือพิมพ์ซึ่งลงประกาศดังกล่าว เขาต้องทำสงครามกับผู้คนรอบข้าง ทั้งทางด้านกฎหมาย และสังคม เพื่อปกป้องหน้าที่การงานของตัวเอง และอิสรภาพของสื่อมวลชน มีหลายบทความใน Leaven of Malice ที่สะท้อนความคิดเรื่องสื่อได้เป็นอย่างดี

อ่านนิยายเรื่องนี้จบแล้วก็อดสงสัยไม่ได้ว่า นิยายแบบนี้สามารถมาเซ็ตในประเทศไทยได้ไหม ชนบทของไทยจะเป็นอย่างชนบทในแคนาดาได้หรือเปล่า ถ้าพูดถึงธรรมชาติของมนุษย์ ท้ายสุดความหยิ่งยะโสก็น่าจะเป็นพื้นฐานของทุกวัฒนธรรม ทุกภาษา ถ้าเรา และคนรอบข้างอาศัยอยู่ในสถานที่หนึ่งมาแทบทั้งชีวิต ต่อให้เป็นนางมี นายมา ไม่มีการศึกษา หรือเงินทอง แต่มันจะไม่เกิดศักดิ์ศรีในตัวเองบ้างหรืออย่างไร แล้วทำไมนักวรรณกรรมชนบทในเมืองไทยถึงชอบวาดภาพคนชนบทออกมาซื่อ โง่ จน เจ็บ จำยอมตกเป็นเหยื่อของคนฉลาด คนเมืองหลวง หรือนักการเมืองร่ำไป

เขียนกันแต่นิยายแบบนี้นี่ไม่ยุติธรรมกับทั้งชาวชนบท และชาวกรุงหรอกนะ...จะบอกให้...

1 comment:

Anonymous said...

Your blog keeps getting better and better! Your older articles are not as good as newer ones you have a lot more creativity and originality now keep it up!