J. Derrida's "Of Grammatology"


เอาเข้าจริง Of Grammatology ตำราเล่มเอกของเดริดา ก็ไม่ใช่หนังสือที่อ่านยากขนาดนั้น ในเล่มนี้เดริดาวิเคราะห์กำเนิดภาษาผ่านงานเขียนของนักคิดในประวัติศาสตร์สามคนหลักๆ ได้แก่เซอซัว รุสโซ และเลวี สเตราส์ เนื่องจากเรามีพื้นกับงานของทั้งเซอซัว และรุสโซ และค่อนข้างคุ้นเคยกับเลวี สเตราส์ดี ก็เลยปีนกระได ไต่ๆ ปรัชญาของเดริดาได้

ถ้าให้สรุปรวบยอดประเด็นสำคัญของ Of Grammatology คือกำเนิดของภาษา (ให้เจาะจงลงไปอีกคือภาษาเขียน) สอดคล้องกับการที่มนุษย์หลุดจากธรรมชาติ และเริ่มรับเอาความเลวร้ายต่างๆ เข้ามาสู่เผ่าพันธ์ ความคิดตรงนี้ได้รับอิทธิพลอย่างมากจากทั้งรุสโซ และเลวี สเตราส์ (ซึ่งสืบทอดแนวคิดเชิงมานุษยวิทยามาจากรุสโซอีกทอดหนึ่ง) ความเลวร้ายที่ว่าเกิดจากมนุษย์ยกย่องสัญลักษณ์ โดยสับสนระหว่างชื่อ และตัวตนของวัตถุ

นี่คือจุดอ่อนของวิชาสัญศาสตร์ หรือพูดให้ถูกต้อง จุดอ่อนของสัญศาสตร์ในฐานะที่มันเป็นพื้นฐานของภาษาเขียน และวิทยาการแขนงต่างๆ สัญลักษณ์นั้นไม่ได้มีความหมายในตัวเอง แต่มีความหมายเนื่องว่ามันไม่ได้เป็นสิ่งอื่นที่ไม่ใช่ตัวมัน ("แมว" หมายถึงสัตว์ชนิดหนึ่งซึ่งไม่ใช่หมา กา ไก่ หมู ฯลฯ) ดังนั้นสัญศาสตร์จึงนำไปสู่การเปรียบเทียบ ความแตกต่าง และความขัดแย้งระหว่างเพื่อนมนุษย์ ตัวอย่างจากเลวี สเตราส์คือชนเผ่าพื้นเมืองเผ่าหนึ่งไม่มีการใช้วิสามนยนาม พวกเขาจึงไม่เกิดอัตตาที่แยกตัวตนของปัจเจกออกจากหมู่คณะ ซึ่งนำไปสู่ความสงบสุขในหมู่บ้าน

Of Grammatology เปิดด้วยเซอซัว ก่อนจะต่อมายังรุสโซ และเลวี สเตราส์ แต่ในความเห็นเรา เดริดาน่าจะสลับเนื้อหาตรงนี้ เพราะบทแรกที่พูดถึงเซอซัวนั้นเป็นบทที่น่าขบคิดสุด เซอซัวรังเกียจภาษาเขียน เพราะมันคือการสร้างสัญลักษณ์ให้กับสัญลักษณ์ หรือชื่อของวัตถุอีกทอดหนึ่ง ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างชื่อ และตัววัตถุนั้นด้อยค่าลง ยกตัวอย่าง "แมว" ที่เป็นสัตว์มีสัญลักษณ์อ่านได้ว่า "แมว" ซึ่งแค่นั้นก็น่าจะเพียงพอแล้ว แต่ความสัมพันธ์ตรงนี้ถูกทำให้อ่อนลงด้วยชุดอักขระ "แ - ม - ว" ที่ใช้แทนเสียงว่า "แมว" อีกที

พูดยากเหมือนกันว่าจริงๆ แล้วเดริดาคิดยังไงกันแน่กับประเด็นทางภาษาตรงนี้ เขาเห็นด้วยมากน้อยแค่ไหนกับนักคิดทั้งสามคนที่ยกขึ้นมาอ้าง ถ้าถามความเห็นเรา เดริดาไม่ได้เห็นด้วยขนาดนั้น เขาพยายามอ่านงานของรุสโซ ให้ลึกกว่าสิ่งที่รุสโซเขียน โดยบอกว่า จริงอยู่ ภาษา และตรรกะอาจเป็นความเสื่อมโทรมจากสภาวะธรรมชาติ แต่ในความเสื่อมโทรมนั้น ก็มีแรงขับไปสู่สภาวะดั้งเดิมตามธรรมชาติเหมือนกัน ยกตัวอย่างว่า แรกสุดมนุษย์อยู่แยกกันตัวใครตัวมัน ดังนั้นจึงไม่ต้องการภาษา เมื่อภัยธรรมชาติขับมนุษย์ให้มาอยู่รวมกันเป็นเผ่า ภาษาพูดจึงเกิดขึ้นมา แต่ขณะเดียวกัน วิวัฒนาการของภาษาพูดซึ่งนำไปสู่ภาษาเขียนนั้น ก็ช่วยให้มนุษย์เรากลับไปแยกกันอยู่ตัวใครตัวมันอีกครั้ง ถ้าให้พูดแบบเฮเกล ก็ต้องบอกว่านี่คือวิภาษวิธี (Dialectic) ระหว่างภาวะเสื่อมโทรม และภาวะธรรมชาติ

ในฐานะนักวิทยาศาสตร์ อย่างไรเราก็ยังเป็นคนยึดติดกับภาษา และสัญลักษณ์ เลยอดน้อยใจไม่ได้ที่เดริดาไม่ยอมเปิดเผยตัวตน ออกมาปกป้องวิชาสัญศาสตร์ เดริดาคือนักปรัชญาที่ "อ่าน" งานคนอื่นจริงๆ น้ำเสียงของเขาใน Of Grammatology คือใบหน้าของเดริดาที่ซ่อนตัวอยู่ภายใต้หน้ากากของเซอซัว รุสโซ และเลวี สเตราส์

ซึ่งคิดแบบขำๆ แล้วก็แทบไม่แตกต่างอะไรจากที่รักชวนหัวกำลังทำอยู่นี่เอง

1 comment:

Anonymous said...

บังเอิญค้นแล้วเจอ blog นี้ เลยอยากเสนอว่า

ถ้าความคิดที่แดร์ริดา(พยายาม) "เขียน" ใน Of Grammatology ดูตื้นและทื่ออย่างที่ผู้เขียนกำลัง "พูด" ให้เป็นอยู่ เห็นว่าคงจะไม่ใช่ Of Grammatology แต่คงเป็น How to read ... เสียมากกว่า