G. Flaubert's "Madame Bovary"


โอ้ คนฝรั่งเศส!

Madame Bovary ทำให้เรานึกถึงพวกวรรณกรรมฝรั่งเศสที่เคยอ่านสมัยยังเป็นนักเรียน เพราะมันช่างเป็นนิยายที่ฝรั่งเศ๊ส ฝรั่งเศสอะไรจะปานนี้ อ่านแล้วก็ถึงบางอ้อเลยว่าทำไม ขณะที่เราคุ้นเคยกับวรรณกรรมอังกฤษ เยอรมัน อิตาลี รัสเซีย หรือกระทั่งยุโรปชาติอื่นๆ วรรณกรรมฝรั่งเศสเป็นบางอย่างที่เราไม่ค่อยแตะต้อง ถ้าให้จำกัดความกันแบบ stereotype สุดๆ วรรณกรรมฝรั่งเศสจะวนเวียนอยู่กับเรื่อง "รักใคร่" และ "ศีลธรรม" พลอตสุดฮิตคือเรื่องการนอกใจสามี หรือภรรยา โดยมุ่งประเด็นไปที่ทางเลือกของตัวละครระหว่าง "รักใคร่" และ "ศีลธรรม" ตั้งแต่ The Princess of Cleves จนถึง Dangerous Liaisons โดยต่างผู้เขียน ต่างยุคสมัยก็สนับสนุนทางเลือกที่ต่างกันไป

ขณะที่วรรณกรรมอังกฤษจะผูกเรื่องโดยเอาประเด็นเงินๆ ทองๆ มาเป็นเงื่อนไข (สมกับเป็นประเทศแห่งอดัม สมิธ บิดาแห่งระบบทุนนิยม) คนฝรั่งเศสดูจะรำคาญเรื่องเงินๆ ทองๆ อยู่ไม่น้อย ถ้าไม่แกล้งทำลืมๆ หรือไม่กล่าวถึงเสียเลย ก็จะมีทีท่าเช่นเดียวกับฟลอเบิร์ตใน Madame Bovary คือจงใจให้มันวุ่นวาย สับสน และน่ารำคาญ ทั้งที่เอาเข้าจริง ประเด็นเงินทองนี่แหละเป็นประเด็นหลักของ Madame Bovary ไม่แพ้เรื่องรักใคร่เลย สิ่งที่ผลักดันตัวละครไปสู่จุดไคลแม็กของเรื่องก็คือเงินทอง ไม่ใช่ความรัก

สังเกตว่าวรรณกรรมอังกฤษจะเน้นการโต้ตอบกันระหว่างตัวละคร วรรณกรรมเยอรมันเน้นปรัชญา โดยมีตัวละครเป็นกระบอกเสียง ส่วนวรรณกรรมฝรั่งเศสจะเน้นที่ความคิด และการเติบโตของตัวละคร มีบางอย่างคล้ายคลึงกับงานเขียนแนวชีวประวัติ อย่าง Madame Bovary ก็เป็นชีวิตของนางเอมมา โบวารี นี่แหละ ฟลอเบิร์ตบอกที่มาที่ไป ให้เรารู้ว่าทำไมเธอถึงเป็นตัวละครอย่างที่เธอเป็น ทำไมเธอถึงนอกใจสามี ทำไมเธอถึงใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ไม่ค่อยแปลกใจเลยว่าทำไมนักอัตถิภาวนิยมในศตวรรษที่ 20 ถึงมักเป็นคนฝรั่งเศส

และจากที่กล่าวมาข้างต้น ก็ไม่แปลกใจอีกเช่นกัน ทำไมวรรณกรรมฝรั่งเศสถึงไม่ค่อยโดนจริตเรา

จริงๆ ก็ไม่ค่อยอยากใช้ Madame Bovary เป็นตัวตายตัวแทนของวรรณกรรมฝรั่งเศสทั้งหมดหรอก นี่เป็นนิยายน่าอ่าน และมีอะไรให้ขบคิดมากมาย หลายคนชอบเปรียบเทียบเอมมา โบวารี กับดอน คิโฮเต้ ซึ่งก็เป็นการเปรียบเทียบที่ไม่เลวนัก ทั้งคู่ชอบอ่านหนังสือ เป็นนักฝัน หลงอยู่ในโลกลวงตา และสุดท้ายชีวิตก็ถูกทำลายอันเนื่องมาจากว่าโลกแห่งความจริง ไม่ได้เป็นเช่นเดียวกับโลกในนิยายแล้ว โศกนาฏกรรมของพวกเขาคือการใช้ชีวิตในโลกที่ปราศจากทางเลือก และการผจญภัย ขณะที่ดอน คิโฮเต้หลอกตัวเอง มองกังหันลมเป้นมังกร เอมมา โบวารี หนีเข้าไปในเพศสัมพันธ์ และใช้การคบชู้สู่ชายเป็นทางออกของชีวิตเธอ

3 comments:

เจริญชัย ไชยไพบูลย์วงศ์ said...

อ่านแล้ว "โดน" ที่สุดในทุกอันที่อ่านมาเลย

ผมยอมรับว่าไม่ค่อยชอบ "มาดามโบวารี" เหมือนกัน แต่หาสาเหตุไม่ได้ พออ่านของคุณแล้วจึงกระจ่างชัด

ประทับใจตั้งแต่รูปที่นำลงแล้ว สะท้อนความเป็นฝรั่งเศสมากๆเลย

เข้าใจคนฝรั่งเศสมากขึ้นแหะ

Finianrainbow said...

กำลังจะเริ่มอ่าน "มาดามโบวารี"อยู่พอดี ได้แง่มุมในการกลับไปอ่าน แต่ก็จะไม่ให้กลายเป็นมีอิทธิพลต่อการอ่านนะคะ

ขอบคุณสำหรับการ post เรื่องราวดีๆ ทำให้เรากล้าที่จะอ่านหนังสือหลากหลายมากขึ้น แม้บางเรื่องที่คุณ post เราจะไม่มีความรู้มาก่อนเลย แต่เราเริ่มที่จะไม่กลัวในการไต่ step การอ่านไปทีละขั้น...ตามประสาเภสัชกรที่ไม่รักการปรุงยา แต่ดันมาหลงรักการปรุงตัวอักษร...เฮ้อ
Finianrainbow

leaupsoan said...

g4g02q1t09 v3s17c9c15 p8t51c1w58 q9x73h9x56 f3g22j1e25 k7s83u0z49