8 1/2 ริกเตอร์ (อนุสรณ์ ติปยานนท์)


อาจารย์ต้นก็ยังเขียนหนังสือได้เท่ห์เหมือนเดิม ไม่สิ ต้องบอกว่าเท่ห์ยิ่งกว่าเดิมด้วยซ้ำ ความเท่ห์และความดีนั้นไม่เหมือนกัน ความดีของหนังสือสักเล่มขึ้นอยู่กับกฎเกณฑ์อันลื่นไหลมากมาย แต่ความเท่ห์ของนักเขียนคนหนึ่ง อยู่กับว่าในหนังสือแต่ละเล่มที่เขาเขียนขึ้นมานั้น เขาสามารถเจียระไนตัวเอง สร้างจุดเด่น และความเป็นตัวตนให้นักอ่านสัมผัสได้สักแค่ไหน ในฐานะที่เราอ่านหนังสืออาจารย์ต้นมาครบทุกเล่ม พูดได้เลยว่าอาจารย์ต้น "เท่ห์มากๆ " (ต้องบอกก่อนว่าการย้ำคิดย้ำทำ เขียนหนังสือแบบเดิมซ้ำซากไม่ใช่ความเท่ห์ ความเท่ห์มันต้องบวกพัฒนาการด้วย ไม่ใช่ลอกเลียนตัวเองมาหมด กระทั่งข้อด้อย)

8 1/2 ริกเตอร์ เต็มเปี่ยมไปด้วยลายมือของอาจารย์ต้น เนื้อเรื่องที่ข้องแวะกับวัฒนธรรมญี่ปุ่น เหตุการณ์เหนือธรรมชาติ การค้นหาความจริง (หรือลวง) ในอดีต และที่ขาดไม่ได้คือผัสสะรสของอาหาร แต่ขณะเดียวกันถ้าเทียบกับ ลอนดอนกับความลับในรอยจูบ ก็เห็นพัฒนาการบางอย่างด้วย เช่นเส้นเรื่องที่ชัดเจนขึ้น 8 1/2 ริกเตอร์ จับตามองหนุ่มญี่ปุ่นที่มาค้นหาความจริงทางประวัติศาสตร์ และภูมิศาสตร์ในประเทศไทย สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง หัวใจของ 8 1/2 ริกเตอร์ คือเรื่องของคลื่น หรือพลังที่มองไม่เห็น ซึ่งอยู่รอบตัวเรา และบางทีสามารถสื่อสารกับเราได้ ความที่มันเป็นเรื่องลึกลับ ไสยศาสตร์ บวกผจญภัยน้อยๆ นี้เอง ก็ช่วยสร้างอรรถรสให้อ่านสนุกขึ้น

เป็นธรรมเนียมของนักเขียนรุ่นใหม่กระมัง ที่ชอบอ้างศิลปิน ผู้กำกับ หรือนักเขียนระดับโลกเข้ามาในผลงาน ส่วนหนึ่งก็คงเพื่อปูภูมิ ความน่าเชื่อถือให้กับตัวผู้เขียน ซึ่งตรงนี้ผู้ใหญ๋ หรือคนรุ่นก่อนอาจจะรู้สึกว่าน่าหมั่นไส้ อย่างไรดีล่ะ เราไม่เกี่ยงนะ ในแง่หนึ่ง มันก็คือพัฒนาการของวรรณกรรมไทยซึ่งหลุดจาก "หล่มเพื่อชีวิต" จากตัวละครตาสีตาสาที่ "เขียน ก ไก่ ไม่ถึง ต เต่า อะอาอิอีไม่เอา" ในเมื่อปัจจุบันพระเอก นางเอกแปรเปลี่ยนมาเป็นชนชั้นกลางแล้ว จะให้เป็นชนชั้นกลางโดยสมบูรณ์แบบ ก็ต้องมีพื้นความรู้ทางศิลปะด้วย อีกแง่หนึ่ง การยืมชื่อศิลปินเหล่านั้นมาแปะในผลงาน ก็สามารถสร้างเนื้อหาเชิงลึก เราชอบมากที่พระเอกบรรยายว่าตัวเขาชอบหนังของ จุน อิชิกาวา แต่แฟนของเขาชอบ คิโยชิ คุโรซาวา แค่นี้ก็เปิดแง่มุมให้ตีความได้ร้อยแปดแล้ว แต่วิธีนี้ก็เป็นดาบสองคมเหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น การอ้างมาเกวซ และคาฟคา กลับดูพิพักพิพ่วน ไม่ค่อยกลมกล่อมเท่าไหร่

ข้อเสียหลักข้อเดียวเลยของ 8 1/2 ริกเตอร์ คือเราไม่ชอบตอนจบ รู้สึกเป็นความพยายามมากเกินไปที่จะให้จบอย่างสุขสันต์ ขณะเดียวกันก็เป็นความสุขสันต์ที่ปะแล่มๆ ในสายตาเรา กับโทนเรื่องแบบนี้ ในนิยายขนาดสั้นแบบนี้ น่าจะปล่อยตอนจบให้คลุมเครือไปเลย คงจะเหมาะกว่า

3 comments:

Anonymous said...

อ่านมาเรื่อย ๆ ครับ แต่ไม่ได้มาเขียนคอมเมนต์เท่าใดครับ

จริง ๆ เห็นหลายเรื่องแล้วอยากไปอ่านตาม แต่ปัจจุบันหาเวลาอ่านอะไรได้ยากเหลือทน

(เห็นเขียนในเรื่อง "รักชวนหัว" ซึ่งหายไปแล้ว ก็เลยขอคอมเมนต์ในเรื่องนี้แทนแล้วกันครับ)

B. said...

ตัวหนังสือใหญ่ได้อีก!
ดำขาวอ่านแล้วแสบตาได้อีก!

Anonymous said...

เท่ ไม่ใช่ เท่ห์ นา..