ความสุขของนักโครงสร้างนิยม 3


เป็นตอนสุดท้ายแล้ว ที่จะพูดถึงนิยาย ความสุขของกะทิ และบทวิจารณ์ ความเลอเลิศของกะทิ (ขอบคุณคนที่เข้ามาเม้นท์มากครับ ไม่อย่างนั้นคงขี้เกียจเขียนไปตั้งแต่ตอนที่หนึ่งแล้ว) ได้สรุปข้อกล่าวหาของคุณคำผกาต่อนิยาย ความสุขของกะทิ ไว้สองข้อ ซึ่งข้อแรกได้พูดถึงไปแล้ว วันนี้จะขอพูดถึงข้อสองบ้าง ซึ่งก็คือ "ความสุขของกะทิ สนับสนุนระบบอุปถัมภ์ ซึ่งเป็นขั้วตรงข้ามกับสังคมแห่งความเท่าเทียม"

ก่อนอื่นต้องชมคุณคำผกาก่อน ว่าตีความตรงนี้ได้เฉียบคมมาก คุณคำผกายกตัวอย่างที่ชัดเจนมาสองข้อ ได้แก่ความสัมพันธ์ระหว่างคุณตาของกะทิ และคนในหมู่บ้าน คุณตา แม้จะเป็นทนายความมีการศึกษาสูง แต่ก็ยังกลับมาช่วยเหลือคนในบ้านเกิด โดยผิวเผินแล้วก็เหมือนจะดี แต่ในทางกลับกัน ก็ยิ่งตอกย้ำสภาพความจริงในสังคมอุปถัมภ์ ที่คนจนก็ต้องจนต่อไป ได้แต่อ้าปากรอคอยเมตตาจากคนรวย คนที่เกิดมาแล้วโชคดีกว่า มีโอกาสทางการศึกษาสูงกว่า หรืออีกตัวอย่างหนึ่งก็คือการซักผ้าของยาย ที่ต้องแยกผ้าเป็นแต่ละประเภท ใช้ภาชนะแตกต่างกัน ซึ่งสะท้อนกรอบคิดความไม่เท่าเทียมกันในสังคม และความพยายามของชนชั้นสูง (และชั้นกลาง) ที่ไม่ต้องการให้วัฒนธรรมของคนชั้นล่างเข้ามาแปดเปื้อนตัวเอง

เห็นด้วยกับคุณคำผกาในข้อนี้ และขออนุญาติตอบข้อกล่าวหาของคุณคำผกาอย่างดื้อๆ เหมือนที่เคยตอบไปแล้วว่า สภาพการหยิบยืมใน ความสุขของกะทิ ไม่ใช่จุดด้อยของหนังสือ การที่คุณงามพรรณตั้งใจสะท้อนระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทย (ซึ่งไม่ต้องถกเถียงเลยว่ามีจริงหรือเปล่า เพราะมันมีจริงแน่ๆ ) ก็ไม่น่าจะเป็นจุดด้อยของหนังสือเช่นกัน น่าจะเป็นคำถามให้ไปคิดต่อกันเองมากกว่าว่าระบบอุปถัมภ์เป็น "ความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้" หรือเป็น "ความเลวร้ายของสังคม" กันแน่

ผู้ใหญ่ท่านหนึ่ีงเคยกล่าวเอาไว้ว่าสังคมไทยในปัจจุบันนั้นอยู่ตรงกลางระหว่างความเป็นตะวันตก และตะวันออก คือเรายังไม่หลุดจากระบบอุปถัมภ์อย่างเต็มตัว แต่ขณะเดียวกัน เราก็ไปไม่ถึงสังคมแห่งความเท่าเทียมด้วย ถ้าเช่นนั้น เราควรอยู่ตรงไหน แน่นอนว่าการกระโดดกลับไปหาสังคมอุปถัมภ์ ย่อมไม่ใช่ทางเลือกที่ดี แต่ขณะเดียวกัน สังคมแห่งความเท่าเทียม ที่เราใฝ่ฝัน(?) นั้น มันมีอยู่จริงด้วยหรือ ขนาดว่าในโลกตะวันตก ความไม่เท่าเทียมกันก็ยังเป็นสัจนิรันดร์ ทั้งในค่ายสังคมนิยม และทุนนิยม แทนที่จะมองว่า ระบบอุปถัมภ์ คืออุปสรรคซึ่งกั้นกลางระหว่างสังคมไทย และสังคมอุดมคติ เราน่าจะมองมันว่าเป็นส่วนเติมเต็มที่ช่วยให้สังคมดำเนินต่อไปอย่างราบรื่นมากกว่า

เรากล่าวไว้ตั้งแต่ตอนแรกว่า ความสุขของกะทิ ถูกโจมตีด้วยกระแส overrated ซึ่งไม่ได้หมายความว่าทุกคนที่ไม่ชอบนิยายเล่มนี้ ต้องไม่ชอบเพราะความหมั่นไส้ อย่างเราเองก็มีเพื่อนสองคนซึ่งอ่านนิยายเล่มนี้ ก่อนที่มันจะได้รางวัลซีไรต์ (แต่หลังจากมันเข้ารอบสุดท้าย) แล้วก็ไม่ชอบด้วยกันทั้งคู่ แต่สิ่งหนึ่งซึ่งทั้งสอง หรือไม่ว่าใครต่อใครคงปฏิเสธได้ยาก ความสุขของกะทิ เป็นหนังสือเด็กที่ดีที่สุด เท่าที่เคยเขียนๆ กันมาในช่วงสิบปีให้หลังนี้ ปัญหาคือ "หนังสือเด็กที่ดี" นั้นควรได้รางวัลซีไรต์หรือเปล่า คำตอบของเราคือ "อาจจะไม่ก็ได้"

บางทีสิ่งที่แวดวงวรรณกรรมไทยต้องการคือคนอย่างคุณยายของกะทิ ที่จะแบ่งแยก จัดระบบ และสร้างภาชนะรางวัลอื่นๆ ให้กับวรรณกรรมแนวต่างๆ เพื่อจะได้ไม่ต้องมีใครหมั่นไส้ หรือคัดค้านเมื่อหนังสือเด็กดีๆ สักเล่มจะได้รางวัล

1 comment:

Anonymous said...

อ่านแล้วชอบมากมายค่ะ ^_^