ความสุขของนักโครงสร้างนิยม 2


ไม่ว่านักวิจารณ์คนใดก็ไม่อาจกล่าวได้ว่าสภาพการหยิบยืมใน ความสุขของกะทิ เป็นข้อด้อยของหนังสือเล่มนี้ แต่เพราะสังคมไทยยังยึดติดในมายาคติที่ว่าศิลปะต้องสะท้อนความจริง ศิลปะที่สะท้อนงานศิลปะอีกที เลยถูกมองว่าด้อยกว่า ขาดความดั้งเดิม หรือแย่กว่านั้นคือ ผู้เขียนไปลอกคนอื่นมา มายาคติลักษณะนี้คือการสับสนระหว่าง "เรื่องแต่ง" และ "ข่าว" ข่าวนั้น ต่อให้เขียนดียังไง ไม่สำคัญเท่ากับว่าชิ้นงานสะท้อนสิ่งซึ่งนักข่าวไปพบไปเห็นมาหรือเปล่า ในทางตรงกันข้าม คุณค่าของเรื่องแต่งคือคุณค่าในตัวเอง ไม่ว่าวัตถุดิบจะหยิบยืมมาจากความเป็นจริง หรือเรื่องแต่งอื่นๆ ไม่อาจนำมาใช้ลด หรือเพิ่มคุณค่าของชิ้นงานนั้นๆ ได้ (ซึ่งก็หมายความว่า การที่เราจับ "กะทิ" ไปเทียบกับ "อิคคิวซัง" ก็ไม่ได้เพิ่มคุณค่าให้หนังสือเล่มนี้เช่นกัน)

ถ้าสภาพการหยิบยืมไม่อาจนำมาใช้เป็นข้อดี ข้อด้อย แล้วอะไรเล่าที่สามารถใช้ได้ คำตอบอยู่ในสิ่งซึ่งนักวิจารณ์หลายคนมักมองข้ามไป หรือไม่ค่อยพูดถึงกัน ความสุขของกะทิ เป็นนิยายที่มีการเล่าเรื่องแปลกใหม่ และแตกต่างจากขนบวรรณกรรมแบบเดิม เป็นการเล่าเรื่องกึ่งสารคดี กึ่งเรื่ิองแต่ง ใกล้เคียงสุดที่เคยปรากฎบนแผงหนังสือบ้านเราคือ ช่างสำราญ ของคุณเดือนวาด โดยส่วนตัว เราว่า ช่างสำราญ ยังมีปัญหาเรื่องการรักษาสมดุลระหว่าง "สารคดี" และ "เรื่องแต่ง" โดยหนักไปทางอย่างแรกเสียมากกว่า ซึ่งตรงกับข้อกล่าวหาของคุณวาณิช ที่วิจารณ์ว่า ช่างสำราญ ไม่ใช่นิยาย แต่เป็นงานเขียนเบ็ดเตล็ดเชิงสารคดี

ความสุขของกะทิ ตีพิมพ์ในปี 2547 หนึ่งปีหลังจาก ช่างสำราญ ได้รางวัลซีไรต์ (ซึ่งก็หมายความว่า มันไม่ได้ถูกเร่งพิมพ์ออกมาเพื่อชิงรางวัลในปี 2549 ลบล้างข้อกล่าวหาของใครต่อใคร ในสิบเล่มที่ผ่านเข้ารอบ ถ้าจะมีสักเล่มหนึ่ง ซึ่งไม่ได้ถูกเขียน หรือพิมพ์ขึ้นมาเพื่อชิงซีไรต์ ก็คงเป็น ความสุขของกะทิ นี่เอง...อุ๊บส์) ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าคุณงามพรรณได้รับอิทธิพลจากคุณเดือนวาดมามากน้อยแค่ไหน แต่จุดเด่นของ ความสุขของกะทิ คือมันไม่ได้เรื่อยเปื่อย ชนิดว่าพออ่านจบ แล้วเราไม่แน่ใจว่าเพิ่งอ่านอะไรไป เช่นเดียวกับตัวละครกะทิ ซึ่งเป็นผลพวงของโลกชนบท และโลกในเมือง (the best of two worlds) นิยายเล่มนี้จึงเป็นการประสานจุดเด่นกลวิธีการเล่าเรื่องสองแบบเข้าด้วยกันอย่างกลมกล่อม

สำหรับหลายคนที่ชอบ ความสุขของกะทิ คงเห็นตรงกันว่าหนังสือเล่มนี้ไม่ได้อ่านสนุกที่ประเด็นแม่ หรืออดีตของตัวละคร (ซึ่งแม้จะเรียกน้ำตาสักแค่ไหน แต่ก็เพิ่งมาเปิดประเด็นเอาช่วงกลางๆ เล่มเท่านั้น) ความเป็นสารคดี วิถีชาวบ้าน ชาวกรุงต่างหากคือเสน่ห์ที่แท้จริง โดยผิวเผินงานเขียนลักษณะชมสวม ชมชนบท ไม่ใช่ของแปลกใหม่ในบ้านเรา แต่คุณงามพรรณสามารถเล่าสิ่งเหล่านี้ออกมาได้โดยปราศจากอคติ อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า กะทิคือผลพวงของสองวัฒนธรรม สายตาที่กะทิมองโลกภายนอกจึงไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แตกต่างจากงานเขียนแนวเพื่อชีวิต (socialist realism) ที่จะต้องวางของสองสิ่งไว้ตรงข้ามกันเสมอ (ถ้าจะชมชนบทประโยคหนึ่ง ก้ต้องด่าเมืองอีกสักประโยค)

ตรงนี้ก็เลยยิ่งส่งเสริม ความสุขของกะทิ ให้สวยงาม (และน่าหมั่นไส้) เข้าไปอีก เพราะมันไม่มีผู้ร้าย โลกของกะทิอาจจะสวยงามเกินไป และไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง แต่อย่างน้อย ก็ยังเป็นสัจจะ (realistic) มากเสียกว่า "หล่มเพื่อชีวิต" ที่พยายามแบ่งโลกเป็นขาวดำ (หรือแดง เหลือง) อย่างชัดเจน

(ติดตามตอนต่อไป ตอนจบแล้ว)

1 comment:

Anonymous said...

ชอบบทความนี้ครับ