M. Heidegger's "Poetry, Language, Thought"


ใน The Sovereignty of Good มีประโยคตลกๆ ประโยคหนึ่ง เมอดอชเชื่อว่านักปรัชญาส่วนใหญ่ทำงานเป็นกระบอกเสียงให้กับปีศาจ ส่วนไฮเดกเกอร์คือปีศาจตัวเป็นๆ (ที่จริงเราเริ่มสนใจอ่านงานของไฮเดกเกอร์ และนักปรัชญาคนอื่นๆ ก็จากนิยายสักเรื่องหนึ่งของเมอดอชนี่แหละ)

กระปู้นนู้น ร้อยปีที่แล้ว สมัยรางวัลโนเบลก่อตั้งใหม่ๆ สาขาวรรณกรรมนอกจากจะมอบให้นักเขียนแล้วยังมอบให้นักปรัชญาด้วย สำหรับคนยุคท้ายๆ ศตวรรตที่ 20 อย่างเรา ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมงานเขียนทางด้านปรัชญา ถึงถูกจัดอยู่ในหมวดวรรณกรรมได้ แต่ท่าจะไม่ใช่เราคนเดียวที่ไม่เข้าใจ เพราะยุคหลังๆ ก็เหมือนไม่มีนักปรัชญาได้รางวัลนี้อีกแล้ว อาจแสดงให้เห็นถึงญาณวิทยาที่แตกต่างกันไปในแต่ละสมัย

กระนั้นจะอ่านงานเขียนของปีศาจให้รู้เรื่อง แทนที่จะมองว่ามันเป็นหนังสือปรัชญา ให้มองว่าเป็นนิยายสักเล่มหนึ่ง น่าจะดีที่สุด

ซึ่งว่ากันตรงๆ เรารู้สึกว่า Poetry, Language, Thought และงานเขียนของไฮเดกเกอร์ที่เราเคยอ่าน ใกล้เคียงกับนิยาย มากกว่าบทความทางปรัชญา ไฮเดกเกอร์ตั้งคำถามว่าอะไรคือต้นกำเนิดของงานศิลปะ ก่อนจะโยกย้ายไปพูดถึงแจกัน รองเท้าของแวนโก๊ะ วิหารพาเทนอน สิ่งศักดิ์สิทธิ์ โทรทัศน์ วิทยาศาสตร์ สุญญากาศ หลังๆ มีกระทั่งระเบิดปรมาณู ถ้าธรรมชาติของนิยาย หรือเรื่องแต่งคือการนำพาผู้อ่านจากจุดตั้งต้น ไปยังจุดหมายอีกแห่งหนึ่ง บทความของไฮเดกเกอร์น่าจะเข้าข่ายนี้ได้

ให้สมุนปีศาจอย่างเรา สรุปความคิดลูกพี่สั้นๆ ได้ดังนี้ ศิลปะคือสิ่งที่ช่วยให้ผู้เสพตระหนักถึงความจริง ผ่านสองกระบวนการ หนึ่งคือการเปิดพิภพสู่โลกา โดยไฮเดกเกอร์นิยามพิภพว่าคือสิ่งที่ปกปิดซ่อนเร้น ส่วนโลกาคือสิ่งที่เปิดเผย ความจริงจะปรากฎก็ต่อเมื่อพิภพถูกเปิดไปหาโลกา โดยช่องว่างที่เชื่อมต่อสองส่วนนี้เกิดจากแรงผลักดันกันระหว่างความต้องการจะปกปิดของพิภพ และความต้องการจะเปิดเผยของโลกา (ไฮเดกเกอร์อธิบายธรรมชาติของช่องว่างไว้อย่างน่าพิศวง แต่เก็บไว้อ่านเองแล้วกัน) และบนช่องว่างดังกล่าง ก็คืองานศิลปะที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดแรงผลักดัน

ตัวอย่างที่ไฮเดกเกอร์ให้มาในบทความคือวิหารเทพเจ้า แกบรรยายไว้อย่างสวยงามถึงอิทธิพลของวิหาร อันมีต่อผืนดินที่มันตั้งอยู่ ป่าไม้ซึ่งล้อมรอบ ทะเลที่หันหน้าเข้าใส่ ท้องฟ้าที่โอบกอด และส่งต่อไปยังโลกทั้งใบ จนกลายเป็นว่าวิหารไม่ได้ตั้งอยู่ในโลก แต่โลกถูกทำให้เป็นโลกก็ด้วยการที่มีวิหารแห่งนี้ตั้งอยู่นั่นเอง

ส่วนกระบวนการที่สองให้ผู้เสพตระหนักถึงความจริง ผ่านการรวบรวมองค์แห่งภววิสัยทั้งสี่ ได้แก่โลกา นภา เทวา และชีวา (ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว ทั้งสองกระบวนการนี้เป็นกระบวนการเดียวกัน หากแต่มองจากต่างมุม) ที่ไหนมีศิลปะ ที่นั้นก่อเกิดการสะท้อนกลับไปกลับมาขององค์ทั้งสี่นี้ ภายในแจกัน แจกันที่ที่เป็นมากกว่าวัตถุ แต่ยังเป็น งานศิลปะ มีโลกาประทับอยู่ ในโลภานั้น ได้สะท้อนนภา เทวา และชีวาไว้ด้วย ภายในแจกัน มีนภาประทับอยู่ ในนภานั้น ได้สะท้อนโลกา เทวา และชีวาไว้ด้วย ภายในแจกัน มีเทวาประทับอยู่ ในเทวานั้น ได้สะท้อนนภา โลกา และชีวาไว้ด้วย และภายในแจกัน มีชีวาประทับอยู่ ในชีวานั้น ได้สะท้อนโลกา นภา และเทวาไว้ด้วย

เอาแค่นี้แล้วกัน พอหอมปากหอมคอกับเวทมนต์ของปีศาจ!

2 comments:

Do You Remember me? said...

ทู รบกวนตอบอีเมล์เราด้วย เราส่งไปอีเมล์ l u a m
ที่ที่เราเคยเมล์หากัน เราต้องการคำตอบด่วน
โทษที

Do You Remember me? said...

ตอบกลับเราในอีเมล์นะ เพิ่งตอบไป

เรารอได้ หลังมกรา เรารอได้ ยังไง เราว่าคนที่เหมาะที่สุดก็ทูนี่ล่ะ ตอบกลับมานะ เราต้องการคำตอบแค่ ตกลง จ้ะ