R. O. Paxton's "The Anatomy of Fascism"


วันก่อนเล่าประวัติศาสตร์การเมืองยุโรปให้ผู้กำกับฟัง อยู่ดีๆ ผู้กำกับก็ถามเราว่า "ตกลงฟาสซิสคืออะไร เหมือนกันกับคอมมิวนิสต์หรือเปล่า" คำตอบข้อหลังน่ะรู้ ว่าไม่เหมือน แต่ข้อแรกนี่สิ ตกลงแล้วฟาสซิสมันคืออะไรของมัน (กันแน่วะ) อีกวันเดินในร้านหนังสืออยู่ดีๆ พอเห็น The Anatomy of Fascism เลยรีบซื้อมา

พออ่านจบ ก็ยังบอกไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นว่าฟาสซิสแปลว่าอะไร รู้แต่ว่าหลายอย่างที่เราเคยคิดว่าเป็นฟาสซิส ปรากฎว่าไม่ใช่แฮะ ยกตัวอย่างสเปน และญี่ปุ่นช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง แม้จะเข้าเป็นฝ่ายเดียวกับมุสโสลินี และฮิตเลอร์ แต่ก็ไม่ใช่ฟาสซิสเสียทีเดียว ฟรังโก้คือตัวอย่างนักปกครองเผด็จการ ส่วนญี่ปุ่น ถ้าจะเป็นฟาสซิส ก็ถือเป็น "ฟาสซิสจากบนลงล่าง"

ฟาสซิสไม่เหมือนลัทธิอื่นๆ ที่ตั้งต้นมาจากทฤษฎี ต้องพูดด้วยซ้ำว่าความไร้ทฤษฎีของฟาสซิสคือสาเหตุที่มันพุ่งพรวดเอาๆ ในยุโรปต้นศตวรรษที่ 20 ฟาสซิสต่างจากเผด็จการตรงที่ขุมกำลังหลักของมันหาใช่ตัวผู้นำไม่ แต่เป็นปวงชนต่างหาก ฟาสซิสคือลัทธิการปกครองแบบ "ล่างขึ้นบน" มันเกิดในประวัติศาสตร์ ช่วงที่การเลือกตั้งเพิ่งกลายเป็นสิทธิ และหน้าที่ของคนทั้งประเทศ นักการเมืองจากยุคก่อนยังไม่คุ้นเคยกับการเอาอกเอาใจมวลชน นักการทหารอย่างมุสโสลินี และฮิตเลอร์ที่รู้จักใช้ฝีปากคารม ก็เลยกุมหัวใจคนหมู่มากไว้ได้ ประกอบกับที่มันไร้ทฤษฎี และหลักเกณฑ์ ฟาสซิสจึงสามารถปรับตัว สวมหน้ากากเพื่อตอบสนองความต้องการของคนทุกระดับชั้น ทุกความคิดเห็น

แพคตันอธิบายสภาพแวดล้อมทางประวัติศาสตร์ซึ่งนำไปสู่การขึ้นเถลิงอำนาจของฟาสซิส ตั้งแต่ช่องว่างอันเกิดจากความไร้ประสิทธิภาพของประชาธิปไตย และความหวาดกลัวสังคมนิยมของชนชั้นกลาง ฟาสซิสเกิดขึ้นในประเทศที่ประชาชนสิ้นหวังกับการเมือง และกำลังมองหาทางเลือกที่สาม มันคือลัทธิแห่งความไร้เสถียรภาพ ซึ่งเกิดมาจากความไร้เสถียรภาพของสังคม ขณะที่ตัวมันเองก็ไร้เสถียรภาพ เสมือนงูกินเหยื่อเสร็จ แล้วยังไม่อิ่ม ก็เลยหันไปงับหาง เพราะการโฆษณาชวนเชื่อของฟาสซิสอิงลัทธิชาตินิยมแบบสุดโต่ง มันจึงไม่อาจอยู่ได้ด้วยตัวเอง ต้องอาศัยการรุกราน และศัตรูจากภายนอก ภายใน เพื่อรักษาจิตวิญญาณของฟาสซิสเอาไว้ ทั้งฮิตเลอร์ และมุสโสลินีนำพาประเทศอิตาลี เยอรมันเข้าสู่สงคราม (ซึ่งนักประวัติศาสตร์หลายคนเริ่มเชื่อแล้วว่า ทั้งคู่อาจไม่ได้ปรารถนาเช่นนั้นตั้งแต่แรก) เพื่อตอบสนองความตื่นตัวของมวลชน และผู้ศรัทธาในระบบ

สุดท้ายใครกันแน่ที่โง่ ใครกันแน่ที่ฉลาด ใครปกครองใคร ใครทำร้ายใคร ประชาชนทำร้ายผู้ปกครอง หรือว่าผู้ปกครองทำร้ายประชาชน เหมือนเราได้ยินเสียงหัวเราะของกุนเดระดังมาจากที่ไหนสักแห่ง

4 comments:

Anonymous said...

มันยากจะเข้าใจจริงๆ

Anonymous said...
This comment has been removed by a blog administrator.
Anonymous said...

ลัทธิฟาสซิสต์ เป็นหนึ่งในลักษณะการปกครองของรัฐบาล ในลัทธิฟาสซิสต์ซึ่งปรากฏในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง , ประเทศเป็นสิ่งที่สำคัญกว่าตนหรือบุคคล ลัทธิฟาสซิสต์จะมีบุคคลคนหนึ่งปกครองประเทศเรียกว่า ผู้นำเผด็จการ, ผู้มีสิทธิในการควบคุมรัฐบาล และประชาชน ถึงแม้ว่าลัทธิฟาสซิสต์จะระบุว่าประเทศเป็นสิ่งสำคัญที่สุด แต่ในความเป็นจริงแล้วผู้นำแบบเผด็จการต่างหากที่เป็นสิ่งสำคัญที่สุดแม้แต่กับประชาชนเองก็ตาม

ลัทธิฟาสซิสต์ นั้นแตกต่างจากลัทธิคอมมิวนิสต์ ลัทธิฟาสซิสต์ ไม่ต้องการจะเป็นเจ้าของที่ดิน หรือโรงงานผลิตสินค้า แต่ลัทธิฟาสซิสต์จะทำงานอย่างใกล้ชิดกับสิ่งเหล่านั้นและใช้เป็นทรัพยากรในการผลิตกองทัพที่แข็งแกร่ง หรือส่วนอื่นของลัทธิฟาสซิสต์ มันสำคัญมากที่โรงเรียนทุกโรงในประเทศจะสอนเด็กว่าผู้นำเผด็จการเป็นบุคคลที่สำคัญที่สุดในโลก เมื่อโตขึ้นแบบอย่างที่ควรทำคือเข้ารวมกลุ่มกับลัทธิฟาสซิสต์ โดยบุคคลที่ไม่เห็นด้วยกับลัทธิจักต้องถูกสังหารหมู่ทั้งหมด ผู้นำลัทธิฟาสซิสต์มักจะเป็นบุคคลที่มียศสูงในกองทัพ ถึงแม้พวกเขาจะไม่มียศมาก่อนก็ตาม และมักปรากฏตัวในชุดกองทัพบกหรือกองทัพเรือต่อหน้าสาธารณะชน

Anonymous said...

เน้นการใช้อำนาจรัฐ
-เสรีนิยม
-อนุรักษ์นิยม
-ฟาสซิสม์

เน้นเรื่องเศรษฐกิจ
-ทุนนิยม
-สังคมนิยม
-คอมมิวนิสต์
-ลัทธิเลนิน
-ลัทธิสตาลิน
-ลัทธิเหมา

fascism ไม่ได้ไร้ทฤษฎี หรือไร้กฎเกณฑ์ แต่เราแค่ไม่รู้จักมันดีพอที่จะเข้าใจมันเท่านั้นเอง มันเป็นเรื่องของอำนาจ และสงคราม พิจารณาจากที่มา ก็อาจจะเข้าใจมันได้ง่ายขึ้น ของบางอย่างมันไม่แสดงตัวให้เห็นชัดเจน มันมักจะผสมปนเป อย่างเช่น ศาสนาพุทธในประเทศไทยของเรานี่ไง มันไม่ได้เป็นพุทธแบบ100%มันเป็นพุทธที่ผสมฮินดู แบบที่คนไทยก็แยกมันออกจากกันไม่ค่อยได้
พุทธสอนเรื่อง อนัตตา
ฮินดูสอนเรื่อง อัตตา สองอย่างที่ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง แต่คนไทยเรียกมันว่า ศาสนาพุทธ แม้แต่พระสงฆ์เองบ้างครั้งก็เป็นพวกเดียวกับอัตตา ดังนั้นอย่าได้เชื่อหนังสือให้มากนัก ก็แค่สิ่งที่เกิดขึ้นจากมนุษย์ ย่อมรู้จริงบ้าง ไม่รู้จริงบ้าง ก็แค่นั้น ดังคำbuddha ที่ว่าจงอย่าเชื่อ จนกว่าจะได้พิสูจน์เอง