L. Hutcheon's "A Theory of Parody"


จั่วหัวไว้แบบนี้ แต่จริงๆ ที่อยากพูดถึงไม่ใช่ผลงานวิจัยของฮัชเชียนเสียทีเดียว A Theory of Parody พยายามทำสองอย่างคือขยับขยาย และจำกัดนิยามคำว่า parody ขยับขยายตรงที่ parody ไม่ได้จำเพาะผลงานตลก ล้อเลียน แต่ศิลปะใดที่เกี่ยวกับงานศิลปะด้วยกันเอง ฮัชเชียนจัดว่าเป็น parody หมด (ถ้ายึดตามนี้ นิยามของมันอาจกว้างขวางเกินไปบ้าง เพราะเอาเข้าจริงมีงานศิลปะใดที่ไม่ได้เอ่ยอ้างงานศิลปะชิ้นอื่นเลย นักทฤษฎีวรรณกรรมบางสายถึงกับบอกว่าการ parody ซ้ำไปซ้ำมาคือพัฒนาการของวรรณกรรมตั้งแต่ยุคโบราณ) อยากพูดถึงจุดประสงค์ข้อหลังมากกว่า คือการจำกัดนิยามของ parody ให้แยกออกจาก satire หรือเรื่องเสียดสี ขณะที่ parody คือศิลปะที่ลอกเลียนศิลปะด้วยกัน งานเสียดสีคือศิลปะที่ลอกเลียนชีวิต (นิยามตรงนี้ก็ไม่ค่อยดีอีกนั่นแหละ เพราะมีงานศิลปะใดบ้างที่ไม่ลอกเลียนชีวิต) สองอย่างนี้ใกล้กันมากจนผลงานบางชิ้นก็แบ่งกันไม่ถูกเลยว่าเป็น satiric parody หรือ parodic satire

ดำน้ำมายาวเหยียดเพราะอยากรีบๆ จบเรื่อง A Theory of Parody เสียที วันนี้ที่อยากพูดถึงจริงๆ คือเรื่องวรรณกรรมเสียดสีมากกว่า ประมาณเดือนก่อนได้สนทนากับผู้ใหญ่ในวงการ ซึ่งฝากข้อคิดแก่เราคือ เขาไม่เห็นว่าการเขียน fiction เสียดสีข่าวดัง กระแสสังคม หรือเรื่องที่ใครๆ พูดถึง มัน "จะสนุกตรงไหน" เราเองก็เห็นด้วยอย่างไม่รู้ตัวมาก่อน จริงสินะ นี่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งก็ได้ทำไมพักนี้อ่านเรื่องสั้น นิยายไทยแล้วไม่ค่อยถึงเลย ตอนนี้เรื่องเสียดสีกำลังมาแรง แต่ที่เขียนดีกลับมีน้อย นักเขียนรุ่นใหม่ชอบเขียนเรื่องเสียดสีเพราะเป็นทางลัดสร้าง "ความสำคัญ" ของผลงานตัวเองให้กับสังคม คืออ่านจบแล้วรู้ได้ทันทีว่าเรื่องนี้สอนอะไร ไม่สิ ถ้าบอกว่าสอนอะไร ก็หมายถึงเรื่องนั้นต้องมี "บทเรียน" (moral) แต่เรื่องเสียดสีไม่จำเป็นต้องมีบทเรียนด้วยซ้ำ เพราะเหมือนสังคมได้ใส่คุณค่า บทเรียนเข้ากับเหตุการณ์ที่เราเสียดสีแล้ว

ยกตัวอย่างคุณอาจเขียนนิยายสิบสลึง พระเอกเป็นร้อยตำรวจปลอมตัวไประเบิดภูเขา เผากระท่อมเพื่อช่วยนางเอกจากเงื้อมมือผู้ร้ายใจทราม ทันทีที่คุณใส่ประโยคหนึ่งให้ผู้ร้าย "มึงรู้ไหม พ่อกูเป็นใคร" ทันใดนั้น คุณค่านิยายคุณแพงกว่าสิบสลึงขึ้นมาทันที คุณไม่จำเป็นต้องมานั่งตีค้าตีความด้วยถึง moral ของการเกิดเป็นลูกคนรวย ผู้มีอิทธิพล เพราะสังคมได้นิยาม moral ตรงนั้นไว้สำเร็จรูป (เรานึกถึงนิยาย อะไรจะดีไปกว่านี้ ของคุณดำรงค์ซึ่งนอกจากจะเชิดหน้าใส่ขนบเชยๆ ของ "มึงรู้ไหม พ่อกูเป็นใคร" ยังเอาประเด็นตรงนี้มาตีแผ่ วิเคราะห์ตั้งคำถามกับสื่อมวลชนอีกต่างหาก)


จริงๆ แล้ว fiction เสียดสีดีๆ ก็มีเยอะนะครับ เท่าที่นึกออกตอนนี้ก็นิยาย ลูกสาวฤษี แล้วก็เรื่องสั้นของคุณไพโรจน์ บุญประกอบใน สนามหลวง เกี่ยวกับเมืองที่ผู้คนเห็นพระอินทร์เสด็จลงมา หรือจริงๆ คำพิพากษา ก็เป็นนิยายเสียดสีเหมือนกัน (เอาแล้วสิ fiction ตัวไหนบ้างหว่า ที่ไม่อาจจัดเป็นเสียดสีได้) แต่จะแยกความแตกต่างระหว่างเรื่องเสียดสีดีๆ กับที่ไม่เอาอ่าวยังไง เท่าที่สังเกตก็เช่น เรื่องเสียดสีควรดีได้ด้วยตัวมันเอง คือต่อให้คุณเป็นฝรั่ง หรือมนุษย์ต่างดาว ไม่เข้าใจอะไรเลยเกี่ยวกับสังคมไทย มาอ่าน คำพิพากษา คุณก็ต้องรู้สึกบ้างแหละ(วะ)ว่ามันเป็นนิยายที่ดี

อีกประการเรื่องที่คุณนำมาเสียดสีต้องมีแง่มุมทางสังคมที่ซับซ้อน และคุณต้องเข้าใจมันอย่างแท้จริง ไม่ใช่สักแต่ว่าหยิบเหตุการณ์ในข่าวมาปรุงแต่ง ใส่เสื้อผ้าใหม่ (ไม่เช่นนั้นก็ไม่ต่างอะไรเลยจากผู้สร้างภาพยนตร์ห่วยๆ อย่าง Epic Movie, Date Movie, หรือ Meet the Spartan) เสียดสีไม่ใช่แค่เอ่ยอ้างเรื่องนู้นเรื่องนี้ แต่ต้องวิเคราะห์ นำเสนอมุมมองใหม่ๆ ให้ผู้อ่านขบคิด และตีความเหตุการณ์ในชีวิตจริงผ่านเรื่องสมมติ เช่นคำถามว่าวัดคือสถานที่เผยแพร่วัฒนธรรม หรือปฏิบัติธรรม ซึ่งคุณปริทรรศน์ตั้งประเด็นไว้อย่างแหลมคมใน ลูกสาวฤษี

เริ่มเขียนมายาวและไร้สาระขึ้นทุกที จบด้วยการพูดถึงชีวิตจริงที่เสียดสีนิยายดีกว่า (Life Imitates Art.) เช่นการกราบพื้นของอดีตนายกรัฐมนตรีก็คือการเสียดสีนิยาย (ตำนาน) โรบินฮูดนั่นเอง ผู้ใหญ่คนที่ผมคุยด้วยยังเอ่ยต่อว่า เมื่อสังคมบ้านเรามัน ridiculous ได้ถึงขนาดนี้แล้ว นักเขียนยังจะต้องมาแต่งเรื่องเสียดสีหาสวรรค์วิมานอีกทำไม

1 comment:

Anonymous said...

พูดถึงพาโรดีทีไร นึกถึงระเด่นลันไดทุกที ชอบใจตรงที่คุณบอกว่างานพาโรดีคือศิลปะลอกเลียนศิลปะ ส่วนงานเสียดสีคือลอกเลียนชีวิต เพราะคิดว่าพอจะเข้าใจวิธีนิยามลักษณะนี้ และทำให้เห็นว่าพาโรดีต้องอิงงานอีกชิ้นหนึ่งเสมอ ส่วนเสียดสีนั้นไม่ต้อง เราชอบงานแนวพาโรดี เพราะเหมือนการสนทนากันของตัวบท แต่ไม่ชอบศัพท์ไทย ที่ราชบัณฑิตให้ใช้ว่า "วรรณกรรมล้อ" เกี่ยวกันมั้ยเนี่ย!
สายฝนฯ