U. Eco's "Misreadings"


ครั้งกะนู้นตอนคุณโน้ต อุดมเพิ่งเล่นเดี่ยวหนึ่ง และมีชื่อเสียงหมาดๆ มีคนพูดกันว่าเดี่ยวไมโครโฟนนั้นต่างจากตลกคาเฟ่ตรงที่เป็น "ตลกปัญญาชน" ซึ่งแน่นอนว่าความคิดอะไรเช่นนี้เมื่อออกมาในประเทศไทย ย่อมถูกสังคมด่ายับเยิน (เพราะถ้าผันในทางตรงกันข้าม จะเรียกตลกคาเฟ่ว่าอะไรดีละ) ในที่สุดฉลากปะหัวโชว์คุณโน้ตว่าเป็น "ตลกปัญญาชน" ก็เป็นอันตกไป (ส่วนที่ว่าเราเห็นด้วยกับฉลากตัวนี้แค่ไหน เอาไว้พูดถึงในโอกาสหน้า) ให้พูดแบบถูกต้องการเมืองหน่อยๆ ก็ยอมความกันไปว่าแก๊กตลกเป็นรสนิยมส่วนบุคคล ที่ต่างนิสัย ต่างพื้นเพกันไม่จำเป็นต้องขำกับเรื่องเดียวกัน และไม่ได้บ่งบอกระดับสติปัญญาของผู้ฟังแต่อย่างใด

ซึ่งเราไม่เห็นด้วย พูดกันอย่างไม่เกรงฟ้าดินคือ คนโง่ก็จะขำกับอะไรโง่ๆ และคนฉลาดขำกับอะไรฉลาดๆ ถ้าจะมีมาตรสักอย่างที่ใช้วัดสติปัญญาคนก็จากวิธีที่เราหัวเราะให้กับมุกตลกนี่แหละ

Misreadings คือหนังสือที่สามารถเอามาใช้ยืนยันได้เลยว่า comedy มีระดับชั้น เพราะถ้าจะ "เก็ตมุก" ของอีโคให้ได้ทั้งเล่ม ก็ต้องเป็นพหูสูตรอ่านมาก รู้มากในระดับหนึ่ง ซึ่งอันนี้ก็น่าคิดอยู่เหมือนกัน ในฐานะความเป็นเรื่องชวนหัวหนังสือเล่มนี้ประสบความสำเร็จแค่ไหนกับกลุ่มผู้อ่านอันคับแคบ ในทางตรงกันข้ามมุกตลกแบบ ขายหัวเราะ (ซึ่งจริงๆ ในระดับหนึ่ง เราชอบนะ) ที่แทบจะอธิบายให้คนอ่านฟังอยู่แล้วว่าคุณต้องหัวเราะเพราะอะไร เวลาไหน กลับเข้าถึงผู้คนได้มากกว่า จะจัดว่าเจ๋งกว่าได้หรือเปล่า (ที่แน่ๆ คือคงทำให้โลกนี้เต็มไปด้วยรอยยิ้ม และเสียงหัวเราะมากกว่า Misreadings)

ยอมรับว่าขนาดตัวเองยังไม่สามารถ "เก็ตมุก" ทั้งหมดในเล่มเลย แต่ถ้ามุกไหนเก็ตขึ้นมา ความรู้สึกเหมือนถูกชิ่งสองต่อ คือนอกจากจะขำแล้ว ยังเหมือนได้ชื่นชมตัวเองกลายๆ ว่า เออ! กูแน่เว้ย เข้าใจมุกของอีโคได้ ถ้าใช้สำนวนฝรั่งคือนอกจากจะถูกสะกิด funny bone แล้วยังเป็นการ intellectual masturbation ไปด้วยในตัว

ลักษณะการเขียนคล้ายๆ แนววูดดี้ อัลเลน คือเป็น parody ตั้งแต่ Granita เรื่องสั้นล้อเลียน Lolita ว่าด้วยอัมเบอโต อัมเบอโต (เลียนแบบฮัมเบิร์ต ฮัมเบิร์ต ตัวเอกในเรื่อง Lolita) ผู้ชายที่หลงรักหญิงชรา การเขียนวิจารณ์กิจกรรมเปลื้องผ้า ธนบัตรห้าร้อย และหนึ่งพันลีประหนึ่งว่าเป็นงานศิลปะ ไปจนถึงจดหมายจากบรรณาธิการ ปฏิเสธการตีพิมพ์หนังสือคลาสสิกอย่างไบเบิล Don Quixote หรือ The Trial

ในฐานะที่อ่านนิยายของอีโคแล้วทุกเล่ม เรารู้สึกมาตั้งนานว่าความเจ๋งสุดๆ ของแกคืออีโคเป็นคนที่เข้าใจ genre ต่างๆ ทุกประเภทอย่างแท้จริง Misreading ถ้ามองแบบง่ายๆ ก็คือการสลับ genre กับเนื้อหา เช่นเอาเรื่องราวยุคหินมาเขียนให้เหมือนนิยายวิทยาศาสตร์ (The Thing คือหนึ่งในเรื่องสั้นที่ดี และตลกที่สุดเท่าที่เราเคยอ่าน) เอาการค้นพบทวีปอเมริกามาเขียนให้เหมือนการส่งจรวดไปดวงจันทร์ หรือใช้ภาษาตำรวจลับกับการบรรยายเรื่องราวบนสรวงสวรรค์ เป็นความเหนือชั้นที่ถ้าไม่เก่งจริง เขียนออกมาแบบนี้ไม่ได้แน่ๆ

1 comment:

Unknown said...

อ่าน review ของคุณแล้วทำให้ต้องรีบไปที่ amazon :)

ตอนนี้อ่าน the mysterious flameฯ ไปถึงกลางเล่มแล้วครับ (เป็นเล่มที่สามต่อจาก the name of the rose และ foucault's pendulum) สงสัยจะได้อ่าน misreadings นี่แหละ เป็นเล่มต่อไป