W. Faulkner's "The Sound and the Fury"


ซื้อ "คำรนและโทสา" มาตั้งแต่สองปีก่อน ตอนซื้อมาใหม่ๆ เปิดอ่านไปหกสิบหน้าโยนทิ้งเพราะอ่านไม่รู้เรื่อง และคิดว่าก็คงไม่ได้หยิบมันขึ้นมาอีก ถ้าไม่ได้อ่านบันทึกความทรงจำของเทนเนสซี วิลเลียมส์ แกเล่าว่าเจอฟอล์คเนอร์หนหนึ่ง ผู้ชายคนนี้ตาเศร้าจนวิลเลียมส์อดไม่ได้จะต้องร้องไห้ออกมา ขอลองสัมผัสหน่อยเถอะ นิยายอันโด่งดังของผู้ชายตาเศร้าซึ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมผู้นี้

ผ่านมาสองปีอ่านรู้เรื่องขึ้น แต่นี่ไม่ใช่หนังสืออ่านง่าย เราไม่เคยเข้าใจคนที่เขียนหนังสืออ่านยาก ยอมรับว่าอาการพิศวงงงงวยอันเกิดจากการพยายามตีความตัวอักษรเป็นความรู้สึกที่มีเสน่ห์ และเป็นที่มาของบทกวี แต่ขณะเดียวเส้นที่ขั้นระหว่างศิลป์อันมีคุณค่า และการที่ผู้เขียนไม่มั่นใจสิ่งที่ตัวเองต้องการสื่อ เลยจงใจเขียนให้อ่านไม่รู้เรื่องนั้นเป็นเส้นที่บางจิ๊ดเดียว

ทั้งที่ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับกลวิธีกระมัง ผู้เขียนทำอย่างไรให้งานตัวเองอ่านยาก (สังเกตว่าการเขียนหนังสือให้อ่านยากนั้นจริงๆ แล้วต้อง "จงใจ" เพราะมีแต่คนบ้าเท่านั้นที่สื่อสารในชีวิตประจำวันไม่รู้เรื่อง) อย่างเวอจิเนียร์ วูล์ฟเป็นนักเขียนอ่านยากที่เราชื่นชม และติดตามงานเขียนของเธอ เพราะความอ่านยากของนิยายวูล์ฟมาจากการที่เธอหักล้างกฎเกณฑ์ต่างๆ ในการเล่าเรื่อง และคิดค้นวิธีนำเสนอรูปแบบใหม่

...ซึ่งตรงข้ามกับฟอล์คเนอร์

เจ้าข้าเอ๋ย! ใครก็ตามที่คิดอ่าน "คำรนและโทสา" ขอตะโกนดังๆ เตือนไว้ตั้งแต่ต้นเลยว่า ตัวละครชื่อ "เควนติน" นั้นมีสองตัวนะเหวย คนหนึ่งเป็นผู้ชาย เป็นพี่ของแคดดี้ เบนจี้ และเจสัน ส่วนเควนตินอีกคนนั้นเป็นผู้หญิง เป็นลูกสาวของแคดดี้ สาบานเลยว่าคุณจะอ่าน "คำรนและโทสา" ง่ายขึ้นร้อยเท่า (สงสัยยิ่งนักว่าที่เราเพิ่งรู้ตัวประมาณสองร้อยหน้าผ่านไปแล้วนั้น เร็ว หรือช้าเกินไปจากที่คนเขียนตั้งใจไว้แต่แรก ฟอล์คเนอร์มาเฉลยเอาโต้งๆ ประมาณหน้าสองร้อยหกสิบจากนิยายหนาสามร้อยหน้ากว่าๆ )

จุดเด่นที่สุดของฟอล์คเนอร์อยู่ที่การเล่าเรื่องแบบ "กระแสสำนึก" (stream of consciousness) กระแสสำนึกตามแบบฉบับฟอล์คเนอร์คือการเล่าเรื่องด้วยสรรพนามบุรุษที่หนึ่ง โดยแต่ละเหตุการณ์ที่ตัวละคร "ผม" พบเจอ นำไปสู่แฟลชแบคอีกร้อยแปดประการ คล้ายๆ ทฤษฎีทางจิตวิทยาว่าสิ่งเร้าอย่างเดียวขุดเอาความทรงจำได้นับไม่ถ้วน เหตุการณ์ทั้งหมดใน "คำรนและโทสา" ยาวแค่สี่วันเท่านั้น เพียงแต่มันอุดมไปด้วยแฟลชแบค


คำถามซื่อๆ คือกระแสสำนึก ต่างจากการเขียนด้วยสรรพนามบุรุษที่หนึ่งตรงไหน กระแสสำนึกนั้นอ่านยากกว่าเยอะ เพราะเป็นการติดตามความคิดตัวละคร ซึ่งไม่จำเป็นว่าเขาต้องอธิบาย หรือเล่าเรื่องให้เราฟัง ยกตัวอย่าง ฟอล์คเนอร์เขียนถึง "ผม" เสมือน "ผม" เป็นคนจริงๆ ดังนั้นจึงไม่ใช่หน้าที่ "ผม" จะมาอธิบายให้คนอ่านฟังว่าตัวละครซึ่งผ่านเข้าออกชีวิตเขานั้นเป็นใครบ้าง (เพราะในความเป็นจริง "ผม" ย่อมรู้จักคนเหล่านั้นดีอยู่แล้ว) ลองเปรียบเทียบกับการเขียนด้วยสรรพนามบุรุษที่หนึ่งทั่วไปดู ทุกครั้งเวลาตัวละครใหม่ๆ โผล่เข้ามา "ผม" ต้องอธิบายที่มาที่ไปของพวกเขา "คำรนและโทสา" จึงเต็มไปด้วยตัวละครเข้าๆ ออก ๆ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่ผู่อ่านจะจัดวาง หาที่ทางในสมองให้พวกเขาเหล่านั้น

อุปสรรคประการอื่นๆ เช่นต้องจับให้ได้ว่า "ผม" ในแต่ละบทนั้นเป็นใครบ้าง (เฉลย: เบนจี้, เควนติน (ชาย), และเจสัน) และเนื่องจากนิยายเต็มไปด้วยแฟลชแบค ต้องโยงใยเส้นเวลาให้ถูก ว่าเหตุการณ์ใดเกิดช่วงไหน อุปสรรคสองตัวนี้พอรับได้อยู่ ไม่เหมือนอุปสรรคประเภทตั้งชื่อตัวละครซ้ำกัน แล้วให้คนอ่านมานั่งแกะว่าใครเป็นใคร อะไรมันจะหากินง่ายขนาดนี้ (วะ) (นอกจากเควนติน ในเรื่องนี้ยังมีเจสันสองคนอีก เอากับแกสิ!)

เกือบลืมพูดถึงเนื้อเรื่องไปแน่ะ "คำรนและโทสา" ว่าด้วยการล่มสลายของครอบครัวหนึ่งในรัฐทางใต้ของประเทศอเมริกา แทรกประเด็นการเหยียดผิวเข้าไปด้วย ชื่อเรื่องมาจากคำพูดของแมคเบตในบทละครเชคสเปียร์ "it is a tale / Told by an idiot, full of sound and fury, / Signifying nothing." กษัตริย์ทรราชเปรียบชีวิตว่าเป็นนิทานคนเขลา เต็มไปด้วยเสียงคำรามและฟ้าผ่า แต่สุดท้ายว่างเปล่าไร้ความหมาย

ขณะที่อ่านนิยายเรื่องนี้ อดไม่ได้รู้สึกเหมือนตัวเองกำลังเล่นลูกบาศก์สลับสี หรือเกมประลองเชาว์ จริงอยู่ว่าถ้าตัดไอ้อาการกล่องปริศนานี่ออก มันก็จะกลายเป็นหนังสือธรรมดา แต่ขณะเดียวกันคนอ่านก็สามารถมุ่งเป้าไปที่ความสัมพันธ์ หรือตัวละครได้อย่างชัดเจนมากขึ้น (ซึ่งจริงๆ แล้วมีหลายประเด็นน่าสนใจดีเหมือนกัน) ถือเป็นบทเรียน ทางเลือกให้นักเขียนแนวนี้ไปชั่งใจเอาแล้วกันว่าคุณมั่นใจในสารของตัวเองแค่ไหน

ขอบ่นนอกเรื่องหน่อยเถอะ สังเกตมาเยอะว่านักเขียนไทยพักนี้เอะอะอะไรก็กระแสสำนึกๆ โดยไอ้คำว่ากระแสสำนึกมักจะมาพร้อมกับ "อ่านยาก" และ "ข้าเก่ง" ไม่ได้ต่อต้านงานเขียนแนวนี้นะ แต่ที่แน่ๆ มันไม่ได้วิเศษวิโสหรือเขียนยากถึงขนาดต้องมานั่งชื่นชมนักเขียนคนหนึ่งเพียงเพราะเขาเขียนงานแนวกระแสสำนึก (กระแสสำนึกห่วยๆ ก็ยังคงเป็นกระแสสำนึกห่วยๆ อยู่ดี) ที่สำคัญไม่เห็นด้วยกับนักเขียนที่จงใจเขียนหนังสือให้ "อ่านยาก" โดยไม่ยอมให้เหตุผลอะไรชัดเจนไปกว่า "ก็มันเป็นงานแนวกระแสสำนึกนี่ ก็ต้องอ่านยากอยู่แล้ว" สาธุเถอะครับ

4 comments:

Anonymous said...

คุณLaughable Loves มองเคว็นตินที่เป็นคนบ้ายังไงคะ ตอนที่คนบ้าบรรยายนี่ อ่านยากมากๆ เลย ทำไมผู้เขียนต้องให้ความสำคัญกับ "คนบ้า" ด้วยคะ

ขอบคุณล่วงหน้าค่ะ

laughable-loves said...

คุณสายฝนฯ คงหมายถึงเควนตินคนที่เป็นพี่ชาย ช่วงท้ายๆ บท ก่อนที่เขาจะฆ่าตัวตายเหมือนๆ จะอ่านยากหน่อย ผมคิดว่าช่วงนั้นแหละ ที่ฟอล์คเนอร์ใช้กลวิธี "กระแสสำนึก" ประเภทตัวละครนึกอะไรออกมาก็รีบๆ เขียนลงไป โดยไม่มีความจำเป็นต้องต่อๆ กัน ยอมรับครับว่าอ่านยาก แต่ถ้ามองว่า ในเมื่อเรากำลังจะเข้าไปอ่านกระแสความคิดของคนบ้า ถ้าไม่ให้มันอ่านยากนิดหนึ่ง ก็คงกระไรอยู่ จริงไหม

Anonymous said...

ต้องขออภัยค่ะผิดพลาดไปหน่อย เบนจี้ค่ะที่ปัญญาอ่อน ไม่ใช่เควนติน เรากำลังสงสัยกับการตั้งโจทย์ให้ตัวละครเป็นบ้าหรือปัญญาอ่อน คือน่าจะไม่ใช่แค่ทำให้เกิดความซับซ้อนของเรื่อง แต่ผู้เขียนน่าจะตั้งคำถามกับความ "ดี" หรือ "บ้า" ของคนหรือเปล่า บางทีความบ้าอาจเป็น "อภิสิทธิ์" หรือเป็น "ทางออก" ของตัวละคร(โดยเฉพาะเวลาทำผิดในละครน้ำเน่า) หรือไม่ก็ เป็น "อำนาจ" ที่ผู้อ่านไม่อาจเอาความสมจริงมาเทียบได้ ตัวละครบ้าจึงมี "บางอย่าง" เหนือกว่าตัวละครปกติ

คุณLauable-loves มีความเห็นว่ายังไงคะ

laughable-loves said...

จริงๆ คำอธิบายของคุณสายฝนฯ เรื่องตัวละครปัญญาอ่อนก็มีส่วนถูกเหมือนกัน แต่ขออนุญาตเสนออีกความเห็นแล้วกัน

ผมคิดว่าฟอล์คเนอร์ใช้ตัวละครเบนจี้เพื่อแสดงให้ความเสื่อมถอยของวิถีชีวิตแบบทางใต้ของอเมริกา สถานที่ซึ่งผู้คนมีวัฒนธรรมอันแตกต่างจากชาวนิวยอร์ค หรือชาวแคลิฟอเนียร์ คนใต้มีความภาคภูมิใจในตัวเองสูง ยังยึดถือการแบ่งชนชั้นวรรณะ และระบบสายเลือด ด้วยเหตุนี้การแต่งงานในครอบครัว (หรือตระกูลเดียวกัน) จึงปรากฏให้เห็นบ่อยกว่าที่อื่น เด็กที่เกิดมาจึงมีความเสี่ยงสูงที่จะปัญญาอ่อน หรือเป็นบ้ากว่าภาคอื่นๆ ในประเทศ

อธิบายแบบกว้างๆ นะครับ แค่อีกหนึ่งความเห็น