S. R. Fischer's "A History of Reading"


"โอ้ย! เงียบกันหน่อยได้ไหม หนวกหูเป็นห้องสมุดเชียวนะ!"

ถ้าสมัยนี้ได้ยินแม่บ้านไหนตะโกนบอกลูกๆ อย่างนี้ คนฟังคงต้องเลิกคิ้วด้วยความกังขาว่า "หนวกหูเป็นห้องสมุด" นี่มันอย่างไรหรือ แต่เชื่อหรือไม่ว่า เมื่อสามพันปีก่อน นี่คือคำอุปมาที่เราได้ยินกันหนาหูมาก ถ้าไปเดินแถวๆ หมู่บ้านของชาวแอสซิเรียน

เพราะการอ่านอย่างที่คนปัจจุบันอ่านกัน "อ่านในใจ" (silent reading) เป็นปรากฏการณ์ที่ค่อนข้างใหม่ มีอายุแค่พันปีกว่าๆ เทียบกับเมื่อตัวอักษรถือกำเนิดขึ้นมาครั้งแรกในโลก การอ่านในยุคดึกดำบรรพ์หมายถึงการจารึกเสียงลงแผ่นหิน หรือแผ่นกระดาษ เพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานชั่วนาตาปี หรือส่งข่าวระยะไกล ดังนั้นการอ่านจึงหมายถึง "อ่านออกเสียง" เท่านั้น ตอนที่พระเจ้าอเลกซานเดอร์รับสานส์กลางสนามรบ พระองค์เปิดอ่านมันเงียบๆ เล่นเอาทหารทั้งกองทัพมองด้วยความชื่นชม เมื่อหนังสือคือการจารึกเสียงพูด ดังนั้นคงไม่มีสถานที่ไหนอีกแล้วจะเอะอะมะเทิ่งไปกว่าห้องสมุด

A History of Reading พูดถึงพัฒนาการของการอ่านตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ จนมาเป็นการอ่านอย่างในปัจจุบัน จากมุมมองทางประวัติศาสตร์ และมานุษยวิทยา ความแตกต่างระหว่างการอ่านออกเสียง และอ่านในใจ เป็นแค่ตัวอย่างเดียวเท่านั้น เราเห็นผลกระทบของวิวัฒนาการในแต่ละด้าน เช่นเมื่อชาวอียิปต์คิดค้นกระดาษปาปิรัสขึ้นมา พวกเขาสามารถจารึกตัวหนังสือลงแผ่นกระดาษที่มีน้ำหนักเบากว่าแผ่นดินปั้น ซึ่งเอื้อต่อการอ่านคนเดียว หรืออ่านในใจ

เมื่อการอ่านกลายเป็นกิจกรรมส่วนตัว (เทียบกับการอ่านออกเสียง ซึ่งเป็นกิจกรรมของทั้งหมู่บ้าน) ก็หมายถึงการแยกกันอย่างชัดเจนมากขึ้นระหว่างพื้นที่ส่วนตัว และพื้นที่สาธารณะ ซึ่งก็คือกำเนิดของมนุษย์ยุคใหม่ (modern man) นั่นเอง รวมไปถึงการรุนให้ผู้คนอ่านออกเขียนได้มากขึ้น (เพราะไม่จำเป็นต้องอาศัย "นักอ่าน" ประจำหมู่บ้านอีกต่อไป) ซึ่งนำไปสู่กำเนิดของชนชั้นกลาง

ลองคิดดูแล้วกันว่าแค่การอ่านเฉยๆ โดยยังไม่ได้เจาะจงว่าอ่านอะไร ยังมีคุณขนาดนี้ แล้ววันนี้ล่ะ คุณอ่านหนังสือจบไปกี่เล่มแล้ว

1 comment:

Anonymous said...

ผมอ่านของ alberto manguel ไม่รู้เล่มเดียวกันรึป่าว..แต่ดูเนื้อหาแล้วน่าจะใช่นะ เหอะๆ