มีนิยายที่จงใจไม่ใช่ตัวอักษร e (ตัวอักษรสามัญที่สุดในภาษาอังกฤษ) นิยายที่ค่อยๆ ตัดคำขึ้นต้นด้วยตัว a b c d e f... ไปเรื่อยๆ ในแต่ละบท นิยายที่เขียนโดยไม่ใช้คำซ้ำเลย (อ่านได้ประมาณหนึ่งย่อหน้า ก็อ่านไม่รู้เรื่องแล้ว ทั้งเล่มยาวประมาณ 200 หน้า) สงสัยว่าทำไมการเขียนนิยายแนวทดลองถึงเต็มไปด้วยเงื่อนไขของการตัดทอน การลบละบางสิ่งบางอย่าง ไม่เห็นมีใครเขียนนิยายแบบแจ็ค นิโคลสันใน The Shining นิยายที่มีแต่ประโยคเดียวซ้ำไปซ้ำมา (แจ็คไม่ได้บ้า เขาแค่กำลังทำการทดลองทางวรรณกรรมต่างหาก! :-P )
สมมติฐานหนึ่งคือ พื้นฐานของศิลปะที่เล่าเรื่อง โดยเฉพาะวรรณกรรม คือการหาอะไรใหม่ๆ มาป้อนคนอ่านตลอดเวลา นิยายขนบอาศัยการเดินเรื่อง พาตัวเอกและคนอ่านไปสู่สถานการณ์ที่ไม่ซ้ำเดิม คนเขียนนิยายแนวทดลอง ก็อาจสืบทอดวิธีคิดนี้มาโดยไม่รู้ตัว
ถ้าพิจารณากันจริงๆ คุณสมบัติตรงนี้ต่างจากดนตรีชนิดกลับหัวกลับหางเลย ดนตรี ยิ่งขนบเท่าใด ก็ยิ่งเต็มไปด้วยความซ้ำ พื้นฐานของดนตรีขนบคือการย้ำไปที่โน้ต สเกล จังหวะ คอร์ด ธีม หรือ โมทีฟหนึ่งๆ ซ้ำไปซ้ำมา เพื่อให้ผู้ฟังคุ้นเคย และรู้สึกอุ่นใจเสียงพื้นตรงนั้น (และด้วยเหตุนี้ นักประพันธ์ต้นศตวรรษที่ 20 ถึงพยายามฉีกตัวเองด้วยเทคนิคต่างๆ ที่พยายามทำลายความซ้ำซากตรงนี้ Twelve-tone technique ของโชคเบิร์ค คือตัวอย่างหนึ่ง) ทั้งหมดนี้เพราะดนตรีอาจเป็นศิลปะแขนงเดียวที่ form จัดกว่า content อย่างเห็นได้ชัด
แต่จริงหรือเปล่าที่ว่าวรรณกรรมไม่มีความซ้ำซากเลย ถ้าวิเคราะห์ดีๆ เราก็จะพบอาการย้ำคิดย้ำทำในวรรณกรรมเฉกเช่นเดียวกัน แม้จะไม่ชัดเจนเท่ากรณีของดนตรี แต่นักวิจารณ์แนวโครงสร้างนิยมก็มักพูดถึง form ของวรรณกรรม และเมื่อมี form ก็ (อาจ) หมายถึงการย้ำโมทีฟบางอย่างในงานเขียนได้ด้วย
ทั้งหลายนี้อาจเป็นสาเหตุที่เราสนอกสนใจทฤษฎีดนตรีเสมอมา การผลิตงานศิลปะขึ้นมาจากความซ้ำซาก การใช้ form จัดๆ มานำ content การดัดแปลงเอาฟูวก์ หรือโซนาตามาใช้กับงานวรรณกรรมจะเป็นไปได้ไหม และออกมาในรูปแบบใด ความสนใจนี้ดลให้เราหา What to Listen for in Music ของแอรอน คอปแลนด์มาอ่าน หนังสือคลาสสิคว่าด้วยทฤษฎีดนตรีพื้นฐาน
1 comment:
If possible, as you gain expertise, would you mind updating your weblog with more details? It can be really very helpful for me.
Post a Comment