S. Saltzman's "Portrait of Dr. Gachet"


เป็นที่รับรู้กันว่าในแวดวงศิลปะ จะเก่งอย่างเดียวยังไม่พอ ต้องเฮงด้วย คือโอกาสดี และรู้จักโฆษณาตัวเอง ถ้าเช่นนั้นก็ต้องถือว่าแวนโก๊ะ เป็นศิลปินที่โชคดีที่สุดในวงการคนหนึ่งเลยก็ได้

เชื่อว่าหลายคนคงร้อง หา! พออ่านมาถึงตรงนี้ ไม่ใช่ว่าแวนโก๊ะคือสัญลัษณ์ของศิลปินอับโชค ที่ตอนอยู่ยากจนข้นแค้น แต่พอตายแล้ว รูปภาพขายได้ราคาสิบๆ ล้านหรอก Portrait of Dr. Gachet พูดถึงเรื่องราวของภาพวาดชื่อเดียวกันนี้ ภายหลังจากแวนโก๊ะตาย มันถูกซื้อขายเปลี่ยนมือโดยใครต่อใคร จนได้เป็นภาพเขียนที่ราคาแพงที่สุดในโลกช่วงระยะเวลาหนึ่งได้อย่างไร

หนังสือเล่มนี้ "รื้อสร้าง" ความคิดดั้งเดิมของเราว่า หลังจากแวนโก๊ะตาย จู่ๆ ผู้คนก็ค่อยๆ เห็นคุณค่าภาพวาดของเขา จนราคาเพิ่มสูงขึ้นๆ ไม่ใช่เลย ถ้าสมัยแวนโก๊ะมีชีวิตอยู่ การขายภาพของเขายากลำบากเพียงใด หลังแวนโก๊ะตาย มันก็ครือๆ กันนั่นเอง เหตุกึ่งบังเอิญร้อยละอันพันละนิดค่อยๆ เสริมเติมแต่งจนชื่อของแวนโก๊ะขึ้นหม้อในแวดวงศิลปะ ทั้งหมดนี้ก็อาศัยการ "โฆษณา" ด้วย โดยน้องสะใภ้ของแวนโก๊ะ โจฮันนา คนที่ตีพิมพ์จดหมายแลกเปลี่ยนระหว่างวินเซนต์และธีโออันโด่งดัง

โจฮันนาตัดสินใจถูกมากๆ ที่ย้ายถิ่นฐานกลับไปอยู่เนเธอแลนด์ (แวนโก๊ะและธีโอก็เฉกเช่นเดียวกับศิลปินช่วงปลายศตวรรษที่ 18 ทั้งหลาย คือเลือกที่จะทำงานในเมกกะแห่งศิลปะ ปาริส) ที่บ้านเกิดเมืองนอน แวนโก๊ะได้รับการยกย่องในฐานะศิลปิน "ท้องถิ่น" จากจุดนั้นชื่อเสียงของแวนโก๊ะ (หลังความตาย) ก็ค่อยๆ ถูกสั่งสมขึ้น ก่อนจะไปโด่งดังเป็นพลุแตกในเยอรมัน พร้อมกับลัทธิเอกเพรสชันนิสต์โดยกลุ่ม "นักขี่สีฟ้า" ของคาดินสกี ซึ่งนักวิจารณ์ศิลปะหลายคนให้เกียรติแวนโก๊ะในฐานะผู้สร้างแรงบันดาลใจหลักของกลุ่ม

มันก็ชวนคิดแบบขื่นๆ ดีเหมือนกันว่า ไม่ว่าศิลปินจะอยู่หรือจะตาย ถ้าไม่รู้จักสถานการณ์ ไม่รู้จักตาม้าตาเรือ ก็คงยากที่จะเติบโตต่อไปได้