ความรัก ความรู้ ความตาย (ธเนศ วงศ์ยานนาวา)
มีประเด็นหนึ่งจาก Freedom Evolves ที่ยังไม่ได้พูดถึงคือ ความรู้ใดๆ ก็เฉกเช่นเดียวกับความคิดที่แล่นอยู่ในหัว เป็นสิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงเคลื่อนตัวไม่ได้หยุดนิ่งอยู่กับที่ ดังนั้นตำราปรัชญาย่อมต้องรักษาความเป็นพลวัตรของความรู้เอาไว้ ไม่อาจสรุปย่อยให้คนอ่านเป็นข้อๆ ได้ ผลก็คือมันเลยเป็นหนังสือที่อ่านยาก ส่วนที่อ่านเข้าใจง่ายก็พาลอ่านแล้วไม่ค่อยเป็นปรัชญาไปเสียฉิบ
ในความอ่านยากนั้น ก็ต้องนับว่า ความรัก ความรู้ ความตาย สอบผ่าน หากไม่ใช่สักแต่ว่ายาก มีหนึ่ง เขียนยังไงให้คนเขาคิดว่าเราพูดสิบ เวลาอ่านหนังสือประเภทนี้ก็เหมือนได้ออกกำลังความคิด ทำแบบฝึกหัดทางปัญญาไปด้วยในตัว เรื่องหวังให้ได้ชุดความรู้เป็นข้อๆ ไปประดับสมองนั้นอาจจะลำบาก แต่เชื่อว่าหนังสือแบบนี้แหละที่ฝึกให้คนอ่านได้คิดได้พิจารณาอย่างถ่องแท้
กระนั้นก็มีความยากบางจุดเหมือนกันที่เรารู้สึกว่าเป็นข้อผิดพลาด เช่น ความพยายามของอาจารย์ธเนศให้หนังสือเล่มนี้ออกมา “ป๊อป” ก็เลยยกตัวอย่างจากภาพยนตร์ดังๆ เช่น The Matrix, Terminator หรือ Avatar ซึ่งบางตัวอย่างก็ดูผิดบริบทไม่เข้ากับเนื้อหา และพอพูดถึงต้นกำเนิดความรักของอริสโตเฟนกลับไม่มีการกล่าวถึง Hedwig and the Angry Inch ไปเสียฉิบ ความพยายามประสานหลายสิ่งหลายอย่างเข้าด้วยกันนี้เอง (ซึ่งโดยแท้แล้วประเสริฐ เพราะในตำราปรัชญาคลาสสิค ไม่ค่อยมีหรอกที่เอาตัวอย่างมาจากวัฒนธรรมตะวันออกหรือศาสนาพุทธ) ส่งผลให้บางบทความค่อนข้างสับสน อ่านยากเกินความจำเป็น
บทความที่เราชอบที่สุดคือบทความที่สาม จักรญาณนิยม (ดูภาพประกอบข้างบน) คำคำนี้เข้าใจว่าอาจารย์ธเนศเป็นผู้บัญญัติเอง เป็นศัพท์ที่น่าสนใจมาก “จักร” มาจากอาวุธ หมายถึงการขยายขอบเขต (เช่น จักรวรรดินิยม) ส่วน “ญาณ” ก็แปลว่าวิชาความรู้ รวมกันหมายถึงสภาพความต้องการขยายขอบเขตของวิชาความรู้ อาจารย์ธเนศยกคำนี้มาใช้ในสองบริบท กล่าวคือ ศาสนาและวิทยาศาสตร์ต่างเป็นจักรญาณนิยม คือพยายามขยายขอบเขตวิชาของตัวเองเพื่อส่งเสริมและหักล้างอีกฝ่าย ขณะเดียวกันความปรารถนาที่จะรู้อะไรมากขึ้นไปเรื่อยๆ ของผู้ศึกษาก็จัดเป็นจักรญาณได้ด้วย
เราสนใจบทความนี้มาก อาจเพราะนี่เป็นประเด็นที่เราวิวาทะกับตัวเองอยู่บ่อยๆ ศาสนาเหมือนหรือแตกต่างจากวิทยาศาสตร์อย่างไร แน่นอนว่าอาจารย์ธเนศไม่ได้ให้ข้อสรุปไปทางใดทางหนึ่ง แกวิเคราะห์และชี้ให้เห็นทั้งความเหมือนและความต่าง ใครที่สนใจประเด็นนี้ไม่ควรพลาด
อาจารย์ธเนศกล่าวประโยคหนึ่งซึ่งเราว่าน่าขบคิดดี นั่นก็คือคำพูดประเภทศาสนาเหมือนกับวิทยาศาสตร์นั้น ดูจะมาจากฝ่ายแรกมากกว่าฝ่ายหลัง ซึ่งก็ชวนให้ไตร่ตรองว่าอาจเป็นด้วยแง่มุมทางการเมือง อย่างความต้องการของฝ่ายศาสนาที่จะจักรญาณไปชิงบางพื้นที่ของฝ่ายวิทยาศาสตร์ (โดยทางวิทยาศาสตร์เองก็พยายามจักรญาณเหมือนกัน แต่ด้วยกลวิธีที่แตกต่างออกไป) ถ้าถามเราในฐานะตัวแทนของฝ่ายวิทยาศาสตร์ เราเชื่อว่าสองสิ่งนี้เหมือนกัน เพียงแต่อาจไม่ใช่ความเหมือนแบบมักง่ายที่เราเห็นกันตามหน้านิตยสารเท่านั้นเอง (ตัวอย่างความมักง่าย เช่น กฏข้อสามของนิวตัน แรงกิริยาเท่ากับแรงปฏิกิริยานั้นพ้องไปกับกฏแห่งกรรมในศาสนาพุทธ)
ซึ่งจริงๆ ก็ไม่น่าแปลกใจ เมื่อสองสิ่งนี้ถูกกอปรขึ้นมาเพื่อเผยแพร่ จำกัดความ และจำกัดความรู้ ถ้ามันต่างและไม่เหมือนกันเลยนี่สิ คงจะน่าแปลกใจยิ่งกว่า
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
1 comment:
check it out t3w23v2d38 replica gucci bags replica bags joy zeal replica bags replica gucci handbags p7a56i1c49 replica bags nancy here are the findings g3q85d0a99 fake louis vuitton replica bags by joy
Post a Comment