J. Leslie's "Deep Water"


ใครที่อ่านบลอคนี้มานาน คงพอจับทางเราได้อย่างหนึ่งว่า เราชอบหนังสือที่มองอะไรกว้างๆ ให้พื้นที่กับสองความขัดแย้งอย่างเท่าเทียม ด้วยเหตุนี้แล้ว Deep Water จึงเป็นหนังสือที่เข้าทางเรามากๆ ถ้ามองว่าขณะนี้ประเทศจีนกำลังสร้างเขื่อนปิดแม่น้ำโขง รวมไปถึงโครงการเขื่อนต่างๆ ในประเทศลาว อีกไม่นานเรื่องเขื่อน เรื่องน้ำ น่าจะกลายมาเป็นปมถกเถียงใหญ่ของสังคมไทย (หรือไม่ก็เป็นไปแล้ว) เมื่อถึงตอนนั้น Deep Water จะเป็นหนังสือที่จำเป็นมากๆ เรารู้ว่าเราพูดแบบนี้กับหนังสือหลายเล่ม แต่กระทรวงศึกษา เจ้าของสำนักพิมพ์ หรือใครก็ตามที่มีอำนาจและกำลังอ่านบลอคนี้อยู่ ได้โปรด ได้โปรด ได้โปรดเถิด ซื้อลิขสิทธิ์หนังสือเล่มนี้มาแปลโดยด่วน เพราะมันจะช่วยให้คนไทย ได้รู้ ได้คิด ในหลายเรื่องที่เราอาจไม่เคยนึกถึงเลย และกำลังจะส่งอิทธิพลกับประเทศอย่างมหาศาล

เลสลีพูดถึงเขื่อนขนาดใหญ่ และผลกระทบของมัน ทั้งทางลบ และทางบวก ในสามประเทศได้แก่อินเดีย แอฟริกา (ซึ่งเป็นทวีป) และออสเตรเลีย โดยมีผลกระทบทางด้านธรรมชาติ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และผู้คนที่ต้องอพยพโยกย้ายถิ่นฐาน อันเนื่องมาจากน้ำท่วมเหนือเขื่อน โดยส่วนใหญ่คนพวกนี้มักเป็นชนกลุ่มน้อย หรือคนที่ไม่ได้ถือสัญชาติหลักในประเทศเสียด้วย เลสลีเน้นที่บุคคลสามคนซึ่งอยู่เบื้องหลังเขื่อนในสามประเทศนี้คือเมตา สกัดเดอร์ และแบลคมอร์

ธรรมดาเวลาจัดสัมนาถกเถียงเรื่องเขื่อนทีไร เพื่อความเป็นธรรม หน่วยงานจะต้องเชิญคนมาจากสามกลุ่ม ได้แก่คนที่สนับสนุนเขื่อน ต่อต้านเขื่อน และผู้ที่อยู่ตรงกลาง เมตาคือคนกลุ่มที่สอง เธอคือผู้อยู่เบื้องหลังแอนโดลัน ซึ่งเป็นองค์กรต่อต้านการสร้างเขื่อนซาร์ดา ซาร์โรวา ที่จะมาปิดแม่น้ำนัมมทาในประเทศอินเดีย โดยอรุณธาตี รอย ผู้เขียน The God of Small Things ก็อยู่ในองค์กรที่ว่าด้วย เมตาใช้หลักการต่อสู้แบบ "อหิงสา" โดยอดอาหารประท้วงการสร้างเขื่อน และต่อมาก็ขยับขยายเพิ่มความรุนแรง โดยขังตัวเอง และพวกพ้องในกระท่อมที่ถ้าฝนตกลงมาหนักๆ เมื่อไหร่ ระดับน้ำจะสูงขึ้น โดยเธอพร้อมจมน้ำตาย ทั้งหมดนี้เพราะถ้าเขื่อนซาร์ดา ซาร์โรวาเปิดทำการเมื่อไหร่ ชาวพื้นเมือง ซึ่งไม่ได้นับถือศาสนาฮินดู และตามลำดับวรรณะแล้ว ต่ำยิ่งกว่าจัณฑาล จะต้องสูญเสียหมู่บ้าน และพื้นที่ทำมาหากิน

ในสามคนที่เลสลียกตัวอย่างมาใน Deep Water เมตาเป็นคนที่เราชอบน้อยสุด เธอคือตัวแทนของ NGO ความคิดคับแคบ เอะอะจะเอาอย่างนู้น เอาอย่างนี้ โดยไม่มองภาพรวม (เลสลีเล่าถึง "ความกระหายอยากจมน้ำตาย" ของเธอ ซึ่งแอบน่าหมั่นไส้เอามากๆ ) น่าสนใจว่าวิธี "อหิงสา" ซึ่งเมตาเลียนมาจากคานธีนั้น แตกต่างจากวิธีการของคานธีอย่างสิ้นเชิง การอดอาหารของคานธี เป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมทางศาสนา เพื่อชำระล้างกิเลสของตัวเอง ในขณะที่การทำร้ายตัวเองของเมตาเพื่อจุดประสงค์ทางด้านการเมืองล้วนๆ การประท้วงอย่างสงบของเมตานั้น เต็มไปด้วยความรุนแรง แม้ว่าจะเป็นความรุนแรงต่อตัวเองก็ตาม


ในความเห็นเรา คนอย่างเมตาจะไม่มีทางเปลี่ยนแปลงโลกนี้ได้ แต่ขณะเดียวกัน สกัดเดอร์ คนที่เราชอบที่สุดในสามคน ก็คงจะทำไม่ได้เช่นกัน ไม่น่าแปลกใจเลยที่เราชอบสกัดเดอร์ แกเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยซึ่งเราจบมาตอนปริญญาตรี (สกัดเดอร์เกษียณอายุตัวเองตอนเราอยู่ปีหนึ่ง ก็เลยไม่เคยเรียนกับแก) เป็นตัวแทนของนักวิชาการ ตลอดชีวิตของสกัดเดอร์ ความใฝ่ฝันของแกคือได้เห็น ได้สร้าง และได้มีส่วนร่วมใน "เขื่อนดีๆ " สักเขื่อนหนึ่ง ในที่นี้ก็คือ เขื่อนที่โดยภาพรวมแล้ว ทำประโยชน์มากกว่าสร้างโทษ สกัดเดอร์มาจากกลุ่มคนที่อยู่ตรงกลาง เห็นทั้งด้านดี และด้านเสียของเขื่อน ประโยคเด็ดของเขาคือ เขื่อนขนาดใหญ่ (ในที่นี้คือสูงเกิน 100 เมตร) ในโลกนี้ 70% ไม่ควรถูกสร้างขึ้นมา ส่วนอีก 30% ต้องสร้าง และจัดการอย่างถูกวิธีจริงๆ ถึงจะเป็นประโยชน์มากกว่าโทษ

นอกจากเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย สกัดเดอร์ยังเป็นนักวิจัยให้ธนาคารโลก แกจบมาทางด้านมานุษยวิทยา ศึกษาชนเผ่าพื้นเมืองในทวีปแอฟริกาที่ถูกโยกย้ายถิ่นฐาน แกเชื่อว่า หลักของการสร้างเขื่อนที่ดีก็คือ ผู้ที่ได้รับผลโยชน์ทางตรง และเป็นอันดับแรก ต้องเป็นชาวพื้นเมืองที่เสียสละพื้นที่ทำมาหากิน (ด้วยเหตุนี้สกัดเดอร์จึงสนับสนุนเขื่อนเอนกประสงค์ ซึ่งสามารถนำมาใช้ในการท่องเที่ยว ประมง และเกษตรกรรม อันจะเป็นประโยชน์กับคนเหล่านี้ ไม่ใช่แค่เอาไว้ใช้ผลิตไฟฟ้า) ในฐานะที่เป็นนักพัฒนา และทำงานอยู่ธนาคารโลก แกเชื่อว่ามีแต่เมกะโปรเจค เช่นเขื่อน ที่จะช่วยเหลือประเทศโลกที่สามได้ สกัดเดอร์ตั้งตนเป็นศัตรู ไม่ใช่เฉพาะกับนักการเมืองที่สนับสนุนเขื่อนเท่านั้น แต่ต่อต้านกระทั่ง NGO ที่ชอบแกล้งลืมๆ ไปว่า ถ้าไม่มีเขื่อน ก็ไม่มีถนน ไม่มีความเจริญ

ตอนที่เลสลีเขียนหนังสือเล่มนี้ สกัดเดอร์อายุเจ็ดสิบกว่าแล้ว แกยังไม่เคยเห็น "เขื่อนดีๆ " สักเขื่อนในชีวิต ความสำเร็จเดียวไม่ใช่การสร้าง "เขื่อนดีๆ " แต่เป็นการหยุด "เขื่อนแย่ๆ " ไม่ให้เกิดขึ้นมา (สกัดเดอร์ตั้งความหวังมากๆ กับเขื่อน "น้ำทวน 2" ในประเทศลาวว่านี่จะเป็น "เขื่อนดีๆ " ได้) ในฐานะนักวิชาการ สิ่งที่สกัดเดอร์ทำได้ ก็แค่ให้คำปรึกษา แนะนำ หรือท้วงติง ในสามคนที่กล่าวมา แบลคมอร์เป็นคนเดียวที่สามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ เขาเป็นหัวหน้าศูนย์พัฒนาแม่น้ำในออสเตรเลีย และอยู่ในกลุ่มคนที่สนับสนุนเขื่อน

ต้องอธิบายก่อนว่าสถานการณ์ในออสเตรเลียนั้นไม่เหมือนกับอินเดีย หรือแอฟริกา ออสเตรเลียเป็นประเทศที่แห้งแล้งมากๆ ถ้าไม่มีเขื่อน นาก็ตาย นอกจากนี้ ชนเผ่าพื้นเมืองในออสเตรเลียยังเป็นพวกเร่ร่อน ไม่ได้อยู่เป็นหลักเป็นแหล่ง ต่อให้เขื่อนในออสเตรเลียทำให้เกิดน้ำท่วม (ซึ่งก็ไม่ได้หนักหนาอะไร เพราะมันแห้งแล้งอยู่แล้ว) ก็จะไม่รุกรานดินแดนของชนเผ่าพื้นเมืองอะไรนัก กระนั้นก็ตาม ใช่ว่าสถานการณ์จะโล่งโปร่งไปหมด บทสุดท้ายของ Deep Water พูดถึงความยุ่งยากในการพยายามควบคุมปริมาณ และกระแสน้ำ เพื่อรักษาสมดุลทางธรรมชาติ บทเรียนที่ได้จากบทนี้คือ ต่อให้เราสร้าง "เขื่อนดีๆ " ขึ้นมาสักเขื่อนหนึ่ง ก็ต้องอาศัยคนมีความสามารถ ทั้งนักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการ และนักการเมือง มาดูแลให้เขื่อนสร้างประโยชน์ และไม่ก่อโทษเท่าที่ควร

ในสามคน แบลคมอร์อาจจะเป็นคนที่มีความขัดแย้งมากที่สุด เขาเป็นนักการเมือง หน้าที่ของเขาคือประสานประโยชน์ให้กับทุกฝ่าย มีหลายคนไม่ชอบแบลคมอร์ นินทาเขาลับหลังว่าให้ความสำคัญกับเศรษฐี และเจ้าของอุตสาหกรรม มากกว่าชาวนาจนๆ มันอาจจะเป็นเช่นนั้นก็ได้ แต่อย่าลืมว่าคนอย่างแบลคมอร์เท่านั้นที่มีอำนาจพอจะทำอะไรต่อมิอะไร

Deep Water ว่าด้วยคนสามคน ที่มีความเห็น และบทบาทหน้าที่ซึ่งแตกต่างกัน ถึงเราจะไม่ค่อยชอบเมตา แต่ก็ต้องยอมรับว่าคนอย่างเธอจำเป็นต่อสังคม ถ้าเมตาคือหัวใจ สกัดเดอร์ก็คือสมอง และแบลคมอร์คือสองมือ ถ้าประเด็นเขื่อนจะยังเป็นที่ถกเถียงกันต่อไปในสังคมไทย (หรือร้อนแรงมากขึ้น) อีกไม่นานบ้านเมืองเราจะเต็มไปด้วยคนสามประเภทนี้ มันจำเป็นอย่างยิ่งที่ต่างฝ่ายต่างจะต้องเข้าใจกันและกัน เพื่อให้หัวใจ สมอง และสองมือ ประสานงานเป็นหนึ่งเดียว

ดังนั้นขอย้ำอีกที ได้โปรด ได้โปรด ได้โปรดเถิด ใครก็ได้ ไปซื้อลิขสิทธิ์หนังสือเล่มนี้มา เร็ว!

1 comment:

lighthouse said...

น่าสนใจ ไว้เดี๋ยวไปหามาอ่านมั่ง