ลาก่อนไมเคิล คริชตัน (1942-2008)


มีเรื่องอยากพูดมากมาย แต่ขอเริ่มจากเรื่องที่ "ไม่สำคัญ" ที่สุดก่อนก็แล้วกัน ท่ามกลางความยินดีปรีดาของชาวอเมริกัน (และอาจจะรวมไปถึงชาวโลกอีกหลายประเทศ) เมื่อนายโอบามาได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีคนที่ 44 ของสหรัฐอเมริกา และเป็นประธานาธิบดีผิวดำคนแรก มีข่าวเล็กๆ ข่าวหนึ่งซึ่งสร้างความสลดใจให้เราไม่น้อย (พอๆ กับพรอพ 8 ที่ห้ามชาวรักร่วมเพศในแคลิฟอเนียร์แต่งงานกันอย่างถูกกฎหมาย) นั่นคือการเสียชีวิตของนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ไมเคิล คริชตัน ด้วยโรคมะเร็งปอด

เคยพูดคร่าวๆ ไว้แล้วว่าตัวเองไม่ใช่แฟนนิยายวิทยาศาสตร์ และแม้จนบัดนี้ ก็คงพูดไม่ได้อย่างเต็มปากว่าเป็นสาวกคริชตัน (หนังสือเล่มสุดท้ายของหมอที่เราอ่านก็เกือบๆ สิบปีมาแล้ว) แต่อย่างน้อยคริชตันคือหนึ่งในสามนักเขียนในดวงใจเราสมัยเด็กๆ (อีกสองคนคือสตีเฟน คิงก์ และทอม แคลนซี) สมัยที่ยังติดนิยายสำนวนแปลของคุณสุวิทย์ ขาวปลอดหัวปักหัวปำ หนังสือของคริชตันทำให้เรารักการอ่าน และถึงสมัยนี้เราจะเป็นนักเขียนเต็มตัว และหันมาอ่านกุนเดระ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีเงาของคริชตันทาทาบอยู่บนผลงานของเรา

ในแง่หนึ่ง เราคิดว่าคริชตันเป็นนักเขียนที่น่าสงสาร ถึงจะมีชื่อเสียงในฮอลลีวูด แต่เหมือนหมอไม่ค่อยได้รับการยอมรับจากแฟนๆ นักอ่านนิยายวิทยาศาสตร์เท่าที่ควร ถ้าจะให้จัดประเภทจริงๆ หนังสือของคริชตันคล้ายๆ ว่าจะอยู่ในหมวด popular fiction หรือนิยายอ่านเล่นในสนามบินเสียมากกว่า

อะไรคือความแตกต่างระหว่างคริชตัน และฟิลิป เค ดิก ออร์สัน สกอต คาร์ด โรเบิร์ต เอ ไฮแลนด์ หรือว่า อาร์เธอ ซี คล้าก (นอกจากว่าคนไม่ค่อยเรียกชื่อกลางหมอ) เราจะตอบว่า เพราะคริชตันเป็นคนเดียวที่จบแพทย์จากฮาวาร์ด และเป็น "วิทยาศาสตร์" อย่างแท้จริง (ไม่นับคาร์ล ซาแกน) คริชตันเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ที่เป็น "วิทยาศาสตร์" มากกว่านิยายวิทยาศาสตร์ที่เน้น "ปรัชญา" เหตุการณ์ในไซไฟส่วนใหญ่มักเกิดในโลกสมมุติ หรือโลกอนาคต แต่นิยายของคริชตันยืนพื้นอยู่บนโลกในชีวิตประจำวันเสมอ ดูกันคร่าวๆ นิยายของหมอก็เลยเหมือนทริลเลอร์อ่านเพลินมากกว่า

เสน่ห์ในนิยายของคริชตันที่ใครๆ ก็เลียนแบบไม่ได้คือเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยทางด้านวิทยาศาสตร์ เราอ่าน Congo อย่างเพลิดเพลินไม่ใช่เพราะสนุกไปกับการผจญภัยในป่าลึก แต่เพราะความรู้ปลีกย่อยที่คริชตันใส่เข้ามาตรงนู้นตรงนี้ Congo คือนิยายที่สอนให้เรารู้ว่าฮิปโปเป็นสัตว์ที่ดุร้ายกว่าจระเข้ และกวางคลั่งเซ็กส์กว่าสุนัขป่า ไม่ได้อ่าน Sphere มาสิบกว่าปีแล้ว แต่จำได้ว่าสมัยที่อ่านจบใหม่ๆ ตื่นเต้นมากจนนอนไม่หลับเลย และพอมองย้อนกลับไป เราก็ยังรู้สึกว่านี่คือนิยายที่ผูกพล๊อต สร้างปมได้ดีที่สุดเล่มหนึ่ง The Andromeda Strain ให้บทเรียนเกี่ยวกับการทดลองวิทยาศาสตร์ที่จนบัดนี้เราก็ยังนึกถึงมันบ่อยๆ และเพียงแค่บทสั้นๆ ใน Travel หนังสืออัตชีวประวัติ คริชตันเล่าถึงตอนเขามาเที่ยวกรุงเทพ และจับความเป็นไทยได้อย่างตรงไปตรงมา และคงอีกแสนนานกว่าจะมีใครเขียนนิยายไดโนเสาร์ได้จับจินตนาการคนเท่า Jurassic Park

1 comment:

Anonymous said...

ชอบ Travels มากๆ เลยค่ะ