A. C. Bradley's "Shakespearean Tragedy" part 2

แบรดลีเรียงลำดับสี่โศกนาฏกรรมเอกของเชคสเปียร์จากชอบมากสุดไปน้อยสุดได้ดังนี้ Othello, Hamlet, Macbeth, และ King Lear ซึ่งเป็นลำดับที่ตรงข้ามกับเราโดยสิ้นเชิง สั้นๆ เกี่ยวกับโศกนาฏกรรมสี่เรื่องนี้คือ เราเทินทูน King Lear เอ็นดู Macbeth ผูกพันกับ Hamlet และโคตรเบื่อ Othello เลย

จะไม่ให้ผูกพันกับเจ้าชายแห่งเดนมาร์กได้อย่างไร แฮมเลต ว่ากันโดยเนื้อผ้าแล้วก็คือ เด็กหนุ่มปัญญาชน ฉลาดล้ำจนเข้ากับคนอื่นไม่ได้ ล้มเหลวกับหน้าที่ของตัวเอง โลกของ Hamlet พระราชวังเดนมาร์ก เต็มไปด้วยสิ่งเน่าเสีย และแฮมเลตคือคนนอกที่แหวกว่ายอยู่ท่ามกลางปฏิกูลเหล่านี้ ไม่ยากเลยที่มนุษย์สมัยใหม่จะรู้สึกผูกพันใกล้ชิดกับตัวละครดังกล่าว (และนี่เป็นสาเหตุที่ไม่ว่านักวิจารณ์จะพูดยังไง เราก็ยังนิยมฉบับอีธาน ฮอว์กไม่เสื่อมคลาย)

Othello ตรงข้ามกับแฮมเลตโดยสิ้นเชิง อิยาโกเป็นบุคลาธิษฐานแห่งความชั่วร้าย ท่ามกลางตัวละครที่ไม่มีใครเป็นผู้ร้ายจริงๆ จังๆ เทียบกับอีกสามเรื่อง มันมีลำดับการเล่าที่ไม่ค่อยสะสวยนัก แบรดลีเองก็ยอมรับตรงนี้ แต่เขาพยายามแก้ต่างให้บทละครโปรดโดยอ้างว่า Othello ไม่ใช่โศกนาฏกรรมของโอเทลโล แต่เป็นของอิยาโกด้วยต่างหาก

King Lear น่าจะติดเป็นเชคสเปียร์ที่เราชอบที่สุด King Lear ไม่ใช่ทั้ง Hamlet และ Othello เพราะหนนี้ความดีงามและความชั่วร้ายยกขโยงมากันเป็นกองทัพ มองให้ง่ายที่สุด King Lear ก็คือการปะทะกันระหว่างความดีงามและความชั่วร้าย ซึ่งสถิตอยู่ในตัวละครฝั่งละสี่ห้าตัว แบรดลีให้เหตุผลที่ชอบเรื่องนี้น้อยสุดว่า มันสมควรถูกเขียนและอ่านเป็นนิยาย มากกว่าจะขึ้นแสดงบนเวที น่าแปลกที่จนถึงศตวรรษที่ 19 แม้นักวิจารณ์จะยกย่อง King Lear ให้เป็นผลงานชิ้นเอกของเชคสเปียร์ แต่น้อยคนนักจะกล้าหยิบมันขึ้นมาเล่น

ชั่วชีวิตนี้เคยดู Macbeth ประมาณห้า productions ไม่รู้บังเอิญหรืออย่างไร สองในห้าจงใจทำออกมาเป็นละครชวนหัว และอีกสาม productions ที่เหลือ ก็อดไม่ได้จะแฝงนัยยะความขบขันบางอย่าง แน่นอนว่าคู่สามีภรรยาแมคเบธไม่ใช่ตัวดี แต่เว้นผู้หญิงและเด็กเสีย สกอตแลนด์ในละครก็ดูเทาๆ หม่นๆ ไม่ค่อยมีใครดีอีกเหมือนกัน แบรดลีไม่ได้มอง Macbeth เป็นละครชวนหัว แต่เขาก็ไม่ปฏิเสธว่าละครเรื่องนี้เต็มไปด้วยบทพูดและสถานการณ์อันย้อนแย้ง ซึ่งถ้านักแสดงพลิกลิ้นดีๆ ก็จะเรียกเสียงหัวเราะได้ไม่ยาก