B. Clegg's "Before the Big Bang"

ไม่รู้ทำไม ระหว่างที่อ่าน Before the Big Bang จู่ๆ ก็นึกถึงการ์ตูนชุด หน้ากากทมิฬ ขึ้นมา (นี่! เรียกชื่อไทยแบบไม่อายอายุ) คงเพราะเรารู้สึกกระมังว่าบอสใหญ่ภาคหลังๆ นี่ "แม่งมั่วว่ะ"

มันคงเริ่มจากอาจารย์อารากิดันเขียนให้บอสใหญ่ภาคสามหยุดเวลาได้ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ถ้าจะหาอะไรที่ตื่นเต้นกว่าหยุดเวลา ก็ต้องขุดเอาจากพวกหนังสือเทกฟิสิกส์แล้วมั้ง พออ่าน Before the Big Bang ได้รับรู้ว่าเดี๋ยวนี้จักรวาลวิทยาเขาพัฒนาไปถึงไหนถึงไหนแล้ว เออ...มองย้อนกลับไป อะไรที่เราว่ามั่วซั่วๆ มันก็ไม่ได้มั่วขนาดนั้นแฮะ

อย่างจักรวาลย้อนหลัง แนวคิดนี้มีชื่อทางฟิสิกส์ว่า The Big Crunch (การหดตัวครั้งใหญ่) ซึ่งตรงข้ามกับ The Big Bang (การระเบิดครั้งใหญ่) หมายถึงเมื่อจักรวาลขยายตัวจนถึงที่สุด เมื่อ Dark Energy ("พลังมืด" ภาษาโคตรการ์ตูนเลย แต่นักฟิสิกส์เขาเรียกอย่างนี้จริงๆ ) ที่ผลักทุกสิ่งทุกอย่างออกจากกันหมดสิ้นลงเมื่อไหร่ แรงดึงดูดก็จะเริ่มทำงาน และดูดทุกสิ่งกลับสู่จุดเริ่มต้น เมื่อถึงจุดที่สสารในจักรวาลรวมตัวกันเป็นจุดเดียว "พลังมือ" ก็จะกลับมาทำงานอีกครั้ง และผลักทุกสิ่งกระจายออกจากกัน เกิดเป็นการระเบิดครั้งใหญ่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ดังนั้นคำถามที่ว่า ก่อนการระเบิดครั้งใหญ่คืออะไร คำตอบก็คือจักรวาลแบบที่เราเป็นอยู่นี่แหละ เพียงแต่กำเนิดเป็นวัฏจักรซ้ำไปซ้ำมา

นักจักรวาลวิทยาในยุคหลังๆ พูดถึงทฤษฎีที่ชวนเหวอยิ่งกว่านี้อีก คือเราจะรู้ได้ยังไงว่าจักรวาลที่เราอาศัยอยู่นี้ เป็นจักรวาลเพียงหนึ่งเดียว บางทีการระเบิดครั้งใหญ่อาจเกิดจากจักรวาลสองจักรวาลมาชนกัน ในมหาจักรวาล กล่าวอีกนัยหนึ่งคือในมหาจักรวาลมีจักรวาลอยู่เต็มไปหมด การชนกัน การแตกตัว การระเบิดของจักรวาลย่อยๆ เหล่านั้น ก่อให้เกิดการระเบิดครั้งใหญ่นับไม่ถ้วน และจักรวาลซึ่งตัดขาดจากกัน โดยแต่ละจักรวาลก็คือจักรวาลคู่ขนานแบบที่เราคุ้นเคยกันดีในนิยายวิทยาศาสตร์นั่นเอง

โอ...จักรวาลช่างแสนมหัศจรรย์ การอ่าน Before the Big Bang ทำให้เราเผลอคิดไปว่า บางทีเราอาจได้พบนักเดินทางจากจักรวาลคู่ขนาน ก่อนหน้ามนุษย์ต่างดาวที่อาศัยอยู่ในจักรวาลเดียวกันก็เป็นได้