ชีวิตปกติ (จารี จันทราภา)


บทวิจารณ์ชีวิตปกติ ลงในมติชน ถ้าใครสนใจ ขอเชิญแวะไปอ่านครับ

*********************

"ความตายและชีวิตหาใช่สองขั้วที่อยู่ห่างไกลกันและกันไม่ ทั้งคู่เป็นเสมือนหนึ่งขาสองข้างที่ก้าวย่างตามกันโดยพร้อมเพรียง และทั้งคู่ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของเธอ" - ภควัน ศรีรัชนี, คัมภีร์แห่งความเร้นลับ แปลโดย พิเชษฐ์ วนวิทย์


ความตายไม่ใช่สิ่งซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกับชีวิต เส้นที่กั้นแบ่งระหว่าง "ก่อน" และ "หลัง" มนุษย์หมดห้วงลมหายใจนั้นไม่มีอยู่จริง ตายและอยู่ ก่อนและหลัง ผสมปนเปกัน เราใช้ชีวิตและหายใจเข้าออกพร้อมๆ กับความตาย กระนั้นความตายก็ยังเป็นเรื่องน่าหวาดหวั่น -- ไม่สิ -- ความตายอาจเป็นเรื่องเดียวที่น่าหวาดหวั่นเลยก็ได้ มนุษย์ผู้จำต้องสบตากับความตายอยู่ตลอดเวลา จึงต้องหาเงื่อนไข กรรมวิธีเพื่อรับมือกับความตาย เพื่อคงไว้ซึ่งชีวิตปกติ ชีวิตประจำวัน ให้ดำเนินต่อไปอย่างราบรื่น

ใน ชีวิตปกติ เรื่องสั้นโปรยปกของจารี จันทราภา ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งต้องเผชิญหน้ากับความตายอย่างจัง เมื่อเกิดอุบัติเหตุกับช่างตัดผมประจำชุมชน วิธีที่พวกเขาใช้รับมือกับความตายคือเปลี่ยนมันให้กลายเป็นมหรสพ "ท่ามกลางสายตาผู้คนมากมายที่กรูกันออกมามุงดู อีกทั้งส่งเสียงบอกข่าวกันขรม ประหนึ่งชวนให้มาชมมรสพ [sic.] สำคัญ" บ้างก็วิพากษ์ วิจารณ์ "เหมือนจะเข้าใจ เหมือนจะรู้ เหมือนจะเคย"

เช่นเดียวกับมหรสพทั่วไป ความตายกลายเป็นพิธีกรรม โดยมีนายตำรวจทำหน้าที่เป็นพิธีกร ถามไถ่ข้อมูล "ก่อนก้มหน้าก้มตาจดยิกๆ ลงในสมุด เข้าใจว่าน่าจะบันทึกข้อมูลไว้เขียนรายงาน หรือไม่ก็เพื่อแจ้งร้อยเวรตามหน้าที่" ทั้งหมดนี้เป็นบทในพิธีกรรม ที่ถูกออกแบบมาแล้วล่วงหน้า โดยนายตำรวจไม่จำเป็นต้องรู้สึกตื้นลึกหนาบางอะไรกับผู้ตายและความตาย ขณะเดียวกัน ชาวบ้านก็พยายามผลักความตายให้พ้นไปจากตัว ลดทอนอัตลักษณ์ของช่างตัดผม ให้กลายเป็นศพไร้ชื่อ ที่ไม่มีผู้ใดจนจำชื่อเสียงเรียงนามได้ และเมื่อม่านการแสดงปิดลงพร้อมกับการมาถึงของรถพยาบาล พวกเขาก็กลับไปดำเนินชีวิตปกติกันต่อ ราวกับทุกสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของ "หลัง" ไม่เกี่ยวอะไรกับผู้คนที่ยังใช้ชีวิตอยู่ใน "ก่อน"

ความตายเป็นปฏิปักษ์กับชีวิต และวิธีที่ดีที่สุดในการรับมือกับมันคือเพิกเฉยเสีย หรือสร้างพิธีกรรมมารายล้อม

พิธีกรรมช่วยปิดบังความตาย เปลี่ยนความตายให้กลายเป็นชีวิตปกติ จารีตัวละครเอกของ ในวัด (ชื่อเดียวกับผู้เขียน) ต้องรับมือกับความตายของแม่ ไปพร้อมๆ กับจัดงานศพ และทนรับความฉ้อฉลของลุงยงค์ เจ้าหน้าที่วัด ความตายถูกพิธีกรรมบิดเบือนไป พร้อมๆ กับที่ ลุงยงค์บิดเบือนเจตนาตัวเอง หากิน เอารัดเอาเปรียบเจ้าภาพงานศพ มิติใหม่ๆ ของชีวิตปกติ เช่น การหาซื้อดอกไม้ เชื้อเชิญแขก จัดเตรียมข้าวปลาอาหาร ถูกเพิ่มเติมเพื่อปิดบังความตาย และกว่าจะจารีจะได้มีโอกาส "หมองเศร้าหม่นซึม" หรือ "เศร้าใจอย่างบอกไม่ถูก" ก็ต่อเมื่อสิ้นสุดพิธีศพแล้วเท่านั้น

นอกจากจะเปลี่ยนความตายให้กลายเป็นมหรสพ มนุษย์ยังชอบแสดงมหรสพของความตาย ใน บทบาทใหม่ "คุณ" คือผู้ชมละคร นักแสดงชายผอมออกมาเล่าเรื่องความตายของตัวเอง ของน้องชาย ก่อนจะจบลงด้วยเสียงปืนที่กำลังจ่อขมับ สุดท้ายทุกอย่างถูกเปิดเผยว่า แท้จริงโรงละคร เหตุการณ์บนเวที และกระทั่งผู้ชม ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของฉากในภาพยนตร์ "คุณ" รับบทบาทเป็นผู้ชม เป็นตัวประกอบ และเมื่อสิ้นสุดบทบาท ได้แต่เดินออกจากโรงละคร "ยังไม่รู้ว่าจะไปทางไหน มากไปกว่านั้น ไม่ทราบอีกว่าจะทำตัวอย่างไรดี" ความตายซึ่งถูกจำลองบนเวทียั่วล้ออยู่กับความตายอีกแบบ คือการสิ้นสุดอัตลักษณ์ของผู้ชม (และคนอ่านเอง)

แม้ในโลกของ "ก่อน" ก็ใช่ว่ามนุษย์เราจะปลอดภัยจากความตาย อดีตคือสิ่งที่เกิดก่อน "ก่อน" คือเหตุการณ์ที่เราไม่อาจย้อนกลับไปแก้ไข เปลี่ยนแปลง ในแง่นี้ มันจึงมีค่าความจริง ไม่ต่างอะไรไปจาก "หลัง" มากนัก จะเห็นได้ว่าตัวตนของมนุษย์คือปัจจุบันอันบอบบาง ถูกล้อมรอบด้วยความตายทั้งก่อนและหลัง

กลิ่น เปิดเรื่องด้วยความตายของปลาทองตัวเมีย สัตว์เลี้ยงของกมล และที่มาเยือนติดๆ กันคือความตายอีกประเภท -- นั่นคืออดีต -- ในรูปแบบของหญิงสาวจากที่ทำงานเก่า หล่อนคือผู้มอบปลาทองให้แก่กมล และเป็นผู้นำมาซึ่งกลิ่นที่เปลี่ยนแปลงชีวิตคนทั้งสอง หล่อนเล่าให้เขาฟังถึงโศกนาฏกรรมที่เกิดกับตัวเอง ตั้งแต่กมลลาออกจากที่ทำงาน สุดท้ายเรียกร้องให้อีกฝ่ายแสดงความรับผิดชอบ "ขนาดนี้แล้ว ยังมองไม่ออกอีกหรือไง ว่าทำไมฉันต้องมาหาเธอ หัดใช้สมองคิดเสียบ้างสิ ถ้าฉันไม่ลาออกเพราะเธอ เรื่องทั้งหมดจะเกิดขึ้นได้อย่างไร" หญิงสาวต้องการให้เขาย้อนอดีต กลับไปสู่โลกแห่งความตาย เพื่อแก้ไขข้อผิดพลาด กมลเลือกที่จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับความตาย โดยใช้กลิ่นเป็นข้ออ้าง (กลิ่นคือสัญญะของศพที่เราพบได้บ่อยๆ ในงานวรรณกรรม) และสุดท้ายต้องใช้ชีวิตตามลำพัง เช่นเดียวกับปลาทองตัวผู้ สัตว์เลี้ยงของเขาที่เพิ่งสูญเสียคู่ชีวิต

ผู้เขียนไม่ได้ตัดสินว่าการกระทำของกมลเป็นสิ่งผิดหรือถูก ความในใจของตัวละครถูกเปิดพื้นที่เอาไว้ให้คลุมเครือ หญิงสาวเพียงต้องการฉกฉวยผลประโยชน์ หรือรู้สึกลึกซึ้งกับอีกฝ่าย ถ้ากมลตัดสินใจแก้ไขอดีต ยื่นมือเข้าไปหาความตาย ชีวิตของเขาจะเปลี่ยนแปลงไปเช่นไร จ่าเฉลิม ในเรื่องสั้นชื่อเดียวกัน เป็นตัวละครซึ่งตัดสินใจในทางตรงกันข้าม วันดีคืนดี เขารับทราบปมเรื่องราวเกี่ยวกับตัวเอง ซึ่งถูกปกปิดมาตลอด (ผ่านทางจดหมายของผู้หญิงที่ตายไปแล้ว) จ่าตัดสินใจย้อนกลับไปสะสางอดีต ผลสุดท้ายเขากลายเป็นคนใหม่ "เย็นเหมือนน้ำแข็ง" และ "อะลุ่มอล่วย" กว่าแต่ก่อน ซ้ำยังยั่วล้อกับความตาย ใช้ภาพถ่ายศพที่เกิดอุบัติเหตุ มาเป็นเครื่องเตือนใจวัยรุ่นที่ชอบขี่มอเตอร์ไซค์โดยไม่สวมหมวกกันน็อค จ่าเฉลิมจึงเป็นหนึ่งในตัวละครไม่กี่ตัวที่กล้าสบตากับความตาย และอาจเป็นตัวละครที่ลงเอยอย่างมีความสุขที่สุดในเล่ม

ตัวละครที่น่าสงสารที่สุดคือ "ผม" จิตรกรเร่ร่อนใน สามเหลี่ยมด้านไม่เท่า "ผม" ไม่ใช่เพียงแค่เพิกเฉยกับความตาย แต่ถึงขั้นปฏิเสธมันอย่างหน้ามืดตามัว ความตายปรากฏต่อหน้าตัวละคร ในรูปแบบของขั้วตรงข้าม -- นั่นคือการร่วมประเวณี -- ตามแนวคิดของฟรอยด์ ที่เชื่อมโยงระหว่างแรงขับสู่ความตาย (death drive) และแรงขับสู่การสืบพันธ์ (sex drive) จิตรกรผูกมิตรกับเด็กหญิงผู้มีใจให้เขา อายุคนทั้งสองต่างกันเกินรอบหนึ่ง เขาตั้งใจที่จะ "ดูแลเด็กคนนี้" โดยไม่แตะต้อง เหยียบย่ำความบริสุทธิ์ของเธอ ย้ำกับตัวเองเสมอว่ารู้ "เรื่องใดไม่ควรทำก็คือไม่ควรทำ" แต่สุดท้ายอาการหลงพร่ำเพ้อศีลธรรมแบบ "นักอุดมคติหลงยุค" กลับเป็นชนวนนำไปสู่จุดจบของความสัมพันธ์ การไม่รู้จักตัวเอง ไม่รู้จักหายใจไปพร้อมๆ กับความตายและการร่วมประเวณี สร้างบาดแผลกรีดลึกแก่คนที่เขาต้องการจะปกป้อง

ในเล่มนี้ ยังมีอีกสามเรื่องสั้นคือ จนอายุห้าสิบสาม ในหมู่บ้าน และ ที่ที่เราอยู่อาศัย โดยรวมแล้ว ชีวิตปกติ รวมเรื่องสั้นลำดับสองของจารี จันทราภา เป็นอีกผลงานอันยอดเยี่ยมที่อยากฝากฝัง แนะนำให้ลองหามาอ่านดู

2 comments:

thales said...

เอทำไมเม้นแล้วข้อความหาย สองทีแระ

Unknown said...

pop over here best site news bags replica ysl This Site find out here now