
จากที่อ่านบทความ
การรับ การเสพสังคีตศิลป์ในสังคมร่วมสมัย โดยอาจารย์รังสิพันธุ์ และ
พิเชษฐ กลั่นชื่น: ทางไปสู่การอภิวัฒน์นาฏศิลป์ไทย โดยอาจารย์ปาริชาติ เราก็เอาแต่คิด คิด คิดเรื่องความฉาบฉวยในวัฒนธรรมไทย อะไรคือความฉาบฉวย และวัฒนธรรมไทยที่ฉาบฉวย มันต่างจากที่ลุ่มลึกตรงไหน
ตัวอย่างความฉาบฉวยที่อาจารย์รังสิพันธุ์ยกมาในบทความนั้นเป็นโฆษณาชิ้นหนึ่งซึ่งเราไม่เคยดู อาจารย์เล่าว่ามีเด็กวัยรุ่นคนหนึ่งเล่นสเกตบอร์ดผ่านหน้าคุณป้าหรือคุณอาที่กำลังตีระนาดอยู่ เด็กวัยรุ่นรู้สึกสนใจ เลยแวะเข้าไปหา ไปลองฟัง และลองตีต๊องแต๊งดูบ้าง ซึ่งพอตัดภาพไปอีกที ก็เห็นเด็กวัยรุ่นคนนั้นกำลังฝึกตีระนาด นัยที่ผู้โฆษณาต้องการสื่อคือ ระนาดหรือวัฒนธรรมไทยนั้นเหนือกว่าสเกตบอร์ดหรือวัฒนธรรมรุ่นใหม่ที่เรารับมาจากตะวันตก
ฟังผิวเผินแล้วก็เหมือนว่าจะดี ไม่เห็นมันจะฉาบฉวยตรงไหน
แต่ตัวอย่างของอาจารย์รังสิพันธุ์เตือนให้เรานึกถึงเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งใน
ขายหัวเราะ ซึ่งมันติดอกเรามากๆ สมัยกระพู้นนู้นป้าเบิร์ดเพิ่งออกอัลบั้ม
ธ. ธง และมีการจัดคอนเสิร์ตแบบเบิร์ดๆ ในศูนย์วัฒนธรรม ซึ่งถือเป็นคอนเสิร์ตที่ยิ่งใหญ่มาก ไม่ว่าจะเป็นการใช้ระบบไฮดรอลิกครั้งแรกในประเทศไทย เทคโนโลยีแสง สี เสียง ในเรื่องสั้นดังกล่าว พูดถึงเบื้องหลังการจัดคอนเสิร์ตที่เต็มไปด้วยความยุ่งเหยิง และนายทุนมาถกเถียงกัน มีการกล่าวหาว่านักร้อง (ซึ่งแน่นอนว่าผู้เขียนไม่ได้เจาะจงว่าเป็นป้าเบิร์ด) ลวงโลกด้วยการลิปซิงค์ (โดยผู้เขียนไม่ได้สำเหนียกเลยว่าเบิร์ดคือนักร้องที่มีน้ำเสียงไพเราะ และเป็นเอนเตอเทนเนอร์ตัวเอ้สุดของประเทศไทย ขนาดเราไปดูคอนเสิร์ตป้าเมื่อปีที่แล้ว ถ้าไม่ใช่เพลงเร็วที่ต้องร้องไป เต้นไป ป้าก็ยังร้องสดๆ ให้เราฟัง)
ทีนี้ตอนท้ายของเรื่องสั้น ระหว่างพักครึ่ง เมื่อคนดูเดินออกจากโรงมหรสพไปเดินเล่นแถวศูนย์วัฒนธรรม ก็ปะเหมาะคุณยายคนหนึ่งกำลังตีขิม ดีดจะเข้ ซีซอ หรือว่าอะไรก็แล้วแต่ และด้วยความไพเราะของดนตรีไทยนั่นเอง สะกดคนดูไม่ให้ไปไหน ขนาดเขาเรียกกลับไปดูคอนเสิร์ตร้อยล้าน ก็ยังสมัครใจจะยืนให้เขาซีซอกล่อมต่อไปเรื่อยๆ
ฉาบฉวยไหม ถ้ายึดตามตัวอย่างของอาจารย์รังสิพันธุ์ก็ต้องถือว่าฉาบฉวยเช่นกัน

อะไรคือความฉาบฉวยของวัฒนธรรมไทยที่ปรากฎในโฆษณา และเรื่องสั้นนี้ ทั้งที่ผู้คิด และผู้เขียนล้วนแต่มีเจตนาดี ต้องการให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจเสน่ห์ดั้งเดิม ที่มัน
อาจดึงดูดใจผู้เสพมากกว่าวัฒนธรรมไทยประยุกต์
กระนั้นก็ตาม ในเจตนานั้นแหละที่แฝงความฉาบฉวยไว้ ในความเห็นเรา ไม่มีหรอกวัฒนธรรมไทย
ดั้งเดิม หรือไทย
ประยุกต์ พฤติกรรมของคนไทย ไม่ว่าจะเป็นการเล่นสเกตบอร์ด ดูคอนเสิร์ตเบิร์ดๆ หรือฟังดนตรีไทย ชมนาฏศิลป์ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นวัฒนธรรมไทยทั้งสิ้น เราเคยยกคำกล่าวของอาจารย์นิธิว่า “วัฒนธรรมสำคัญกว่าความรู้” มาใช้กำกับบทวิจารณ์หนังสือของเอโค มาคราวนี้เราขอเสริมต่อไปอีกว่า “แต่วิถีชีวิตกว่าวัฒนธรรม” (และถ้าจะมีใครหัวเส พูดต่อไปด้วยว่า “และท้ายที่สุดความรู้สำคัญกว่าวิถีชีวิต” ก็เห็นด้วยอยู่เหมือนกัน) วัฒนธรรมไม่ใช่สิ่งที่รับสืบทอดมาจากบรรพชนในอดีต วัฒนธรรมคืออันใดก็แล้วแต่ที่งอกเงยมาจากการดำรงชีวิต ไม่ว่าในปัจจุบันการดำรงชีวิตของคนไทยจะเอื้อให้เกิดพฤติกรรมแบบไหนขึ้น สิ่งนั้นแหละคือวัฒนธรรม
สานส์ซึ่งซ่อนอยู่ในโฆษณาและเรื่องสั้นชิ้นนี้ ไม่ใช่เพียงว่าวัฒนธรรมไทยเดิมดีกว่าวัฒนธรรมไทยที่รับมาจากต่างชาติ แต่ในกรณีเรื่องสั้นนั้นชัดมากว่าผู้เขียนต้องการโยงวัฒนธรรมว่าเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับระบบทุน ธุรกิจ โดยคนดูที่จ่ายเงินแพงๆ ซื้อบัตรคอนเสิร์ต ครั้นจะซาบซึ้งกับซอ ก็สามารถโยนบัตรทิ้งได้โดยไม่ยี่หระ กรณีโฆษณาอาจจะไม่ชัดเจนเท่า (เนื่องจากเราไม่ได้เห็นด้วยตาตัวเองเลยวิจารณ์ลำบาก) แต่เราเชื่อว่ามันจะต้องมีบ้างแหละ การโยงดนตรีไทยไปหาจิตวิญญาณหรืออะไรที่จับต้องไม่ได้ และไม่เป็นชีวิตประจำวัน
นี่ต่างหากคือความฉาบฉวย การมองว่าวัฒนธรรมไทยเป็นสีสันที่มาแต่งแต้ม แต่ไม่ได้ฝังลึกลงในวิถีชีวิต สิ่งที่เกินออกมาและฉาบอยู่ด้านบน ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการดำรงชีวิตเหมือนระบบทุน ธุรกิจ ด้วยเหตุนี้ไม่ว่าเจตนาของผู้สร้าง ผู้เขียนจะดีสักแค่ไหน แต่วัฒนธรรมไทยที่สื่อออกมาก็เป็นได้แค่ความฉาบฉวย

แต่ถ้าถามว่าอาจารย์รังสิพันธุ์จะเห็นด้วยกับการวิเคราะห์ของเราไหม เรากลับรู้สึกว่าคงไม่แฮะ เนื่องจากในบทความดังกล่าว อาจารย์ยกตัวอย่างความฉาบฉวยขึ้นมาอีกอย่าง คือรายการ “ชื่อแปลกๆ ” ที่จับเอาคนมาแข่งขันดนตรีไทย และลูกทุ่งกัน โดยจะมีกรรมการคอยตัดสินว่าฝ่ายไหนเล่นได้ดีกว่า อาจารย์กล่าวว่าการกระทำแบบนี้ขัดกับประเพณีการแข่งขันดนตรีแบบไทยเดิม ที่จะไม่มีคนตัดสิน แต่ฟังกันเองก็รู้ฝีมือแล้ว หรือถ้าจะวัดฝีมือ ก็ต้องแข่ง ต้องเล่นกันเป็นปี
อาจารย์รังสิพันธุ์เรียกสิ่งนี้ว่าความฉาบฉวย ซึ่งเราไม่เห็นด้วย ก่อนอื่นเลยเนื่องจากอาจารย์ไม่ได้เจาะจงชื่อรายการ เราเหมาไปเลยว่าเป็นรายการสุดโปรดของเรา
ชิงช้าสวรรค์ ซึ่งนี่แหละคือการประยุกต์วัฒนธรรมลูกทุ่งให้ทันสมัย และน่าเมียงมองที่สุด การประกวดเข้ากับ “วัฒนธรรมไทย” ยุคใหม่ที่ผู้คนชอบดู ชอบฟังการแข่งขันดนตรี การให้เด็กมาแสดงเป็นหมู่คณะก็ฝึกฝนการเรียนรู้ ความสามัคคี และอื่นๆ ที่งอกเงยมาจาก “วัฒนธรรมโรงเรียน” (ซึ่งต่างจาก “วัฒนธรรมสำนัก” แบบสมัยก่อน) ถ้าจะติอยู่บ้าง ก็อาจเป็นการลงทุนที่ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำเกินไปหรือเปล่า
ขึ้นชื่อว่าเป็นวิถีชีวิต เป็นสิ่งที่คนไทยกระทำจนติดเป็นนิสัย ไม่มีหรอกวัฒนธรรมไทยดั้งเดิม ไทยประยุกต์ มันอาจเป็นวัฒนธรรมที่นำมาซึ่งโทษมากกว่าคุณ (และเอาเข้าจริงวัฒนธรรมไทยดั้งเดิมหลายอย่างเช่นการเหยียดเพศ ก็ไม่เห็นจะวิเศษตรงไหน) แต่เมื่อวิถีชีวิตพูดแล้ว วัฒนธรรมมีหน้าที่หุบปาก และฟัง!