E. Waugh's "Brideshead Revisited"


Brideshead Revisited เป็นนิยายแนวการล่มสลายของสถานบันครอบครัว (ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับความรัก หรือการเยียวยา) จำได้ว่าครั้งสุดท้ายที่อ่านนิยายแนวนี้คือ Buddenbrooks ของโธมัน มานน์ พูดถึง Buddenbrooks หน่อยก็แล้วกัน ถึงแม้ว่าฉากในนิยายเล่มนั้นจะเป็นบาวาเรีย (เยอรมัน) ช่วงศตวรรษที่ 19 แต่มานน์ซึ่งเป็นนักเขียนแห่งศตวรรษที่ 20 ก็วางโครงเรื่องโดยใช้หลายเหตุการณ์ในยุคของเขา (เช่นแทนที่จะเป็นสงครามโลกครั้งที่ 1 ก็ใช้สงครามบิสมาร์กแทน) เอฟวิน วอจ์ห ผู้แต่ง Bridehead Revisited เป็นชาวยุโรปยุคใกล้เคียงกับมานน์ และการล่มสลายของครอบครัวไบรด์เฮด ถูกนำเสนอโดยมีฉากหลังคือการขึ้นเถลิงอำนาจของนาซี

ความแตกต่างอีกประการคือ ขณะที่น้ำเสียงของมานน์ค่อนข้างชัดเจนว่าสิ่งซึ่งเกิดกับครอบครัวบันเดนบรูคเป็นโศกนาฏกรรมของโลกยุคใหม่ วอจ์หเหมือนจะยังลั้งเล ตัวละครตัวหนึ่งพูดวิจารณ์ภาพวาดของชาร์ลส์ ไรเดอร์ว่า “รูปของเธอมี “เสน่ห์” (charm) มากเกินไป…ฉันได้เตือนเธอตั้งแต่แรกแล้วใช่ไหมว่าให้หลีกเลี่ยง “เสน่ห์” โดยเฉพาะ “เสน่ห์” ของครอบครัวไบรด์เฮด” วอจ์หมอง “เสน่ห์” อันเป็นเอกลักษณ์ของโลกเก่าด้วยสายตากึ่งๆ หวาดระแวง เราเลยพูดได้ไม่เต็มปากว่าเขาเห็น Brideshead Revisited เป็นโศกนากฏกรรมเช่นเดียวกับที่มานน์รู้สึกว่านิยายของเขาเป็น Brideshead Revisited จึงถูกเล่าในรูปแบบของการคะนึงหาอดีต ซึ่งอัดอวลไว้ทั้งความเสียดายในสิ่งที่พ้นผ่าน แต่ก็เข้าใจว่าบางครั้งที่มันจบลงไปต้องถือว่าดีที่สุดแล้ว

ครอบครัวไบรด์เฮดมีทายาทสี่คน คนโตสุด ไบรด์เฮด เป็นกึ่งๆ พระ กึ่งๆ ทหาร เป็นบุรุษลึกลับที่ไม่ค่อยมีใครเข้าใจว่าเขาคิด หรือทำอะไรอยู่ จูเลีย น้องสาวคนรอง ตอนต้นเรื่องหมั้นหมายกับเรก นักการเมืองหนุ่มจากแคนาดา ผู้ซึ่งในตอนหลัง เธอค้นพบว่าเขาไม่ใช่คนจริงๆ แต่เป็น “ถุงมีชีวิต” เซบาสเตียน น้องชายขี้เหล้า ผู้มีเพื่อนรักเป็นตุ๊กตาหมีชื่ออะโลเชียส และ แคโรไลน์ น้องสาวคนเล็ก พ่อ และแม่ของทั้งสี่หย่ากัน โดยพ่อหนีไปอยู่กับภรรยาน้อยในเวนิส ครอบครัวไบรด์เฮดเป็นแคทอลิก ซึ่งสำหรับในประเทศโปรแทสแตนอย่างอังกฤษ ถือเป็นของแปลก ประเด็นศาสนามีบทบาทอย่างมากในนิยาย เสียดายที่ความเข้าใจความแตกต่างระหว่างลัทธิในศาสนาคริสต์ของเราไม่แตกฉานพอจะรับมันเข้าไปได้ทั้งหมด (แต่ฉากที่เรกพยายามเปลี่ยนตัวเองจากโปรแตสแตนมาเป็นแคทอลิก ก็ฮาอยู่ไม่น้อย)

ตัวเอก และผู้เล่าเรื่องคือชาร์ลส์ ไรเดอร์ เป็นเพื่อนนักเรียนของเซบาสเตียน ภายหลังลาออกจากโรงเรียน และผันตัวเองมาเป็นจิตรกรวาดภาพสถาปัตยกรรม และทหาร สมัยเด็กๆ ชาร์ลส์ผูกพันกับเซบาสเตียน จนหลายครั้งเหมือนความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองไปไกลกว่าคำว่าเพื่อน แม้วอจ์หจะไม่ได้พูดตรงๆ แต่คนอ่านเข้าใจได้ว่าสุดท้ายเซบาสเตียนก็กลายเป็นรักร่วมเพศเต็มตัว หลังก่อวีรกรรมอันเนื่องมาจากความขี้เหล้าเมามาย ส่วนชาร์ลส์ พอแต่งงาน ก็เริ่มหันเหความสนใจไปหาจูเลีย ผู้ซึ่งเขามองเห็นความเป็นเซบาสเตียนในตัวหล่อน ก่อนที่เซบาสเตียนเองจะกลับมาอีกครั้งเพื่อปิดเรื่องราวทั้งหมด

Bridehead Revisited มีชื่อเสียงมากในแง่การระบายภาพความ “น่าหมั่นไส้” ของเหล่าผู้ลากมากดีชาวอังกฤษต้นศตวรรษที่ 20 พวกเขาส่งลูกไปเรียนที่ออกฟอร์ด ใช้ชีวิตอยู่บนระบบสินเชื่อ และสร้างหนี้สินมากมายซึ่งนำพาไปสู่ความล่มจม โดยส่วนตัวไม่รู้สึกว่าชีวิตของชาร์ลส์ หรือเซบาสเตียนน่าหมั่นไส้อะไรนัก แต่ขณะเดียวกันช่วงต้นนิยายสมัยที่ทั้งคู่เรียนหนัง ก็เป็นช่วงที่น่าสนใจน้อยสุดสำหรับเรา โดยรวมนิยายของวอจ์หเล่มแรกที่เราอ่านนี้ไม่ถึงกับโดนนัก มันมีกลิ่นความเป็นศตวรรษที่ 19 มากไปหน่อยสำหรับรสนิยมเรา ถือว่าเพลินๆ เปลี่ยนบรรยากาศในระดับหนึ่งแล้วกัน

4 comments:

Anonymous said...
This comment has been removed by a blog administrator.
Anonymous said...
This comment has been removed by a blog administrator.
Anonymous said...

ขอบคุณมาก ๆ นะครับ สำหรับบทความดีๆ

รับ แปลเอกสาร said...

เป็นเรื่องที่น่าอ่านมาก ขอบคุณที่เอามาแนะนำครับ