M. Foucault's "The History of Sexuality: an Introduction"


The History of Sexuality คือหนังสือเกี่ยวกับเรื่องเซ็ก ที่ไม่ได้พูดถึงเซ็ก แต่พูดถึง "การพูดถึงเรื่องเซ็ก" ซึ่งถ้าว่ากันตามนิยามของฟูโกต์แล้ว นั่นแหละคือเรื่องเซ็ก งงไหม

อ่านแล้วนึกถึงสมัยเรียนทฤษฎีสัมพันธภาพพิเศษ ไอนสไตน์กล่าว (ย่อๆ ) ว่าภาพวัตถุคือตัวตนที่แท้จริงของวัตถุ ในทำนองเดียวกัน กิจกรรมเพศสัมพันธ์ในสายตาฟูโกต์เป็นแค่เรื่องหยิบย่อยในทั้งหลายทั้งปวงที่เกี่ยวกับเรื่องเพศ ฟูโกต์สมเป็นนักปรัชญา-ประวัติศาสตร์แห่งอำนาจ มองเพศสัมพันธ์เป็นเครือข่ายอำนาจชนิดหนึ่ง โดยหัวใจของการหยิบยื่น และใช้อำนาจอยู่ที่ "ความจริง" หรือ "การเรียนรู้ความจริง" เกี่ยวกับเรื่องเซ็ก

ใครที่อ่าน Discipline & Punish มาก่อนจะเข้าใจ The History of Sexuality ได้ง่ายขึ้น เพราะปรัชญาหลายอย่างคล้ายคลึงกัน ฟูโกต์สนใจความเกี่ยวพันระหว่างอำนาจ และความรู้ กรณีเซ็กซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกสังคมปกปิดย่อมกลายเป็นฐานแห่งอำนาจ ระหว่างผู้รู้ และผู้อยากรู้ ความคิดซึ่งน่าหยิกมากๆ คือฟูโกต์แบ่งวัฒนธรรมออกเป็นสองประเภท วัฒนธรรมตะวันออก ซึ่งเซ็ก หรือความจริงเกี่ยวกับเซ็กสัมพันธ์กับศิลปะ (นึกถึงอีโรติกอาร์ตของญี่ปุ่น อินเดีย) ศิลปินหรือผู้รู้จะมีอำนาจเหนือกว่า ส่วนวัฒนธรรมตะวันตก จะตรงกันข้าม เพราะเซ็กสัมพันธ์กับวิทยาศาสตร์ ดังนั้นผู้รู้จึงตกอยู่ในสภาพ "สิ่งที่ถูกศึกษา" และนักวิทยาศาสตร์ นักศาสนา หรือผู้อยากรู้ เป็นฝ่ายกุมอำนาจ

จริงๆ หนังสือเล่มนี้มีประเด็นน่าขบคิดเยอะ แต่ประเด็นหลักซึ่งฟูโกต์ย้ำเสมอคือ พัฒนาการของสังคมยุคใหม่ ตั้งแต่ยุควิคตอเรียไม่ได้นำไปสู่การปกปิดทางเพศอย่างที่หลายคนเข้าใจ ในทางตรงกันข้าม ฟูโกต์กลับบอกว่าเรื่องเพศถูกเปิดเผยมากขึ้น ตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม นำไปสู่ทุนนิยม ผู้คนตระหนักความสำคัญของทรัพยากรมนุษย์ จากเดิมอำนาจถูกจำกัดแค่หยิบยื่นความตายให้แก่ผู้ฝ่าฝืนกฎระเบียบ แต่ภายหลังศตวรรษที่ 18 อำนาจคือการจัดการชีวิตผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาให้ได้ประโยชน์สูงสุดเพื่อการผลิต เพศสัมพันธ์กลายเป็นกิจกรรมหนึ่งในระบบเศรษฐศาสตร์ ดังนั้นมนุษย์ยุคใหม่จึงหันมา "คุย" เรื่องเพศมากขึ้น "คุย" ในที่นี้ไม่ใช่สนทนาวิสาสะกลางตลาด แต่เป็นการ "คุย" เพื่อบังคับ ควบคุม ค้นหาความรู้ สรุปสั้นๆ คือ การ "คุย" ในฐานะส่วนหนึ่งของเครือข่ายอำนาจนั่นเอง

ใช้เวลาอ่าน The History of Sexuality น้อยมาก ทั้งที่มันเป็นหนังสือยาก ไม่รู้เหมือนกันที่ลุยอ่าน เพราะกลัวลืมเนื้อหา แล้วจะอ่านต่อไม่รู้เรื่องหรือเปล่า (เอาเข้าจริงๆ พออ่านจบบทหนึ่ง ให้เวลากับมันสักพัก จะเข้าใจได้ดีกว่า) แต่ที่แน่ๆ ถึงจะยาก แต่นี่เป็นหนังสือซึ่งอ่านสนุก ความรู้สึกเหมือนมีกระแสไฟฟ้าช็อตกระตุ้นสมองตลอดเวลา ยอมรับว่าอ่านเข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง แต่ The History of Sexuality พิสูจน์ว่าฟูโกต์ยังคงเป็นนักปรัชญาในดวงใจเราเสมอ

3 comments:

Anonymous said...

ภาพสวยมากฮะ จากหนังสือใช่ไหม

Anonymous said...

ภาพสวยมากฮะ จากหนังสือใช่ไหม

laughable-loves said...

คุณพอกลอนถามโดนใจ ขอตอบแทนเล่มนี้ และเล่มอื่นๆ เลยว่า รูปที่รักชวนหัวใช้ประกอบบทความ ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับหนังสือเลยครับ ยกเว้นถ้าเป็นรูปคนเขียน หรือกรณีหนังสือที่ถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ หรือบทละครเท่านั้นครับ

เรียกว่าเป็นการ "ตีความ" หนังสือด้วยรูปภาพแล้วกันครับ