B. Friedman's "The Moral Consequences of Economic Growth"


The Moral Consequence คือหนังสือซึ่งคนไทยทุกคนควรอ่าน เพราะมันเสนอมุมมองซึ่งขัดแย้งความคิดมาตรฐานในสังคมเรา โดยเฉพาะในสภาพความผันผวนทั้งทางด้านการเมือง และเศรษฐกิจเช่นนี้ ฟรายด์มาน อดีตหัวหน้าภาคคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ใช้หนังสือเล่มนี้เป็นเวทีถกเถียงว่า ผลกระทบจากความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจไม่ใช่แค่ประชาชนรวยขึ้น หรือวิถีความเป็นอยู่ดีขึ้นเท่านั้น แต่ที่สำคัญสุดคือประชาชนก็จะมีศีลธรรมขึ้นด้วย

ความคิดที่ว่าพัฒนาการของมนุษย์ทั้งทางด้านสติปัญญา เศรษฐกิจ และศีลธรรม มักจะไปทางเดียวกันนั้นไม่ใช่ของใหม่ ฟรายด์มานบอกว่าคำสั่งสอนของศาสนาคริสต์บางยุคบางสมัยก็บอกว่า หน้าที่ของชาวคริสต์ไม่ใช่เพียงเข้าวัดเข้าวา แต่รวมไปถึงการขยันหมั่นเพียร ทำงานเพื่อยกระดับสถานภาพในสังคม ปรัชญาซึ่งสนับสนุนความคิดของฟรายด์มานเริ่มมาจากยุค enlightment ประมาณศตวรรษที่ 17-18 เมื่อวิทยาศาสตร์เริ่มเข้ามามีบทบาทในยุโรป ผู้คนรู้จักใช้เหตุใช้ผลมากขึ้น และรู้สึกว่าตัวเองเป็นมนุษย์ที่พัฒนาแล้ว ทั้งทางด้านศีลธรรม และความอยู่ดีกินดี ปรัชญา enlightment ก่อกำเนิดนักคิดอย่าง adam smith ผู้เป็นบิดาแห่งการปฏิวัติอุตสาหกรรม และลัทธิทุนนิยม แน่นอนว่าลัทธิต่อต้านทุนนิยมเองก็มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานไม่แพ้กัน โดยบิดาของมันคือรุสโซแห่งศตวรรษที่ 18 และคาร์ล มาร์กแห่งศตวรรษที่ 19 จนมาถึงเลนินในศตวรรษที่ 20 ในอนาคตข้างหน้าจะจารึกชื่อคณะคมช. ด้วยหรือเปล่า ยังต้องดูกันต่อไป

ประเด็นหลักของฟรายด์มานคือความสุขสบายของประชาชนถูกวัดได้สองแนวทาง หนึ่งคือการเปรียบเทียบกับเพื่อนบ้าน สองคือการเปรียบเทียบกับอดีต ถ้าประเทศมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสม่ำเสมอ แม้กระทั่งคนจนก็จะรู้สึกว่าตัวเองรวยขึ้นกว่าแต่ก่อน เมื่อคนส่วนใหญ่พอใจกับความเป็นอยู่ของตัวเอง การแก่งแย่งชิงดี สู้รบปรบมือทางเศรษฐกิจก็จะลดต่ำลง ประชาชนก็สามารถเอาเวลามาใช้กับกิจกรรมจรรโลงใจอื่นๆ เช่นศิลปะ ดนตรี รวมไปถึงการทำเพื่อสาธารณประโยชน์ ในทางกลับกันถ้าประเทศไม่มีการขยายตัวเลย ประชาชนก็จะหันมาเปรียบเทียบกันเองในสังคม ซึ่งผู้คนก็จะไม่พอใจกับความเป็นอยู่ของตัวเองเพราะเห็นว่าคนอื่นนั้นรวยกว่า สังคมเช่นนี้จึงลงเอยที่สภาพชิงดีชิงเด่น กีดกัน ซึ่งใน The Moral Consequence ฟรายด์มานหยิกยกตัวอย่างจากประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ประเทศอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศษ จนถึงเยอรมัน

มุมมองของฟรายด์มานนั้นเรียกว่าเป็น development economist สุดโต่ง คือให้ความสำคัญกับการพัฒนาประเทศ โดยเชื่อว่าการก้าวไปข้างหน้าของทุกระดับชั้นในสังคม สำคัญกว่าการก้าวไปข้างหน้าอย่างเท่าเทียม จริงๆ แล้วยังมีแนวคิดอีกประเภทหนึ่งของ public economist ซึ่งเชื่อว่า คนที่อยู่ข้างจำเป็นต้องช่วยเหลือ ช่วยจูงคนที่อยู่ข้างหลังด้วย แม้ว่าโดยรวมหมู่คณะไม่อาจก้าวไปไกลเท่าวิธีแรก (หรือบางครั้ง อาจจะหยุดนิ่งกับที่ด้วยซ้ำ) ซึ่งตัวฟรายด์มานเองก็ยอมรับในข้อขัดแย้งตรงนี้ เขาบอกว่า สำหรับประเทศกำลังพัฒนา ต้องแก้โจทย์ให้ว่าจะสร้างสมดุลระหว่างสองแนวคิดนี้อย่างไร ถ้าจะให้ประเทศเจริญรุ่งเรือง ก็ต้องยอมรับว่าไม่อาจกระจายรายได้อย่างเท่าเทียม เช่นอังกฤษ หรืออเมริกา ช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรมใหม่ๆ ก็ประสบปัญหาตรงนี้ (จนถึงปัจจุบัน อเมริกาก็ยังเป็นหนึ่งในประเทศที่คนรวยมีเงินมากกว่าคนจนที่สุดในโลก) แต่พอผ่านไปสักระยะ ช่องห่างของรายได้จะค่อยๆ ลดทอนลงมาเอง ขณะเดียวกัน สังคมซึ่งมีช่องห่างรายได้มากๆ ก็ไม่อาจอยู่ยั้งยืนยง เพราะสภาพเช่นนี้เป็นแหล่งบ่มเพาะปัญหาการเมืองต่างๆ นานา

คงเป็นโจทย์ที่ต้องแก้กันต่อไปสำหรับนักเศรษฐศาสตร์ เอาเป็นว่า บทเรียนตรงนี้ที่อยากฝากให้เก็บไปคิดกันคือ "อย่าดูถูกเงินตรา" แค่นี้แหละ

2 comments:

Anonymous said...

ขอคอมเมนต์อะไรโง่ๆ

"ฝรั่งเศส" จ้ะ

Anonymous said...

ขอบคุณนะค่ะ