รักชวนหัวอยากเป็นกรรมการซีไรต์บ้างอะไรบ้าง (31~40)

31. เล่มนี้ อ่านจบแล้วชอบคนเขียนมากกว่าชอบหนังสือ ผู้เขียนมีฝีไม้ลายมือ และมีวิสัยทัศน์ทางด้านการเมือง ปัญหาอันหลีกเลี่ยงไม่ได้ของเรื่องสั้นการเมืองในยุคเปลี่ยนผ่านแบบนี้คือ ถ้าไม่ปราชญ์จริงๆ เขียนเร็วไปแค่ปีเดียว ก็พ้นสมัยแล้ว แม้เรื่องสั้นส่วนใหญ่จะเขียนเมื่อสองสามปีที่ก่อน แต่ก็ยังจัดว่าร่วมสมัยอยู่ (ไม่เหมือนบางคน ต่อให้รอไปอีกสิบปีแล้วค่อยจดปากกา ยังตกยุคเลย) ในเล่มปะปนกันระหว่างเรื่องที่ดีมากและไม่ค่อยดีเท่าไหร่ (เสียดายที่เรื่องโปรยปกจัดอยู่ในกลุ่มหลัง)

32. ไม่ชอบเล่มนี้ในฐานะงานวรรณกรรม แต่ถ้าให้อ่าน ในฐานะแคปซูลประวัติศาสตร์ ถือว่าเป็นผลงานที่น่าสนใจทีเดียว ไม่รู้ว่าด้วยอุบัติเหตุทางการพิมพ์หรืออะไร แต่เรื่องสั้นที่อยู่ในเล่มนี้ดึกดำบรรพ์มาก (บางเรื่องเขียนตอนคุณชาติได้ซีไรต์) ถ้าให้ตัดสินหนังสือเล่มนี้ด้วยสายตาของนักวิจารณ์ ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันยิ่งกว่าตกยุคอีก แต่ด้วยสายตาของนักสังคมศาสตร์ มันบันทึกอดีต และสะท้อนภาพบางอย่างที่แตกต่างจากปัจจุบันอย่างมีนัยยะและชวนขบคิด

33. เหมือนดูคนเล่นมายากลไม่เป็นที่พยายามดึงกระต่ายออกมาจากหมวก โอเค มันเพลิดเพลินในระดับหนึ่ง และเอาเข้าจริง การ anti-spectacle แบบนี้ ก็เป็นธรรมชาติของงานศิลปะยุคใหม่ แต่ขณะเดียวกัน เราไม่แน่ใจว่าคนเขียน "มีของ" แล้วพยายามรื้อสร้างวรรณกรรม หรือไม่มีอะไรในกอไผ่ตั้งแต่แรก ภาษาที่เหมือนหันมายักคิ้วหลิวตาให้คนอ่านตลอดเวลา สำหรับเรามันเป็นวิสัยน่ารำคาญของนักเขียนที่พยายามทำตัวเป็นโพส

34. วรรณกรรมเพื่อชีวิตยังไม่ตายจริงๆ ด้วย และวิธีต่อชีพงานเขียนแนวนี้ที่ดีที่สุดคือการกลับไปหาจุดกำเนิด เข้าใจ (ไม่ใช่ลอกเลียน) นักเขียนอย่างลุงคำสิงห์หรือลุงคำพูน สะท้อนชนบทแบบที่ชนบทในยุคปัจจุบันเป็น พูดถึงความเปลี่ยนแปลง และปฏิสัมพัทธ์ระหว่างชนชั้น ไม่ใช่เขียนถึงแต่คนยากคนจนในจินตนาการ โรแมนติไซต์รากหญ้าที่ไม่มีอยู่จริง นี่คือวรรณกรรมเพื่อชีวิตขนานแท้ ว่าด้วยวิถีอันสอดคล้องกับธรรมชาติ มีน้ำเสียงจิกกัดทุน แต่ไม่ปฏิเสธมันโดยสิ้นเชิง (เพราะคนชนบทจริงๆ เขายังไม่ปฏิเสธทุนเลย)

35. มันก็สนุกดีอยู่หรอก แถมเราเป็นคนชอบเรื่องทำนองนี้ แต่จะให้ชื่นชมเล่มนี้เลย ก็ทำได้ไม่เต็มปากเต็มคำ เราไม่แน่ใจว่าอัตราส่วนเรื่องที่ดีจริงๆ ต่อเรื่องที่ธรรมดา และเรื่องที่แย่ จัดอยู่ในเกณฑ์สอบผ่านหรือไม่ บางเรื่องก็เหมือนเขียนมาแบบไม่สนใจเขียนให้จบ (ซึ่งอาจเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่ง แต่มันเล่นง่ายไปหน่อยหรือเปล่า) ทั้งที่ไอเดียของเล่มสร้างสรรค์มากๆ แต่การไม่บรรณาธิการตัวเองเลยของคนเขียนทำให้มันไปไม่ถึงศักยภาพ

36. ถ้าวรรณกรรมเป็นเรื่องของภาษาล้วนๆ นี่จะเป็นเล่มที่เราชอบที่สุด เราหลงใหลภาษาและการเล่าเรื่องของมัน แต่น่าเสียดายที่องค์ประกอบอื่นๆ ตัวละครเอย เนื้อเรื่องเอย ธีมเอย ตามหลังภาษาอยู่หลายจังหวัดทีเดียว ภาษากระแสสำนึกที่ผลุบๆ โผล่ๆ ระหว่างอดีต ปัจจุบัน ความจริง และความฝันแบบนี้ น่าจะเหมาะกับเรื่องแนวสัจนิยมมายา แนวสัญลักษณ์ หรือแนวนิทานมากกว่า พอเอามารับใช้เรื่องแนวสัจนิยมเพียวๆ เลยกลายเป็นความลักลั่นไม่เข้ากันไป

37. เละเทะมากๆ ..เหมือนผู้เขียนซ่อนตัวเองอยู่ในเงามืด แล้ว "แสดง" อะไรบางอย่างให้เรารับชม ในแ่ง่หนึ่ง คนเขียนอาจต้องการแสดงให้เห็นความเป็นศิลปินของตัวเอง แต่คำถามคือ อะไรสำคัญกว่ากัน ระหว่างศิลปะและศิลปิน ถ้าคำตอบคือข้อแรก ผลงานชิ้นนี้จัดว่าสอบผ่าน (ก็ได้) แต่ถ้าข้อหลัง ยืนยันคอมเมนต์แรกว่ามัน "เละเทะมากๆ "

38. ให้วิจารณ์แบบไม่เกรงอกเกรงใจ...นี่มันเผางานมาส่งชัดๆ !! นอกจากเรื่องแรกที่ดีที่สุดในเล่ม เรื่องอื่นคือการเอาโมทีฟ ตัวละคร ฉาก และสไตล์มาประกอบสร้าง ผลิตซ้ำๆ ก่อนจะกลายเป็นเรื่องโปรยปกที่แสนเชยทั้งเนื้อหาและความคิด น่าเสียดาย เพราะคนเขียนพิสูจน์ตัวเองว่ามีอะไรดีจากเรื่องแรก...จะบอกความลับให้อย่างหนึ่ง เขียนหนังสือนี่ไม่รวย ไม่ดังหรอก ไม่ต้องรีบผลิตผลงานนักก็ได้

39. อีกหนึ่งแคปซูลกาลเวลา แต่เทียบกับ 32 แล้วไม่ล้าสมัยเท่า อาจเพราะเป็นเรื่องแนวปัจเจก มันจึงตัดขาดตัวเองจากบริบทความเปลี่ยนแปลงในสังคม กระนั้นก็ตาม เรื่องสไตล์ช่อการะเกดยุคสองแบบนี้ไม่ค่อยมีใครเขียนถึงกันแล้ว เราชอบในระดับหนึ่ง แต่อยากยกผลประโยชน์ให้ความย้อนยุคของมัน เช่นเดียวกับ 32 คือ น่าสนใจในฐานะหลักฐานทางประวัติศาสตร์ มากกว่าที่เราจะให้คะแนนทางวรรณกรรมกับมันได้อย่างเต็มภาคภูมิ

40. ถ้าส่วนตัวเลย เราไม่นิยมเล่มนี้เท่าไหร่ สุนทรียะของผู้เขียนดูจะสวนทางกับเราโดยสิ้นเชิง มันเน้นภาษาสวยงาม ปรัชญาซื่อๆ แต่กินใจ เนื้อเรื่องตรงไปตรงมา แม้ทั้งหมดที่กล่าวมา คนเขียนจะทำได้ดีเยี่ยม แต่เราไม่ใช่คนอ่านที่มองหาสิ่งเหล่านี้ตั้งแต่แรก ประกอบกับจุดอ่อนในการเล่าและลำดับเหตุการณ์อันชวนสับสน หรือบางทีก็ลดทอนอารมณ์เรื่องลงด้วยซ้ำ ซึ่งในสายตาคนอื่น มันอาจจะเป็นความผิดเล็กๆ น้อยๆ แต่เราตัดใจอภัยให้ความผิดแบบนี้ยาก เอาเป็นว่าขอเชียร์ห่างๆ แล้วกัน

2 comments:

ปีเตอร์ said...

ขอถามคุณLLหน่อยครับว่าสัปดาห์หนึ่งอ่านหนังสือวันละกี่เล่ม หนังสือที่อ่านยืมห้องสมุดหรือไปซื้อมา ซื้อร้านหนังสืออะไร

ติดตามบลอคตลอด ขอเป็นแฟนคลับ รอฟังคำตอบอยู่นะครับ (แอบกดดัน)^_^

laughable-loves said...

คุณปีเตอร์โพสต์ถามว่าได้หนังสือมาจากไหน ซื้อร้านอะไร ส่วนใหญ่ก็ B2S สลับศูนย์หนังสือจุฬาครับ สำหรับหนังสือชุดซีไรต์นี้ (เป็นแค่กรรมการสมัครเล่น เลยต้องควักกระเป๋าตัวเอง -*-)