G. Debord's "The Society of the Spectacle" *


(หมายเหตุ: ใครเป็นแฟนรักชวนหัว คงคุ้นๆ ว่าเมื่อสองปีที่แล้วเราได้อ่านและพูดถึงหนังสือเล่มนี้ไปแล้วรอบหนึ่ง ที่หยิบเอามาอ่านใหม่ สาเหตุแรกก็เพราะสังคมไทยกำลังโหยหาทฤษฎีสังคมการเมือง หลังจากความเข้าใจ "แบบไทยๆ " ล้มเหลวบ่ท่า อีกสาเหตุก็ด้วยอยากพิสูจน์ตัวเองว่าสองปีผ่านไป กระดูกเราแข็งขึ้นอ่อนลงสักแค่ไหน)

เดอบอร์ดวิพากษ์สังคมยุคใหม่ว่าเป็น “สังคมแห่งภาพแสดง” (The Society of the Spectacle) ในที่นี้มีสองสาเหตุด้วยกัน สาเหตุแรกคือความแปลกแยก หมายถึงการที่ภาพแสดงของของชิ้นหนึ่ง อาจไม่จำเป็นต้องตอบรับตัวตนที่แท้จริงของของชิ้นนั้นเสมอไป ซ้ำร้ายกลับกลายเป็นว่า ภาพกลับมีฐานะความเป็นจริงเหนือว่าตัวตนอีก (เคยอ่านบทความสั้นๆ ของเลโอทาร์ดที่วิเคราะห์ไมเคิล แจคสัน เลโอทาร์ด เจ้าพ่อหลังสมัยใหม่ตั้งคำถามชวนคิดว่ามีใครสักกี่คนที่เคยเห็นไมเคิลตัวจริง แต่ภาพของราชาเพลงป็อปกลับถูกถ่ายทอดไปทั่วโลก และเป็นต้นกำเนิดของความเข้าใจทั้งหมดที่มนุษยชาติมีต่อไมเคิล ดังนั้นอะไรสำคัญกว่ากันระหว่างภาพของไมเคิลและตัวไมเคิล)

ในฐานะที่เป็นนักคิดสายมาร์กซิส แน่นอนว่าความแปลกแยกหลักซึ่งเดอบอร์ดไม่พูดถึงไม่ได้คือการแบ่งหน้าที่การงานตามหลักทุนนิยม นอกจากนี้ยังมีการแบ่งชนชั้นด้วยอำนาจทางวัฒนธรรม ซึ่งความแปลกแยกเหล่านี้แทรกซึมไปทุกหนทุกแห่ง และไปขั้นกลางอยู่ระหว่างภาพแสดงและตัวจริง

ความคิดข้างบนนี้เรายังเฉยๆ เพราะเคยอ่านเจอมาจากเล่มอื่นบ้างแล้ว แต่ที่เป็นต้นตำรับของเดอบอร์ดเองคืออีกสาเหตุของสังคมแห่งภาพแสดง นั่นก็คือ “ความเหลือเฟือ” การปฏิวัติอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีการผลิตเอื้อให้มนุษย์เราผลิตของมากมายเกินจำเป็น และส่วนเกินที่เหลือเฟือนั่นเองเป็นที่มาของสังคมภาพแสดง ยกตัวอย่างง่ายๆ ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งถ้ามีประชากรแค่ร้อยคน แต่ในเซเวนประจำหมู่บ้านกลับมียาสีฟันถึงสองร้อยหลอด ยาสีฟันที่เกินมาร้อยหลอดนั่นไม่ได้มีคุณสมบัติเป็นยาสีฟันอีกต่อไป (เพราะไม่มีใครเอาไปใช้ได้) แต่กลายเป็นภาพแสดงของยาสีฟัน สังคมที่คุ้นชินกับความเหลือเฟือ ในที่สุดก็กลายเป็นสังคมแห่งภาพแสดงที่ไม่อาจแยกออกระหว่างตัวตนและสิ่งที่ปรากฏแก่สายตา

ความแปลกใหม่ของทฤษฎีตัวนี้ก็คือ เทคโนโลยีการผลิตเป็นพื้นฐานของสังคมยุคใหม่แทบทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นทุนนิยม สังคมนิยม หรืออะไรก็ตามแต่ ด้วยเหตุนี้สังคมแห่งภาพแสดงจึงเกิดได้ตั้งแต่ในอเมริกา โซเวียต จนถึงเยอรมันยุคนาซี ตราบใดที่มนุษย์หนีอำนาจการผลิตไม่พ้น ความเหลือเฟือและภาพแสดงก็จะตามหลอกหลอนเราไปเรื่อยๆ ตัวอย่างเช่นรูปถ่ายของเช ซึ่งเพื่อนฝรั่งเราเคยเรียกมันว่า “…a picture of a man many love but no one tries to understand what he stood for…” (ภาพของชายที่หลายคนรัก แต่ไม่มีใครพยายามเข้าใจ) ขนาดเป็นรูปถ่ายของนักสังคมนิยมตัวเอ้ ก็ยังหนีกับดักแห่งภาพแสดงไปไม่พ้น

ในสังคมไทยมีภาพแสดงอยู่เยอะแยะมาก และภาพแสดงเหล่านั้นขณะนี้มีอำนาจเหนือชีวิตจริง ควบคุมชะตากรรม ชี้เป็นชี้ตายใครก็ได้ นี่แหละคือความน่ากลัวของสังคมแห่งภาพแสดง ชนิดที่เดอบอร์ดเองก็ยังคาดไม่ถึง