T. Stoppard's "The Coast of Utopia"


ตอนที่เราแวะไปนิวยอร์กเมื่อปี 2007 ได้ทันเห็นปรากฏการณ์การละครที่น่าตื่นตาตื่นใจ นั่นก็คือการเปิดตัวพร้อมๆ กันของละครไตรภาค The Coast of Utopia ซึ่งประกอบไปด้วยละครสามเรื่องคือ Voyage Shipwreck และ Salvage ข้อย้ำอีกทีว่าละครสามเรื่องนี้ถูกนำมาเล่น “พร้อมๆ กัน” และทั้งหมดเป็นละครที่สตอพพาร์ดเขียนขึ้นใหม่ “พร้อมๆ กัน” ไม่ได้ทยอยๆ เขียน ทยอยๆ ออกเหมือนไตรภาคส่วนใหญ่ ถ้าจะบอกว่านี่คือมหาละครเรื่องยาวที่ต้องเสียเงินสามรอบเข้าไปดูก็ย่อมได้

ต้องตบมือให้กับความมักใหญ่ใฝ่สูงของโครงการณ์นี้ และถ้าประสบความสำเร็จขึ้นมา ก็ต้องถือว่าเป็นการปฏิวัติวงการละคร (รู้สึกว่าบางภาคของมันจะได้รางวัลเอมมีด้วย) แต่ยิ่งกว่าน่าชื่นชมก็คือน่าอิจฉา คงมีแต่นักเขียนบทละครระดับหัวแถวอย่างสตอพพาร์ดเท่านั้น จู่ๆ ถึงจะได้มีละครของตัวเองสามเรื่องลงเล่นในบรอดเวย์พร้อมกันได้ และก็คงมีแต่ในอเมริกาและอังกฤษ ประเทศที่มีพื้นฐานการละครอันเฟื่องฟูเท่านั้น นายทุนถึงจะกล้าทำแบบนี้

แต่ถ้าถามว่าคุณภาพของบทละครจริงๆ ไปกันได้ไหมกับความมักใหญ่ใฝ่สูง เราคงตอบได้แค่ “เอ๋…” แล้วก็ยักคิ้วนิดหนึ่ง จากสามเรื่อง ชอบสุดคือ Voyage ซึ่งแม้จะเป็นบทละครอันเต็มไปด้วยข้อผิดพลาด เช่น ความกระจัดกระจาย แต่ด้วยโครงสร้างแน่นปึก สุดท้ายก็ยังชนะใจเรา รองลงมาคือ Salvage ซึ่งต่างกับอีกสองเรื่องที่เหลือ ตรงที่มีการไหลของเนื้อเรื่องและเหตุการณ์อย่างชัดเจน แต่เพราะมันเป็นเรื่องสุดท้าย อะไรเด่นๆ ดีๆ ถูกสองเรื่องแรกแย่งไปจนหมด ส่วน Shipwreck เป็นละครที่เละเทะมากๆ (ดูจากชื่อแล้วก็ไม่รู้ว่าเป็นความตั้งใจหรือเปล่า) ถ้าเอาแต่ละฉากมาสับๆ ๆ เหมือนสับไพ่ ก็เชื่อว่า ผลลัพท์ที่ได้คงจะไม่แตกต่างจากที่เป็นอยู่ตอนนี้นัก

ขอพูดถึงแค่ Voyage แล้วกัน จริงๆ นี่เป็นละครที่น่าสนใจมากๆ ครึ่งแรกของมันเหตุการณ์เกิดขึ้นในบ้านของครอบครัวชนชั้นสูงครอบครัวหนึ่งในรัสเซีย ลูกชายและลูกสาวของครอบครัวนี้ใฝ่ใจกับการเมือง และแนวคิดหัวก้าวหน้าซึ่งขณะนั้น (ปี 1830) กำลังระบาดอยู่ในยุโรป และลุกลามมาถึงรัสเซีย (ผิวเผินแล้วก็คล้ายๆ Buddenbrooks ของมานน์ที่ว่าด้วยการล่มสลายของครอบครัวชนชั้นสูง) เนื้อเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบดำเนินอยู่ในช่วงเวลาสิบปี โดยแต่ละฉากกระโดดข้ามทีละเดือนบ้าง ปีบ้าง สองปีบ้าง คนอ่าน (และดู) จะอ่านรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง จู่ๆ ก็จะมีการพาดพิงถึงเหตุการณ์ ตัวละคร หรืออะไรที่เราไม่เคยรู้มาก่อน

พอถึงครึ่งหลัง จู่ๆ เวทมนต์ก็บังเกิดขึ้น เมื่อละครย้อนกลับไปตั้งแต่ต้นปี 1830 อีกรอบ โดยคราวนี้เราได้เห็นเหตุการณ์ซึ่งอยู่ภายนอกบ้านหลังนั้น ได้พบกับตัวละคร เหตุการณ์ที่ถูกพาดพิงก่อนหน้า โครงสร้างละครแบบนี้เหมือนกับหวีที่สองส่วน (ระหว่างเนื้อหวีและความว่างเปล่า) แทรกซึม ส่งเสริมซึ่งกันและกัน เสียดายที่สตอพพาร์ดจงใจให้ครึ่งหลังกระจัดกระจายเกินไป

โดยรวมแล้วรู้สึกเสียดายกับโครงการณ์นี้ ถ้าตัด Shipwreck ออก แล้วกระจายเนื้อหาไปแผ่ให้อีกสองเรื่องที่เหลือ เราคงจะได้ละครดีๆ สองเรื่อง แต่ก็อย่างว่า ต่อให้มีละครดีๆ สองเรื่อง ก็ไม่ใช่ว่าจะช่วยวงการละครอันเงียบเหงาให้ฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ สู้ไตรภาคที่เป็น Talk of the Town! แบบนี้ เปรี้ยวเข็ดฟันกว่ากันเยอะ

1 comment:

Submarine said...

I'm a fan of Stoppard. The Coast of Utopia is so far his most ambitious play. It works on a dramatic level, but philosophically speaking (Stoppard is a philosophical type), something like Rock n' Roll, his last play, is much better written. Simpler, but more direct and more meaningful.

Nice blog. Will drop by again-- off to monitor Red shirt politics now.