I. Rosenfield's "The Strange, Familiar and Forgotten"
The Strange, Familiar and Forgotten เป็นตำราจิตวิทยาที่ว่าด้วยจิตในสำนึก จิตวิทยาสมัยใหม่ ตั้งแต่ยุคของฟรอยด์เป็นต้นมา ให้ความสำคัญกับจิตใต้สำนึกจนเกินไป โรเซนฟีลด์จึงพยายามวิเคราะห์องค์ประกอบของจิตในสำนึก โดยเน้นไปที่บทบาทของความทรงจำ ภาษา และอัตลักษณ์ จอห์น ลอค นักปรัชญาชาวอังกฤษ บอกว่ามนุษย์คือองค์รวมของประสบการณ์ที่ผ่านเข้าออกชีวิตเขา ดังนั้นจิต ทั้งในและใต้สำนึก ก็คือความทรงจำมาประกอบเข้าหากันนั่นเอง
แต่จิตไม่ใช่องค์ประกอบอันหยุดนิ่ง สามารถแบ่งเป็นส่วนๆ แล้ว เอามาเขียนเป็นแผนที่สมองได้ จิตคือสิ่งที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา (ความคิดตรงนี้คล้ายคลึงกับในทางพุทธศาสนา คุณกุหลาบก็เคยเขียนถึงอะไรทำนองนี้ใน อุดมธรรม ขณะเดียวกันก็มีส่วนคล้ายคลึงกับปริทรรศของความต่อเนื่องที่อองรี เบิร์สัน นักปรัชญารางวัลโนเบลวิเคราะห์เอาไว้) จิตคือโครงสร้าง คือปฏิสัมพัทธ์ระหว่างหน่วยความทรงจำ ดังนั้นถ้ามีความทรงจำตัวหนึ่งหายไป มันจะไม่ใช่แค่ว่าเราจำสิ่งนั้นไม่ได้ แต่รูโหว่ของความทรงจำจะส่งผลไปยังจิตทุกส่วน
ตัวอย่างที่โรเซนฟีลด์ยกมาเป็นกรณีผู้ป่วยด้วยอาการทางสมองชนิดต่างๆ ผู้ป่วยที่สูญเสียความสามารถในการจำแนกสีแดง ไม่ใช่เพียงแค่จะมองสีแดงไม่เห็นเท่านั้น แต่พอถูกบังคับให้ทำกิจกรรมอะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับสีแดง ถ้าไม่แสดงอาการหงุดหงิด อารมณ์เสีย ก็จะเหมือนไม่ได้ยินคำสั่งหมอไปเสียอย่างนั้น ผู้ป่วยที่ “หลงลืม” แขนซ้ายของตัวเอง ถ้าถูกสั่งให้ยกแขนซ้าย จะไม่เข้าใจว่า “แขนซ้าย” หมายถึงอะไร ตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นว่าไม่ใช่ความทรงจำของแขนซ้ายเท่านั้นที่หายไป แต่มันส่งผลไปถึงจิต ความคิด และกลไกทางสมองอื่นๆ ด้วย
โรเซนฟีลด์ให้เหตุผลว่าความเข้าใจ รับรู้โลกภายนอกของมนุษย์จะถูกเปรียบเทียบกับอัตตาของตัวเองเสมอ ผู้ป่วยที่สูญเสียอัตตา ไม่สามารถโยงใยความสัมพันธ์ระหว่างโลกภายนอกและภายใน ก็จะสูญเสียความสามารถในการจำแนกตำแหน่ง และเวลาไปด้วย พูดกันอย่างขำๆ คือเลโอนาร์ดพระเอกเรื่อง Memento ไม่มีทางจะออกมาล่าคนร้ายที่สังหารภรรยาตัวเองได้อย่างในหนัง เพราะเอาเข้าจริง การสูญเสียความทรงจำระยะสั้นก็คือการสูญเสียความสามารถในการบ่งชี้เวลานั่นเอง
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
1 comment:
Post a Comment