รัฐกับศาสนา (พิพัฒน์ พสุธารชาติ)
คืนก่อนหลังจากเขียนบลอค 10 อันดับนักวิชาการในดวงใจ เสร็จ ระหว่างที่ปิดคอมพิวเตอร์ ก็กะไว้แล้วว่าต้องลืมใครสักคนไปแน่ๆ ทันทีที่หัวกระแทกหมอน ก็อุทานออกมาเลยว่า “ฉิบเผง! ลืมอาจารย์พิพัฒน์ไปได้อย่างไรหนอ”
ตอนที่เขียนถึงหนังสือของอาจารย์ไชยรัตน์ เราเคยกล่าวไว้ว่า เหตุการณ์รัฐประหารในปี 2549 และความขัดแย้งทางการเมืองบวกลบหนึ่งปีจากวันนั้น คือปรากฏการณ์อันผลิกโฉมหน้าสังคมไทย ขนาดที่ว่าหนังสือสังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์เล่มใดก็ตามที่เขียน ตีพิมพ์ ก่อนหน้าปี 2549 ให้อ่านโดยหารสอง หารสามไว้ก่อนเลย แต่ถ้าจะมียกเว้นก็คงเป็น รัฐกับศาสนา ของอาจารย์พิพัฒน์ หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ในปี 2545 แต่เป็นตำรามหัศจรรย์ที่อ่านแล้วชวนขนลุกเพราะมันทำนายเหตุการณ์ล่วงหน้าในอีกสาม สี่ ห้าปีให้หลังได้อย่างตรงเผง
อาจารย์พิพัฒน์วิเคราะห์วิธีศึกษาประวัติศาสตร์ไทยในเชิงการเมืองว่ามีอยู่สองแนวทาง สายแรกคือสายตะวันตก ซึ่งได้อิทธิพลมาจากการเรียนการสอนรัฐศาสตร์ตามแบบฉบับทฤษฎีเมืองนอก คนที่ยึดถือสายนี้ก็คือ “นักวิชาการหัวนอก” ที่อาจารย์สุจิตต์เคยกระทบกระทั่งว่าชอบ “ขากถุยเสมหะที่เรียกว่าวิชาการ” สายที่สองคือสายประเพณี ประเด็นหลักของสายนี้คือพิสูจน์ว่าประชาธิปไตยนั้นมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ ตั้งแต่ยุคพ่อขุน ยุคสุโขทัยแล้ว ถ้าบ้านเมืองจะเสื่อมลงจากวันนั้น ก็เป็นเพราะอิทธิพลอันชั่วร้ายของเขมร และตะวันตกที่เข้ามาในภายหลัง (เพื่อเป็นการเปรียบเทียบ นักวิชาการสายตะวันตก อย่างจิตร ภูมิศักดิ์พยายามพิสูจน์ว่าจริงๆ แล้วตั้งแต่สมัยสุโขทัย ประเทศไทยก็มีไพร่ มีทาสมาก่อน ไม่ได้ค้าขายเป็นอิสระเสรีเหมือนอย่าง “โฆษณาชวนเชื่อ” ของศิลาจารึกแต่อย่างใด)
จุดที่น่าขนลุกสำหรับเรามากๆ คือ ความเหมือนกันอย่างบังเอิญ (หรือเปล่า) ระหว่างแนวคิดประวัติศาสตร์สายประเพณี และหลายอุดมการณ์ของกลุ่มพันธมิตรประชาธิปไตย ยกตัวอย่างเช่น นักวิชาการสายประเพณีจะชอบพูดว่าสังคมไทยสมัยก่อนนั้น นอกจากกษัตริย์แล้ว ที่เหลือมีความเท่าเทียมกันหมด ถ้าจะมีแบ่งชนชั้น ก็แบ่งแค่ กลุ่มที่จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และกลุ่มที่กระด้างกระเดื่อง ซึ่งสะท้อนออกมาเป็น “ความพยายาม” ของพันธมิตรที่จะคอยชี้หน้าอยู่ตลอดเวลาว่าใครบ้างไม่จงรักภักดี หรืออย่างคำว่า “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ ” ซึ่งเราได้ยินกันหนาหู เราก็เพิ่งรู้ว่ามันเป็นศัพท์ที่ถูกบัญญัติมาตั้งนานแล้ว เพราะใน รัฐกับศาสนา อาจารย์พิพัฒน์ก็เรียกประชาธิปไตยของนักประวัติศาสตร์สายประเพณีว่า “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ ” นั่นเอง
รัฐกับศาสนา ช่วยอธิบายปรากฏการณ์หนึ่งซึ่งน่าพิศวงสำหรับเราเสมอมา นั่นคือทำไม “การเมืองใหม่” ของพันธมิตรถึงขายดิบขายดีและทรงพลังนักในสังคมไทย สาเหตุก็เพราะมันอิงอยู่บนรากฐานความเชื่อบางอย่างที่แพร่หลายในสังคมอยู่แล้วนั่นเอง อาจจะกล่าวได้ว่าวิกฤติการเมืองในปัจจุบันคือการตอบโต้อย่างเป็นจริงเป็นจังระหว่างปรัชญาประวัติศาสตร์การเมืองสายประเพณีและสายตะวันตกชนิดที่ไม่เคยมีมาก่อน
พูดมาตั้งเยอะ ยังไม่เกี่ยวอะไรกับ “ศาสนา” ในชื่อเล่มเลย เป้าประสงค์หลักของอาจารย์พิพัฒน์ก็คือการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลในอดีตและนโยบายทางศาสนา เป็นเป้าประสงค์น่าชื่นชม ตัวเราเองทุกครั้งที่อ่านนิยายของเอโค หรือนิยายที่มีฉากอยู่ในยุคกลาง ได้เห็นบาทหลวง สันตะปาปา พระราชา และขุนนางจิกกัด แย่งชิงอำนาจกันอย่างสำราญ ก็อดน้อยใจไม่ได้ว่าทำไมประวัติศาสตร์ไทยไม่มีแบบนี้บ้าง(วะ) ความพยายามของอาจารย์พิพัฒน์ส่วนหนึ่งก็คือการคืนมิติทางอำนาจของศาสนาให้กับประวัติศาสตร์การเมือง
แต่เป็นความพยายามที่ (เราเองก็เสียดาย) ยังไม่ค่อยประสบความสำเร็จนัก ส่วนหนึ่งก็เพราะอย่างที่อาจารย์บอก ในอดีต ศาสนาและวัดไทยอิงอยู่กับท้องถิ่นมากกว่าส่วนกลาง จึงไม่ค่อยมีบทบาทอะไรนักกับการเมือง “ระดับประเทศ” (แต่อันนี้เราก็แอบสงสัยว่า “ประเทศ” ในอดีตนั้นก็แค่ท้องถิ่นหลายๆ ท้องถิ่นมารวมตัวกันเฉยๆ ไม่ใช่หรือ ถ้าวัดมีอิทธิพลระดับท้องถิ่น ก็หมายความว่าวัดเองก็น่าจะมีบทบาททางการเมืองอยู่ไม่น้อย) กว่าจะมาถึงยุคที่ศูนย์กลางรวมอำนาจเบ็ดเสร็จได้ วัดก็กลายเป็นแค่เครื่องมืออุดมการณ์อย่างหนึ่งของรัฐไปเรียบร้อยแล้ว
จะอย่างไรก็ตาม นี่เป็นหนังสือสังคมศาสตร์อีกเล่มที่สุดยอดมากๆ ถ้าให้ใส่ชื่ออาจารย์พิพัฒน์ลงในสิบอันดับนักวิชาการ รับรองว่าคงได้อยู่คู่คี่กันกับอาจารย์ไชยรัตน์ (แม้จะเสียดายอาจารย์อภิชาตเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะหลังจากบทอาเศียรวาท)
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
2 comments:
replica bags aaa replica bags in london 9a replica bags
replica designer bags p06 d8l47z9f44 cheap designer bags replica e93 h8r95d8z71 Louis Vuitton replica Bags t21 w6t28j6i53
Post a Comment