เดาะลูกเชย (ตอนที่ 2)

เดาะลูกเชยแบบเควนติน ตารันติโน: การรื้อสร้างความเชย

ข้อนี้ไม่ใช่การเล่นกับความเชย แต่เป็นการสร้างความไม่เชยจากความเชย ตารันติโต ฮิชคอก และชยามาลานคือตัวอย่างคนทำหนังที่พลิกแพลงความเชยให้กลายเป็นความแปลกใหม่ ตั้งแต่ฉากเปิด Inglourious Basterds เต็มไปด้วยแก๊กเผ็ด มันส์ คันๆ ตลอดทั้งเรื่อง ตารันติโนเริ่มต้นด้วยการให้เราเห็นคุณลุงคนหนึ่งท่าทางกร้านโลกกำลังเก็บผ้า (เข้าใจว่าฉากนี้ลอกมุมกล้องมาจากเซอจิโอ เลโอเน) ทันใดนั้นคุณลุงก็สังเกตเห็นรถสีดำกำลังมุ่งตรงมาที่บ้านแก คนดูถูกบิวด์ให้เข้าใจไปเองว่าคุณลุงจะต้องเป็นพระเอก ก่อนตารันติโนจะมาเฉลยว่านอกจากแกจะเป็นแค่ตัวประกอบแล้ว ยังแอบติดขี้ขลาดหน่อยๆ ด้วย กลวิธีแบบนี้นักวิจารณ์วรรณกรรมบางสายในบ้านเราเรียกว่า “การตบหน้าคนดูฉาดใหญ่”

ในทางวรรณคดี ตัวอย่างที่ชัดเจนสุดคือ มัทนะพาธา ของล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว วรรณคดีช่วงต้นรัตนโกสินทร์เน้นการขับร้อง ร่ายรำ และคำคล้องจอง เนื้อหาจึงวนเวียนอยู่แต่กับเรื่องเดิมๆ มัทนะพาธา เล่นกับประเด็นความซ้ำซากและเหยียดเพศของวรรณคดีไทย โดยเอามารื้อสร้างจนเป็นบทละครที่ เมื่อพิจารณาจากยุคสมัย แปลกใหม่ที่สุดบทหนึ่ง

ตัวอย่างจากวรรณกรรมสมัยใหม่เช่น นอกจากคริสตีจะพึ่งพิงและพลิกแพลงความเชย ราชินีนิยายสืบสวนสอบสวนยังถนัดการรื้อสร้างความเชย เดาความคาดหวังของคนอ่านและพลิกแพลงนิยายจนคนอ่านจับฆาตกรไม่เคยถูก งานเพื่อชีวิตยุคใหม่ (เช่นผลงานของคุณกนกพงศ์ คุณจำลอง คุณทัศนาวดี) ก็พยายามรื้อสร้างความเชยเพื่อถีบตัวเองออกจากหล่มเพื่อชีวิต

เดาะลูกเชยแบบวิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง: การแอบอิงความเชย

การเดาะลูกเชยแบบสุดท้ายคือแบบที่เรานิยมสุด มันอยู่ระหว่างการโอบกอดและรื้อสร้างความเชย ผู้กำกับอย่างเจมส์ คาเมรอน หรือนักเขียนอย่างคุณงามพรรณเล่าเรื่องเชยๆ ด้วยความใสซื่อและเชื่อมั่นว่าเรื่องของฉันใหม่ ไม่เคยมีใครพูดถึงมาก่อน ดังนั้นคำวิจารณ์ว่า “เชย” จะแทงใจดำคนเหล่านี้ ในทางตรงกันข้าม ศิลปินที่แอบอิงความเชย นอกจากพวกเขาจะยินดีที่ถูกนำไปเปรียบเทียบกับผลงานเก่าๆ ซ้ำยังจะย้ำเตือนผู้เสพอยู่ตลอดเวลาว่า “นี่ไม่ใช่ของใหม่นะ มันเคยถูกทำมาแล้ว ฉันแค่เอามาสร้างใหม่เท่านั้น” ศิลปินกลุ่มนี้คือผู้ที่ภาคภูมิใจกับการบูชาครู

แต่การบูชาครูไม่ได้หมายถึงทำตามทุกขั้นตอนที่ครูเคยทำมาก่อน การแอบอิงความเชยมีบางอย่างคล้ายคลึงกับการรื้อสร้างความเชย ไม่ใช่การดักคอและตบหน้าคนดูฉาดใหญ่ แต่เป็นการหยิบเอาของที่อยู่ต่างบริบทมาใส่ในขนบเพื่อสร้างความย้อนแย้งและแง่มุมแปลกๆ ฟ้าทะลายโจร คือมหาอมตะภาพยนต์ที่แอบอิงความเชย จงใจเชยให้รู้ว่าเชย แต่ขณะเดียวกันก็เหยาะความผิดแผกบริบทลงไปน้อยๆ

นักเขียนไทยไม่ค่อยมีใคร “มือถึง” พอจะแอบอิงความเชย ส่วนนักเขียนฝรั่ง เช่น เอโค คัลวิโน หรือฆอเฆส แม้แต่กึ่งเรื่องสั้นชวนหัวของวูดดี อัลเลน หลายชิ้นก็เป็นการอ้างอิงต่างบริบทเพื่อให้ตัวสานส์น่าสนใจ งานเขียนลักษณะนี้จะรุ่มรวยอารมณ์ขันแบบพิสดารลุ่มลึกที่ยังหาสัมผัสได้ยากในแวดวงวรรณกรรมไทย

ความล่มจมของความเชย

พูดถึงการเดาะลูกเชยเป็นมามากแล้ว เราขอวิเคราะห์สั้นๆ ดูบ้างดีกว่าว่า ถ้าเดาะพลาดหรือเดาะผิด มันจะมีลักษณะยังไง ผลงานส่วนใหญ่ที่ “เชย” นั้นมักจะมีจุดร่วมกันอยู่อย่างหนึ่งคือ ผู้เขียนไม่ทันตระหนักว่าตัวเองกำลังเชย เช่น คนที่หน้าชื่นตาบานเขียนเรื่องสั้นเกี่ยวกับพนักงานบริษัทที่ตัดสินใจลาออกจากงานและปล่อยนกเลี้ยงในกรง ก่อนนกจะโดนแมวตะครุบ หรือเรื่องจำพวกคนรักจากไปต่างจังหวัด พอใกล้ตายก็ฝากให้บุรุษไปรษณีย์ส่งจดหมายมาหลอกอีกฝ่ายว่าตัวเองยังมีชีวิตอยู่ ถ้าผู้สร้างไม่ทันตระหนักว่า ไอ้พลอตเรื่องแบบนี้เขาทำกันมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าเหา (แล้วเฟ้ย!) ก็จะเผลอปล่อยความเชยออกมา

ก็น่าคิดอยู่เหมือนกันว่าแค่ “ตระหนัก” แล้วมันจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้หรือ ถ้าเป็นเจมส์ คาเมรอน ก็จะเก็บทุกรายละเอียดความเชยอย่างสมบูรณ์ ไม่มีข้อผิดตกบกพร่อง ถ้าเป็นลุค แบสซอง ก็จะ Razzle Dazzle คนดู ด้วยฉากร้องเล่นระบำที่ตระการตาจนไม่มีใครสนใจเนื้อเรื่อง ถ้าเป็นเอม ไนท์ ชยามาลานก็อาจพลิกผันด้วยการให้นกจับแมวกินแทน ถ้าเป็นวิศิษฏ์ ศาสนเที่ยงก็อาจสร้างเรื่องให้พระเอกเป็นร้อยตำรวจปลอมตัวไปสืบราชการลับ ระหว่างสืบหาเครือข่ายยาเสพติด ก็เอาเวลาว่างมานั่งเขียนจดหมายหาคนรักที่เขาต้องปิดบังความจริง

ทั้งหมดนี่ก็อยากแสดงให้เห็นว่าการทำอะไรเดิมๆ เอาเหล้าขวดเก่ามาเปิด ไม่ใช่ว่าจะต้องด้อยคุณค่าเสมอไป ถ้าระวังดีๆ แล้วไซร้ ลูกเชยนี่แหละคือเครื่องมือหากินอย่างหนึ่งของศิลปิน

2 comments:

จิรัด said...

ชอบมากบทวิเคราะห์นี้มาก เพราะตัวเองก็ติดตามความเชยอยู่ บางทีก็ตามไม่ทัน แต่ชอบอ่านงานเก่าๆ แล้วก็เห้นว่าน่าจะเอามาใช้อะไรได้ในงาน

อีกอย่างคือชอบวิธีคิดของคุณวิศิษฏ์ด้วย

“นี่ไม่ใช่ของใหม่นะ มันเคยถูกทำมาแล้ว ฉันแค่เอามาสร้างใหม่เท่านั้น” ศิลปินกลุ่มนี้คือผู้ที่ภาคภูมิใจกับการบูชาครู

Riverdale said...

"ถ้าเป็นลุค แบสซอง ก็จะ Razzle Dazzle คนดู ด้วยฉากร้องเล่นระบำที่ตระการตาจนไม่มีใครสนใจเนื้อเรื่อง" ==> หมายถึง แบซ เลอห์แมน (Moulin Rouge!) รึเปล่าครับ